3 ค่ายมือถือประสานเสียง ขอ กสทช. ทบทวนแนวทางดูแลค่าบริการมือถือ

aisdtactrue

เป็นประเด็นที่จบไม่ง่าย เมื่อ กสทช. มีมติเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ทั้ง 3 คือ 2100, 1800 และ 900 MHz โดยมีรายละเอียดโดยสรุปคือ

2100MHz             ค่าบริการเสียงไม่เกิน 0.82 บาท/นาที

ค่าบริการอินเทอร์เน็ต 0.28 บาท/MB

ค่าบริการ SMS ไม่เกิน 1.33 บาท/ข้อความ

ค่าบริการ MMS ไม่เกิน 3.32 บาท/ข้อความ

1800/900MHz      ค่าบริการเสียงไม่เกิน 0.69 บาท/นาที

ค่าบริการอินเทอร์เน็ต 0.26 บาท/MB

ค่าบริการ SMS ไม่เกิน 1.15 บาท/ข้อความ

ค่าบริการ MMS ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ

ค่าบริการทั้งหมดบังคับใช้ทั้งโปรโมชั่นหลัก ค่าบริการส่วนเกิน และโปรโมชั่นเสริม และผู้ให้บริการต้องระบุคลื่นความถี่ใช้ในการให้บริการ และต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที โดยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย โดยผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส, ดีแทค และทรูมูฟ เอช ได้แสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันดังนี้

07

ต่างประเทศปล่อยตามกลไกตลาด

ดีแทคมีความเห็น ว่า บริการโทรศัพท์มือถือในไทยมีการแข่งขันสูง มีการพัฒนารูปแบบแพ็คเกจต่างๆ ที่หลากหลายออกมาสู่ตลาดให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ตามความต้องการ ในประเทศอื่นๆ ที่มีระดับการแข่งขันเช่นเดียวกับประเทศไทยก็ไม่ได้มีการกำกับอัตราค่าบริการ โดยปล่อยให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเสรี เช่น ประเทศในกลุ่ม EU หรือแม้แต่ประเทศในแถบอาเซียน นอกจากนี้อัตราค่าบริการของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนจัดอยู่ในกลุ่มต่ำสุด

การควบคุมอัตราค่าบริการตามกฎเกณฑ์นี้จะเป็นการลดทอนการแข่งขันในการพัฒนาแพ็กเกจต่างๆ ออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย จะส่งผลให้ความหลากหลายของแพ็กเกจหายไป ดังนั้นอาจมีการกำหนดแพ็กเกจตามราคา กสทช เป็นแพ็กเกจทางเลือก โดยยังคงให้กลไกการแข่งขันเป็นตัวกำหนดความหลากหลายแพ็กเกจและอัตราที่เหมาะสม

11

ผู้บริโภคคือผู้กำหนดและตัดสินใจ

ด้าน เอไอเอส เห็นว่า ปัจจุบันสภาพการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันสูง ทุกฝ่ายแข่งขันโดยเน้นด้านคุณภาพการให้บริการและราคาซึ่งอาศัยกลไกตลาด และความต้องการในการใช้บริการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก การกำกับดูแลที่อาจส่งผลให้เกิดการแทรกแซงตลาดจะทำให้โครงสร้างอัตราค่าบริการถูกจำกัด จนอาจส่งผลเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค ท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ โดยปรับลดต้นทุนการให้บริการหรือปรับเทคโนโลยีให้ต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการหรือกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล

อีกทั้ง การแข่งขันในตลาดเน้นเรื่องคุณภาพและบริการ เน้นให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการจึงออกแบบเครือข่ายโดยนำคลื่นความถี่ทุกคลื่นที่ได้รับอนุญาตมาผสมผสานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นการกำกับดูแลควรให้สิทธิ์ผู้ใช้บริการได้เลือกโปรโมชั่นตามความต้องการ

12

ทบทวนมติ ป้องกันผลกระทบ

ขณะที่ ทรูมูฟ เอช มองว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกใช้บริการแพ็กเกจที่คุ้มค่าตามรูปแบบการใช้งานของตนเอง อาจไม่สอดคล้องต่อการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่งผลกระทบกับลูกค้าจำนวนมากทั้งแบบรายเดือนและเติมเงิน

นอกจากนี้ แนวทางของประเทศต่างๆ ที่มีการเปิดเสรีทางบริการโทรคมนาคม ไม่มีการบังคับให้ต้องมีการคิดค่าบริการเป็นวินาทีในทุกแพ็กเกจแต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการแข่งขัน ไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูง จึงอยากขอให้ กทค. และ กสทช. พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโดยรวม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา