กสทช. อนุมัติเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ให้ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.–18 ธ.ค. 2022 ให้คนไทยได้ดูผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ กสทช. จ่าย
ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย หรือ FIFA World Cup Final 2022 ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
“กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก อนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท (รวมภาษี และอากรอื่นใด) ให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์อย่างเสมอภาค”
การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็น 1 ใน 7 รายการที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)
ย้อนรอยการดำเนินการสุดล่าช้า
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า การสื่อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายมีมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท และมีการดำเนินการค่อนข้างล่าช้า หรืออีก 2 สัปดาห์การแข่งขันจะเริ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ออกมา แสดงให้เห็นถึงความไม่ตื่นตัวของการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก
เช่นเดียวกับฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศไทยมีการจัดซื้อลิขสิทธิ์ค่อนข้างล่าช้าเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายมี 9 องค์กรเอกชนรวมเงินกันซื้อลิขสิทธิ์ รวมถึงฟุตบอลยูโร 2020 ที่มีการจัดซื้อลิขสิทธิ์ล่าช้า จนสุดท้ายมีแบรนด์รองเท้า Aerosoft เป็นผู้ทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ก่อนการแข่งขันเริ่มเพียงไม่กี่วัน
กระแสฟุตบอลโลกที่เริ่มไม่ดีเหมือนก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสการทำตลาดผ่านฟุตบอลโลกในประเทศไทยไม่ดีเหมือนครั้งก่อนหน้าปี 2018 สังเกตจากความคึกคักของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่แทบไม่มีการนำฟุตบอลโลกมาช่วยสื่อสารแบรนด์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ยังไม่มีการโปรโมตการแข่งขันนี้มากนัก
สรุป
นับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2018 เป็นต้นมา การแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ล้วนถูกให้ความสำคัญน้อยลงทั้งผู้ชม และแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หรือมนต์ขลังของกีฬาฟุตบอลจะค่อย ๆ หายไป ผ่านการที่ผู้บริโภคมีสื่อความบันเทิงที่หลากหลายจนไม่จำเป็นต้องเฝ้ารอมหกรรมการแข่งขันเหมือนในอดีต
อ้างอิง // กสทช.
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา