ปีที่ผ่านมา E-Sport ถูกพูดถึงมากขึ้น เพราะเริ่มมีการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ยิ่งมีการจัดตั้งสมาคมก็ยิ่งถูกจับตามอง แล้วทิศทาง E-Sport ไทยหลังจากนี้จะไปทางไหน ลองมาฟังความเห็นจากผู้คลุกคลีในวงการกัน
10 กว่าล้านบาทกับการสร้างทีม
Neolution E-Sport ของกลุ่ม Neolution ถือเป็นอีกทีมแข่งกัน E-Sport แรกๆ ของประเทศไทย เพราะก่อตั้งมานาน 7-8 ปี หรือตั้งแต่ช่วงที่ E-Sport ยังไม่บูมเหมือนตอนนี้ ซึ่งช่วงแรกก็เหมือนทำเพื่อช่วยสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก แต่ปัจจุบันมันเริ่มหารายได้จากตัวเองได้มากขึ้น เพราะตลาดนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
เสถียร บุญมานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอลูชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เสริมไอที เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วตอนนี้เงินสะพัดในการแข่งขัน E-Sport ของประเทศไทยยังน้อยกว่ามูลค่าตลาดอุปกรณ์เกม (คีย์บอร์ด, เมาส์, หูฟัง และแผ่นรองเมาส์ระดับ Gaming) ที่มีมูลค่าในปี 2560 อยู่ราว 700 ล้านบาท
“E-Sport ในประเทศไทยบูมจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินสะพัดมากมายขนาดนั้น ต้องยอมรับว่ายังเป็นกีฬาของกลุ่มคนเล็กๆ อยู่ ซึ่งผมเองก็อยู่ในตลาดนี้มานาน ลงทุนสร้างทีมกีฬา E-Sport ของตัวเองกว่า 10 ล้านบาทในเวลา 7-8 ปี ก็เพิ่งเห็นว่าตลาดนี้เพิ่งคึกคักเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะเริ่มมีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้น”
ทุนใหญ่ยอมจ่ายเพื่อสร้างแบรนด์
ปัจจุบันมีกลุ่มทุนใหญ่ที่เอ่ยชื่อไปก็เป็นที่รู้จักเข้ามาในอุตสาหกรรม E-Sport อย่างชัดเจน บางรายถึงกับทุ่มเงินหลัก 100 ล้านบาท พร้อมยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ผ่านการดึงนักกีฬาชื่อดังเข้ามาด้วยค่าเหนื่อยที่สูงกว่า เพราะเห็นว่าในอนาคตจะได้กำไรจากสปอนเซอร์ และโฆษณาต่างๆ ตามกลับมา
“ช่วงแรกผมมองว่า E-Sport คือ Disruption เล็กๆ ของ Sport ทั้งหมด แต่ตอนนี้หลายคนก็เริ่มมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และกลายเป็นการลงทุนในรูปแบบ Stratup คือการใส่เงินก้อนใหญ่เข้ามาเพื่อเร่งโต และพร้อมเบิร์นเงินลงทุนไปก่อน ซึ่งในต่างประเทศก็เริ่มมีการลงทุนในลักษณะนี้แล้ว เช่นทีม Cloud9 ได้เงินลงทุน 60 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตามการลงทุนแบบนี้ทำให้เกิดภาวะค่าเหนื่อยเฟ้อขึ้นอย่างมาก เพราะทุนใหญ่ก็จะใช้เงินค่าเหนื่อยที่สูงแบบไม่เคยมีมาก่อนในไทย เพื่อดึงตัวนักกีฬาเก่งๆ จากทีมอื่น จนทีมเล็กเกิดยาก ยิ่งกว่านั้นคือเงินเดือนที่เฟ้อขึ้น มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินรางวัลของการแข่งขันที่จัดขึ้นในไทย จึงไม่แปลกที่การลงทุนในตอนนี้คือต้องยอมขาดทุน
สมาคมคืออีกความหวังในการกำกับ
สำหรับเงินเดือนของนักกีฬา E-Sport เฉพาะในประเทศไทยเมื่อ 7-8 ปีก่อนอยู่ราวหลักพันบาท ถัดมาเมื่อ 1-2 ปีก่อนเริ่มขยับขึ้นมาเป็น 10,000 บาทต้นๆ แต่ช่วงนี้บางคนที่เก่งๆ ก็พุ่งไปที่ 30,000-50,000 บาท แต่เงินรางวัลสูงๆ ในประเทศไทยอย่างน้อยก็แค่หลักแสน กลายเป็นว่าการมี “สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย” ก็ควรลงมากำกับเรื่องนี้ด้วย
“สมาคมคืออีกความหวังที่ทำให้ E-Sport ในไทยเข้ารูปเข้ารอยกว่านี้ เหมือนกับจีน และเกาหลีใต้ที่ต่างก็มี Regulator ชัดเจน เพื่อทำให้การแข่งขันในประเทศมันแฟร์ที่สุด เช่นเรื่องการย้ายทีมของนักกีฬาเป็นต้น ส่วนเรื่องการจัดการแข่งขัน หรือการดึงสปอนเซอร์เข้ามาในอุตสาหกรรม แต่ละทีมก็ค่อนข้างมืออาชีพอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ตัวรายได้ของนักกีฬา E-Sport ภายใน 2 ปี น่าจะเทียบเท่ากับนักกีฬาอาชีพของบาสเก็ตบอล และวอลเล่ย์บอล แต่คงไม่เท่ากับฟุตบอล เพราะนอกจากเรื่องกลุ่มทุนที่เข้ามาตั้งทีม E-Sport แล้ว แบรนด์สินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอที ก็ยอมจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนมากกว่าเดิม ประกอบกับจำนวนคนดูที่แพร่หลายเช่นเดียวกัน
สรุป
ปัจจุบันทีม E-Sport ใหญ่ๆ ในไทยมีประมาณ 4-5 ทีม เช่น ALPHA, MiTH และ Signature ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีการลงทุนที่สูง และหาได้ยากที่จะกำไร แต่ด้วยทิศทางของ E-Sport ที่กำลังทะยานขึ้น ทำให้หากมีเงิน และมีแผนทำตลาดที่ชัดเจน โอกาสการทำกำไรในอุตสาหกรรมนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายมากนัก
และล่าสุดทางกลุ่ม Neolution เตรียมทำทีม E-Sport ร่วมกับทีมฟุตบอล Bangkok Glass F.C. เพื่อส่งเข้าแข่งขันในเกม Fifa ถือเป็นครั้งแรกของไทย และอาเซียนที่มีการจัดตั้งทีม E-Sport ร่วมกับทีมกีฬาจริงๆ เหมือนกับที่ทีมฟุตบอล Paris Saint-Germain ทำทีม E-Sport มาแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา