Sport Marketing กับกรณี Naomi Osaka และการเลือกสนับสนุนฝั่งนักกีฬาของแบรนด์สินค้า

หลัง Naomi Osaka นักเทนนิสญี่ปุ่นมืออันดับ 2 ของโลก ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันระดับ Grand Slam เพราะปัญหาโรคซึมเศร้า จนถูกทีมผู้จัดลงโทษ แต่แบรนด์ผู้สนับสนุนของเธอกลับเห็นต่าง และออกมาปกป้อง

naomi osaka

Naomi Osaka กับปัญหาโรคซึมเศร้า

เรื่องทั้งหมดนี้เริ่มจากการที่ Naomi Osaka ชนะการแข่งขันรอบแรกในการแข่งขันระดับ Grand Slam รายการ French Open วันที่ 30 พ.ค. ด้วยสกอร์ 2 เซ็ตรวด และหลังจากจบการแข่งขัน ในรายการระดับ Grand Slam มีข้อบังคับว่า นักกีฬาต้องให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ยกเว้นกรณีบาดเจ็บจากการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม Naomi Osaka กลับเลือกปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ โดยให้เหุตผลว่าเธอมีอาการซีมเศร้า แต่นั่นก็ฟังไม่ขึ้น และทีมผู้จัด French Open ตัดสินใจลงโทษปรับเธอ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นเธอตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันเพื่อไปพักผ่อนให้หายจากอาการดังกล่าว

ที่น่าสนใจคือ Naomi Osaka มีอาการซึมเศร้าที่มีต้นเหตุจากความกดดันทั้งมุมการแข่งขัน, สังคมภายนอก และสื่อมวลชน ตั้งแต่ที่เธอชนะเลิศระดับ Grand Slam รายการ U.S. Open เมื่อปี 2018 นอกจากนี้เธอได้โพสต์ลงทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าจะขอหยุดให้สัมภาษณ์กับสื่อฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2021 และเธอก็ตัดสินใจทำมันจริง ๆ

แบรนด์สินค้าที่สนับสนุนออกมาให้ความเห็นใจ

ระหว่างที่ผู้จัดการแข่งขัน French Open รวมถึงคนที่ชื่นชอบเทนนิสกลุ่มหนึ่งแสดงความไม่พอใจที่เธอไม่มีสปิริตในการให้สัมภาษณ์สื่อ ฝั่งแบรนด์สินค้าที่สนับสนุน Naomi Osaka กลับเห็นใจ พร้อมส่งต่อข้อความสนับสนุนการกระทำของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นอกเห็นใจ หรือการต้องการให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเรื่องโรคซึมเศร้า

naomi osaka

เช่น Mastercard ที่ออกมากระตุ้นให้ทุกฝ่ายใส่ใจเรื่องนี้ และสนับสนุนให้ Naomi Osaka พูดอย่างเปิดเผยถึงประเด็นนี้ทั้งใน และนอกสนาม ส่วน Nike ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า บริษัทชื่นชมที่เธอกล้าหาญที่จะพูดถึงปัญหานี้อย่างเปิดเผย รวมถึง Nissin และ TAG Heuer แบรนด์ผู้สนับสนุนเธอออกมาพูดในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ผู้สนับสนุนรายการแข่งขัน French Open ทั้ง Rolex, Engie และ Infosys ต่างนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าแบรนด์เหล่านี้จะออกท่าทีอะไรออกมาหรือไม่ เพราะล่าสุดทางผู้จัด French Open ได้ออกมาแถลงว่าพยายามเข้าไปพูดคุยเรื่องนี้กับเธอแล้วแต่ไม่สำเร็จ และย้ำว่ากฎต้องเป็นกฎเพื่อความเท่าเทียม

Sport Marketing ต้องตามมาด้วยการวางแผนที่ดี

จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแบรนด์ต่าง ๆ ที่ใช้กลยุทธ์ Sport Marketing ต้องวางแผนรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา เช่นกรณีของ Nike ที่เลือกสนับสนุน Colin Kaepernick เต็มที่ แม้เขาจะขุกเข่าเมื่อเคารพเพลงชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อประท้วงเกี่ยวกับการเหยียดสีผิว

ปรากฎว่าการเลือกข้างสนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ และชัดเจน ช่วยสร้างแบรนด์ Nike ให้แข็งแกร่งในตลาดสหรัฐอเมริกามากกว่าเดิม และได้รับการชื่นชมเรื่องการต่อต้านการเหยียดสีผิว ในทางกลับกันแบรนด์ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกสนับสนุนนักกีฬา หรือรับมือกับเหตุไม่คาดฝันนั้นมีอยู่มากมาย

Nike
แคมเปญการตลาดครบรอบ 30 ปี Just do it ของ Nike

ตัวอย่างที่ดีคือ Tiger Woods หนึ่งในนักกอล์ฟที่เก่งที่สุดในโลกตลอดกาล โดยช่วงที่เขาโด่งดัง แบรนด์ทั้งเครื่องดื่ม และสื่อบันเทิงต่าง ๆ หันมาสนับสนุนเขาเต็มที่ เช่น EA และ Getorade แต่เมื่อเขาประพฤติตัวไม่ดี แบรนด์เหล่านั้นต่างถอนตัวออกไป เหลือเพียง Nike ที่ยังเชื่อมั่นตัวเขาอยู่เท่านั้น และสุดท้ายผลตอบรับกลับออกมาดี

สรุป

การสนับสนุนนักกีฬาถือเป็นเรื่องที่แบรนด์ทำได้ไม่ยาก เพราะเพียงมีทุน และนักกีฬายินดีที่จะร่วมงานด้วย ทุกอย่างก็จบ แต่หลังจากนี้คือเรื่องที่แบรนด์ต้องพยายามเข้าใจนักกีฬาคนนั้นมากขึ้น และหากเหตุไม่คาดฝัน ก็ต้องหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อรักษาภาพลักษณ์แบรนด์ในอนาคตเอาไว้

อ้างอิง // CNN, French Open

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา