ประเด็นสำคัญที่ กสทช. ต้องทบทวน ก่อนจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 / 1800 ในปีหน้า

ทำไมช่วงนี้เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 / 1800MHz ถึงถูกพูดถึงมากขึ้น มีประเด็นอะไรที่จำเป็นต้องรู้ มีผลกระทบอะไรที่อาจจะเกิดขึ้น ยิ่งอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชุดใหม่ด้วย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ได้เปิดเวทีเสวนาโต๊ะกลม เพื่อหารือในเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปดังนี้

ราคาเริ่มต้นประมูลสูงเกินไปหรือไม่

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. บอกว่า ควรมีการศึกษาราคาเริ่มต้นการประมูลใหม่เพื่อหาราคาที่เหมาะสม ดูง่ายๆ ว่าจากราคาสูงระดับ 4 หมื่นล้านบาทในการประมูลครั้งที่แล้วมีคนทิ้งใบอนุญาต วันนี้ผู้ชนะประมูลมาขอผ่อนชำระค่างวด และนี่คือราคาเริ่มประมูลที่สูงที่สุดในโลก แสดงถึงความไม่ปกติ

ในการประมูลคลื่นความถี่ทุกครั้งก่อนหน้านี้ ทั้ง 2100, 900 และ 1800 ใช้ราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 100% ของราคาที่ศึกษามา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน แต่ครั้งนี้ใช้ราคา 100% จากราคาสุดท้ายครั้งที่แล้วโดยไม่มีการศึกษา เท่ากับไม่ส่งเสริมการแข่งขันในการประมูล

สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า หลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ จุดประสงค์หลักคือการหาเงินเข้ารัฐ แต่ต้องไม่ลืมว่าประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ไม่ได้มีแค่เรื่องเงินอย่างเดียว การลดจำนวนเงินลงน่าจะเพิ่มประโยชน์มิติอื่นๆ ได้มากกว่า และต้องไม่ลืมว่า การใช้ราคาสุดท้ายครั้งที่แล้วมาเป็นราคาตั้ง จะส่งผลให้คลื่นความถี่ราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

นิตยา สุนทรสิริพงศ์ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม บอกว่า การประมูลไม่ควรสะดุด และไม่จำเป็นต้องรอ กสทช. ชุดใหม่ ชุดปัจจุบันสามารถศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์ได้เลย เพื่อประโยชน์สำหรับประเทศ บทบาทของ กสทช. คือคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขัน การตั้งราคาเริ่มต้นสูง เป็นการลดทอนการแข่งขัน และจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การผูกขาด จำกัดผู้เข้าร่วมประมูล

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.

N-1 ดึงคลื่นเก่าออกจากตลาด กระทบการให้บริการ

นพ.ประวิทย์ บอกว่า สูตร N-1 คือ นำคลื่นความถี่มาประมูลน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วม จะทำให้คลื่นที่ใช้งานในตลาดหายไป ในอดีตประมูล 2100 แบ่งคลื่นเป็น 3x15MHz เท่ากับจำนวนผู้เข้าประมูลแปลว่าไม่ใช่สูตร N-1 แม้จะไม่มีการแข่งขันประมูล แต่เป็นการเพิ่มคลื่นใหม่เข้าไปในตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมาก

แต่คลื่น 1800 จำนวน 45MHz แบ่งเป็น 3x15MHz แต่ใช้สูตร N-1 และกำหนดราคาเริ่มไว้สูงจึงเป็นการจำกัดผู้เข้าประมูล และถ้า เอไอเอส, ดีแทค, ทรูมูฟ เข้าร่วมครบ 3 ราย ก็จะมีคลื่น 15MHz ถูกดึงออกจากตลาดอยู่ดี และหาก เอไอเอส,ทรูมูฟ ซึ่งมีคลื่นมากพอแล้วไม่เข้าประมูล แปลว่าจะมีดีแทครายเดียวที่ได้คลื่นไปเพียง 1x15MHz ทำให้คลื่น 1800 จะหายออกจากตลาด 2x15MHz ซึ่งความจริงเวลานี้ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่นำคลื่นมาใช้ประโยชน์น้อยที่สุดในโลกอยู่แล้ว

สืบศักดิ์ บอกว่า ขณะที่การใช้สูตร N-1 อาจหาทางแก้โดยการให้มีบริษัทนอร์มินีมาร่วมประมูล แต่สุดท้ายด้วยมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาทจะมีใครที่ต้องการคลื่นพร้อมภาระหนัก ดังนั้น กสทช. ไม่ควรใช้สูตรนี้ ยิ่งตามการศึกษาของ ITU เมื่อปี 2014 แนะว่า ไทยควรนำคลื่นออกมาใช้เพิ่ม ควรมีจัดสรรคลื่น 2300 และ 2600 ในปี 2016 แต่นี่จะปี 2018 แล้วยังไม่มีการจัดสรร และอาจจะดึงคลื่นออกจากตลาดด้วย

สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นิตยา บอกว่า การจะพัฒนาต่อไป 5G จำเป็นต้องมีคลื่นปริมาณมากพอ แต่ กสทช. กำลังจะดึงคลื่นออกจากตลาด ยิ่งพิจารณาแล้วว่า เอไอเอส, ทรูมูฟ มาขอผ่อนชำระเงินงวดประมูลครั้งที่แล้ว และยิ่งมีคลื่นเพียงพอ จึงเป็นไปได้ว่าอาจไม่เข้าประมูล เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระอีก 4 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลใช้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ใช้เทคโนโลยีพัฒนาประเทศ ซึ่งคลื่นความถี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ แต่สูตร N-1 กำลังจะดึงคลื่นออกจากตลาด เท่ากับว่าเทคโนโลยีของไทยจะช้ามากและขัดกับนโยบายพัฒนาประเทศ

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ไทยมองแต่การแข่งขันในการประมูล แต่ไม่มองการแข่งขันหลังการประมูล การเน้นที่เงินที่รัฐจะได้รับ ใช้สูตร N-1 เพื่อลดปริมาณคลื่น สุดท้ายจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในตลาด และการแข่งขันเพื่อให้บริการในตลาดจะน้อยลง เสี่ยงเกิดการผูกขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ต้องการให้เกิด

นิตยา สุนทรสิริพงศ์ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม

แผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) สิ่งสำคัญที่ไทยไม่มี

นพ.ประวิทย์ บอกว่า กสทช. จัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่แต่ไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ส่วนหนึ่งเพราะคลื่นจำนวนมากติดอยู่กับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานทหาร และ รัฐวิสาหกิจ

สืบศักดิ์ บอกว่า ถือเป็นจุดอ่อนอีกประการของไทย คือ ไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ระบุว่า 1 ปี 3 ปี 5 ปีข้างหน้าจะมีคลื่นอะไรจัดสรรออกมาบ้าง เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ที่จะไป 5G มีแผนล่วงหน้า เอกชนรู้หมดว่าจะมีคลื่นอะไรออกมาบ้าง ขณะที่ประเทศไทย แม้รู้ว่าสัญญาสัมปทาน หรือ ใบอนุญาตจะหมดอายุ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการประมูลหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กสทช.

พิสุทธิ์ บอกว่า การไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน เท่ากับความไม่โปร่งใส เพราะไม่รู้ว่าคลื่นใดจะถูกจัดสรรออกมา ทุกอย่างขึ้นกับหน่วยงานกำกับดูแลตัดสินใจ ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายจะมีการจัดสรรคลื่นหรือไม่ เมื่อไร อย่างไร

 

ถามว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยน่าลงทุนหรือไม่ จากรายงานผู้ถือหุ้นในปี 2015 ที่มีการประมูล 900 / 1800 พบว่า สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยจากต่างประเทศของ เอไอเอส ลดลงจาก 30% เหลือ 17% ส่วนดีแทคลดลงจาก 20% เหลือ 7% แปลว่าความไม่แน่นอนจากการประมูลมีผลต่อการลงทุน

ทั้งที่สภาพตลาดไทยดี มีคนใช้งานมือถือจำนวนมาก โดย 9 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ รายได้จากบริการทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เติบโตขึ้น 6.2%

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด

กสทช. ชุดใหม่ กับความเป็นอิสระและตรวจสอบได้

สุดท้าย กสทช. ชุดใหม่ จากเดิมเป็นองค์กรอิสระ จะเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้คณะกรรมการ DE ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ผู้ร่วมอภิปรายมีความเห็นว่า จริงๆ แล้ว กสทช. ควรเป็นองค์กรอิสระ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่มีหน่วยงานตรวจสอบที่รัดกุมชัดเจน ไม่ควรถูกควบคุมแต่ควรมีการถ่วงดุล

ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตที่มีการจัดประมูลมา 5 ครั้ง จะเห็นว่า การประมูล 2100 ครั้งแรกถูกล้ม, ครั้งที่ 2 แบ่งเค้กได้ครบทุกคน 3x15MHz, การประมูล 900 ล่วงหน้าถูกล้มโดย คสช., การประมูล 900 และ 1800 มีการปั่นราคา ทิ้งใบอนุญาต

สำหรับการประมูลครั้งต่อไป ถ้ามีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายขนาดนี้ กสทช. ทั้งชุดปัจจุบันและชุดใหม่ คงต้องทบทวนหลักเกณฑ์ต่างๆ ใหม่อีกครั้ง เพราะหากเกิดผลเสียต่อประเทศจริง กสทช. ก็อาจต้องเป็นคนรับผิดชอบ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา