Nescafe ตั้งเป้าเปิดร้านกาแฟ Nescafe Street Cafe ครบ 150 สาขาภายในสิ้นปี 2565 จากปัจจุบันมีราว 60 สาขา ชูจุดเด่นคุ้มค่าลงทุน-ราคาเครื่องดื่มแข่งขันได้ เตรียมเป็นร้านกาแฟหลักร้อยสาขารายล่าสุดของตลาด
Nescafe เน้นธุรกิจร้านกาแฟแฟรนไชส์
เครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า เปิดเผยว่า เนสท์เล่ โปรเฟสชั่นนัล เล็งเห็นถึงเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ทั้งวัยเรียน และวัยทำงาน ที่นิยามการดื่มกาแฟว่าเป็นมากกว่าการได้รับคาเฟอีนเพื่อช่วยให้ตื่นตัว แต่เป็นการบ่งบอกถึงตัวตน
ทำให้ปี 2565 จึงเปิดคัวแคมเปญ Lift Up A Good Spirit ปลุกทุกความรู้สึกดี ๆ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ Nescafe Street Cafe ร้านกาแฟแฟรนไชส์ของ เนสท์เล่ โปรเฟสชั่นนัล พร้อมตั้งเป้าเปิดร้านดังกล่าวเพิ่มเป็น 150 สาขาภายในสิ้นปี 2565 จากที่เริ่มธุรกิจเมื่อปลายปี 2563 จนปัจจุบันมีทั้งหมดราว 60 สาขา
นอกจากนี้ในแคมเปญดังกล่าว Nescafe Street Cafe ยังร่วมมือกับ อเล็ก เฟส นักออกแบบชื่อดังของไทยเพื่อพัฒนาสินค้าคอลเลกชันพิเศษประกอบด้วยแก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ และกระเป๋าผ้าแคนวาส รวมถึงกิจกรรมพิเศษในบางสาขาของร้านเช่นกัน
เจาะลึก Nescafe Street Cafe
สำหรับ Nescafe Street Cafe รูปแบบร้านให้ผู้สนใจร่วมทำแฟรนไชส์ 3 แบบคือ หน้าร้านเคาเตอร์ขนาดเล็ก, หน้าร้านขนาดห้องแถว และหน้าร้านแบบ Stand Alone ไม่มีการเก็บค่า GP รายเดือนจากยอดขาย และมีค่าธรรมเนียมรายปี 45,000 บาท สัญญา 3 ปี เงินลงทุนเริ่มต้นหลักแสนบาท
ส่วนเมนูในร้านจะประกอบด้วยเมนูเครื่องดื่มมากกว่า 30 เมนู พร้อมเมนูเบเกอรี่ต่าง ๆ ถือเป็นการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดร้านกาแฟแฟรนไชส์ที่ปัจจุบันมีหลากหลายแบรนด์ เช่น Cafe Amazon ของ OR เป็นต้น นอกจากนี้ยังแข่งขันกับร้านกาแฟเชนชั้นนำที่แบรนด์บริหารเอง เช่น Starbucks และ True Coffee เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากดูตำแหน่งแบรนด์ของ Nescafe Street Cafe จะอยู่ในระดับเดียวกับ Cafe Amazon หากดูในแง่ราคาเครื่องดื่ม และอาหาร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจูงใจนักลงทุน และลูกค้า แต่ด้วยการเป็นแบรนด์ในเครือ Nescafe ที่แข็งแกร่งในระดับโลก อาจเป็นแต้มต่อของการขาย และจูงใจลูกค้าเช่นกัน
ตลาดร้านกาแฟหลายหมื่นล้านที่แข่งดุ
ก่อนหน้านี้ Nescafe เคยให้ข้อมูลตลาดกาแฟในประเทศไทย ว่า มีมูลค่าตลาดราว 64,000 ล้านบาทในปี 2563 แบ่งเป็นตลาดกาแฟรับประทานในบ้าน 38,000 ล้านบาท และตลาดกาแฟนอกบ้านราว 26,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มร้านกาแฟอยู่ในมูลค่ากลุ่มหลัง
แม้ตลาดกาแฟนอกบ้านชะลอตัวลงบ้างในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด แต่ด้วยผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันปกติมากขึ้น ทำให้ร้านกาแฟต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการกันอย่างคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้ร้านต่าง ๆ ยังเริ่มให้บริการเดลิเวอรีเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่บ้านเช่นกัน
อย่างไรก็ตามตัวธุรกิจร้านกาแฟยังต้องปรับตัวตามกระแสที่ผู้บริโภคเริ่มมองว่าร้านกาแฟเป็นมากกว่าแค่ร้านกาแฟ เช่น สามารถเข้าไปใช้บริการ และทำงานไปพร้อมกันได้, มีพื้นที่ให้ถ่ายภาพ รวมถึงเครื่องดื่มที่ต้องแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ถือเป็นอีกความท้าทายในการทำธุรกิจร้านกาแฟในยุคหลังโรคโควิด-19
สรุป
Nescafe เริ่มลงมาเล่นตลาดร้านกาแฟจริงจังมากขึ้น จากเดิมที่เน้นหนักอยู่แค่ฝั่งกาแฟดื่มในบ้าน และการจำหน่ายตรงไปที่ร้านค้าต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อ Nescafe จริงจัง แบรนด์อื่น ๆ ก็ต้องอ่านหมากให้ออกเพื่อรับมือการเร่งขยายสาขาหลักร้อยครั้งนี้ เพราะไม่อย่างนั้นอาจมีร้านกาแฟเชนบางรายอาจต้องหายไปจากตลาดก็เป็นได้
อ้างอิง // Nescafe
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา