เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังแห่งยุค เขายังเป็นนักเขียนบท
ถ้าใครที่ติดตามเส้นทางอาชีพของเต๋อ-นวพล จะพบว่า ผลงานของเขาคาบเกี่ยวระหว่างความเป็น “อินดี้” กับ “แมส” อยู่หลายครั้ง
ผลงานบางชิ้นของเต๋อ หลายคนดูแล้วบอกว่า “ไม่รู้เรื่อง” แต่ผลงานอีกจำนวนไม่น้อยก็สะกิดเข้าไปในใจ ทำให้ขำแบบ “หึๆ” เป็นมุกตลกในแบบของเต๋อ ไม่เหมือนใคร
- บทความสัมภาษณ์กึ่งบรรยายชิ้นนี้จึงจะชวนไปทำความรู้จักว่า คิดแบบเต๋อ เป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าสิ่งที่หลายคนอยากรู้คือ อะไรเป็นตรรกะเบื้องหลังความคิดของผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้ที่โลดแล่นอยู่ในวงการเพียง 5-6 ปี แต่ก็มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นเป็นอย่างมาก
การทำงาน : ถ้าคิดไม่ออก ให้ไปทำอย่างอื่น ไปเจอความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ถ้าคิดงานไม่ออกทำอย่างไรดี?
เต๋อ บอกว่า ถ้าคิดงานไม่ออก ให้ไปหาอย่างอื่นทำเลย เพราะมันคือการออกไปหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
“ใน 1 ชั่วโมงที่เท่ากัน ให้ออกไปเจออะไรใหม่ๆ มันคือความเป็นไปได้ใหม่ๆ จะไปนั่งรถไฟฟ้า หรือนั่งมองพ่อค้าขายพวงมาลัย ก็ดีกว่าการนั่งอยู่ที่เดิมเฉยๆ แล้วคิดไม่ออก”
เต๋อ ยังเล่าเรื่องการทำงานให้ฟังด้วยว่า เขาเป็นคนทำงานค่อนข้างช้า เพราะใช้เวลากับการคิดงานนาน เพราะไม่อยากให้ออกไปถ่ายทำแล้วรู้สึกนอยด์
งานโฆษณา 1 ชิ้นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง แต่ถ้าลูกค้าเร่งก็ทำให้ได้ในเวลาที่กระชั้นชิดกว่านั้น อย่างเช่นงาน K-Plus ที่ใช้เวลาประมาณ 23 วัน แต่ผลงานก็ออกมาดี
“งาน K-Plus ล่าสุดที่ออกไป เป็นงานที่เริ่มอยู่มือแล้ว หมายความว่า คนจำได้ว่ามันคือ product อะไร และคนดูก็จะรู้ว่าเป็นงานของเรา งานนี้มันเหมือนเป็นภาคต่อของ Patcha is sexy“
“ถ้าเราทำงานแบบนี้ได้เรื่อยๆ ถือว่าโชคดีมาก เพราะได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง แต่ก็ยังแมสได้ในระดับหนึ่ง”
แนวทางของตัวเอง : ราเม็งกับแรงบันดาลใจ
หลักคิดในการทำงานของเต๋อคือ ทำออกมาแล้วตัวเองต้องชอบ ส่วนคนดูจะคิดอย่างไร ห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงที่สุด งานที่ผลิตออกมาจำเป็นต้องตอบสนองคนจำนวนหนึ่งที่มีปริมาณมากพอ เพื่อที่จะได้ทำงานชิ้นอื่นๆ ต่อไปได้
“เรื่องงาน ถ้าสุดท้ายคุณไม่สามารถรู้ได้ว่าผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร ให้ผลิตงานที่ตัวเองรู้สึกโอเคมากที่สุด เพราะมันจะไม่รู้สึกผิดกับตัวเองทีหลัง อย่างเช่น Die Tomorrow ที่เป็นหนังยาว เราทำเอง ลงทุนเอง ระดมทุนเอง เราทำให้เต็มที่ สุดท้ายคนดูจะยังไง อันนี้ต้องแล้วแต่ แต่ตัวเองต้องชอบก่อน”
เต๋อ เปรียบเทียบวิธีการผลิตงานของตัวเองกับร้านราเม็งในญี่ปุ่น
“ผมได้แรงบันดาลใจมาจากร้านราเม็งในญี่ปุ่น มันจะมีร้านที่ไม่มีป้ายหน้าร้าน ตอนไปรอนี่ยังรู้สึกว่ามารอผิดที่หรือเปล่า เหมือนสำนักงานอะไรบางอย่าง แต่ว่าข้างหน้าร้านมีคนต่อคิวยาว พอเราเข้าไปกิน ได้คุยกับเจ้าของร้าน เขาบอกว่าเปิดมา 40 กว่าปีแล้ว ป้ายหน้าร้านมันหายไปตั้งแต่ปี 1 ปีที่ 2 แล้วก็ไม่ได้ซ่อม”
“เราเลยรู้สึกว่า เขาขายมาได้ 40 ปี มันคงโอเคระดับหนึ่ง เพราะการไม่มีป้ายหน้าร้านมันเสี่ยงต่อการเจ๊งมากเลย แต่ว่าถึงปีที่ 40 มันยังมีคนกินอยู่เรื่อยๆ คือเขาคงไม่ได้รวยมาก แต่เขาคงมีรายได้มากพอที่จะทำในสิ่งที่เขาชอบ”
“เราเลยรู้สึกว่า เราชอบแบบนี้เหมือนกันนะ คือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมากๆ มันอาจจะไม่ได้แมสขนาดนั้น แต่เราอยากเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ยังได้เป็นตัวเองอยู่”
อัพเดทสารคดี BNK ที่กำลังผลิต
เต๋อ ทิ้งท้ายการบรรยายกับเรื่องการถ่ายทำสารคดี BNK 48 โดยเล่าให้ฟังว่า สาวๆ BNK กับตัวของเขาเหมือนอยู่กันคนละขั้ว แต่ต้องมาทำงานร่วมกัน ถือเป็นความท้าทาย
“สิ่งที่ผมจะทำ มันออกมาทีหลังชาวบ้านเลย น้องๆ มีรายการทีวี มีไลฟ์สดอยู่เรื่อยๆ ตอนที่เพลงคุกกี้เสี่ยงทายดังมีบทสัมภาษณ์ให้อ่านทุกวันทุกวีค ทุกคนได้เห็นชีวิตน้องๆ มาเยอะอยู่แล้ว”
เต๋อ บอกด้วยว่า สารคดีเรื่องนี้ยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็น Mood & Tone แบบไหน ส่วนหนึ่งเพราะว่ารูปแบบของงานชิ้นนี้เป็นสารคดี จึงยังไม่ได้กำหนดทิศทางอะไรที่ชัดเจน แต่ก็ได้เปรยไว้ว่า
“ความยากอยู่ตรงที่ จะทำยังไงให้สนุก ทำยังไงไม่ให้โอตะด่าตอนฉายก็พอ อันนี้สำคัญมาก”
__________
*บทความนี้เรียบเรียงบางช่วงบางตอนมาจากการให้บรรยายของเต๋อ -นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ที่บริษัทวงใน (Wongnai) จากกิจกรรม WeShare เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2018
** ปล. เต๋อยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโปรเจ็กต์หนังสั้น My Marathon เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา