Nasdaq เสนอ ก.ล.ต.สหรัฐ ให้บริษัทเลือกให้หุ้นเทรดในตลาดไหนก็ได้ จาก 13 ตลาดในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ แม้ว่าหุ้นจะถูกนำขึ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใดก็ตาม ตัวหุ้นนั้นก็สามารถซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ทุกตลาดทั้ง 13 ตลาดในสหรัฐฯ เพื่อความสะดวกสบายในการซื้อขายหุ้น

ภาพจาก shutterstock.com

ล่าสุดบริษัท Nasdaq ผู้ให้บริการตลาดหลักทรัพย์เตรียมขอให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกกฎข้อนี้ เนื่องจากการใช้โมเดลซื้อขายแบบทุกตลาดหลักทรัพย์ จะเหมาะกับบริษัทที่มีวอลุ่มเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ฝั่งบริษัทที่มีวอลุ่มปริมาณน้อย ๆ ผลลัพธ์ก็จะเป็นตรงกันข้าม คือแทนที่จะทำให้การซื้อขายสะดวกสบายก็กลับเป็นความยุ่งยาก

Nasdaq จึงเสนอ SEC หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ ให้บริษัทที่มีหุ้นปริมาณน้อย ๆ สามารถขอเทรดบนตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียวได้ โดยมีการกำหนดด้วยว่าหุ้นที่ควรจะเข้าข่าย ควรจะมีคุณสมบัติดังนี้

  • มีมูลค่าตามราคาตลาดเริ่มต้นที่ 700 ล้านดอลลาร์หรือต่ำกว่า
  • มีมูลค่าตามราคาตลาดในการซื้อขายทั่วไปที่ 2 พันล้านดอลลาร์หรือต่ำกว่า
  • มีวอลุ่มการเทรดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1 แสนหุ้นหรือต่ำกว่า
  • มีราคาเสนอซื้อสูงกว่า 1 ดอลลาร์

ปัจจุบัน มีบริษัทที่หุ้นซื้อขายอยู่บนตลาด Nasdaq ถึง 789 แห่งที่มีมูลค่าตามราคาตลาดต่ำกว่า 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความเหมาะสมในด้านวอลุ่มการซื้อขายและราคาหุ้น ข้อดีของการเทรดในลักษณะดังกล่าว จะลดความซับซ้อนและเพิ่มเสถียรภาพของตลาด ส่วนโบรกเกอร์ก็สามารถหาราคาที่ถูกที่สุดมาเสนอลูกค้าได้ง่ายขึ้น และฝั่งตลาดหลักทรัพย์ก็สามารถให้เครื่องมือกระตุ้นทางการเงินหรือโมเดลทางการตลาดอย่างเช่นการประมวลเป็นช่วงเวลาซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายมากยิ่งขึ้น

ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯ​ ก็เคยมีแนวคิดลักษณะนี้มาแล้วเช่นกัน คือการอนุญาตให้บริษัทสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะให้หุ้นของบริษัทเทรดบนตลาดหลักทรัพย์ตลาดไหนบ้าง

อย่างไรก็ดี ในฝั่งประธานของบริษัท Cboe Global Markets ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการตลาดหลักทรัพย์คู่แข่งของ Nasdaq ได้เตือน ก.ล.ต. ว่าการกระทำในลักษณะนี้จะเป็นการสร้างการผูกขาดในการเทรดหุ้นบางตัว ซึ่งจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้น

นอกจากนี้การปรับตัวในลักษณะดังกล่าวยังเป็นการสร้าง single point of failure อีกด้วย เพราะปัจจุบันถ้าเกิดหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถเทรดในตลาดหลักทรัพย์หนึ่งได้ ก็ยังสามารถเทรดในตลาดอื่น ๆ ได้

ที่มา – Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ