นันยางตั้งเป้าเติบโตปี 2566 มากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่า ย้ำจุดยืนต่อต้านการบูลลี่ในโรงเรียนผ่านแคมเปญ “BULLY NO MORE”

นันยาง แบรนด์รองเท้านักเรียนชื่อดังที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานได้ดำเนินธุรกิจรองเท้าผ้าใบปีนี้เป็นปีที่ 70 แล้ว จักรพล จันทรวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้กล่าวถึงเป้าหมายของนันยางในปี 2566 นี้ พร้อมประกาศจุดยืนของบริษัทในการยุติปัญหาการบุลลี่และกลั่นแกล้งในโรงเรียน

จักรพล ยังได้เผยคำตอบของคำถามที่ว่าอะไรทำให้นันยางยังเป็นแบรนด์รองเท้านักเรียนเบอร์ต้น ๆ ของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพรวมตลาดรองเท้านักเรียน

จักรพลเปิดเผยว่า มูลค่าตลาดรองเท้านักเรียนทั้งประเทศอยู่ที่ราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าค่อนข้างคงตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2019-2022 ตลาดรองเท้านักเรียนแบ่งเป็นสัดส่วนรองเท้าผ้าใบ 60% รองเท้าพีวีซี (รองเท้านักเรียนหญิง) 35% และที่เหลือเป็นรองเท้าประเภทอื่น ๆ โดยปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดอยู่ที่ 10-15 ราย

เทรนด์อุตสาหกรรมรองเท้า ในอดีตมีโรงงานผลิตรองเท้าหลายแห่งแต่ผลิตในลักษณะ OEM ที่แบรนด์รองเท้าต่างชาติมาจ้างผลิตในประเทศไทย แต่เมื่อจีนและเวียนดนามเข้าสู่ตลาด ทำให้ฐานการผลิตเข้าสู่เวียดนามและจีนแทน ส่วนของไทยโรงงานใหญ่จะมีแบรนด์เป็นของตัวอย่างอย่างเช่นนันยาง รวมถึงมีแบรนด์ SMEs และแบรนด์ใหม่ที่เน้นไปที่แฟชันรองเท้าเพิ่มขึ้น

สำหรับในปีนี้ นันยางคาดว่าตลาดรองเท้านักเรียนจะเติบโต 3.5% หลังจากคงตัวมาตลอด 

ขายรองเท้าน้อยรุ่น แต่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย และไม่ขึ้นราคา

นันยางเติบโตเฉลี่ยปีละ 2% มีกำลังการผลิตราว 10 ล้านคู่ต่อปี หากพิจารณาเฉพาะตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียน นันยางมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 43-44% ในปี 2022 นันยางมีรายได้รวมทั้งหมดอยู่ที่ราว 1,317 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ ตั้งเป้าการเติบโตที่ 8-10% จากเดิมที่มักตั้งเป้าไว้ที่ 3-5% โดยมุ่งเน้นไปที่การขายรองเท้าที่มีทั้งหมดเพียง 4 รุ่นให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

รองเท้าทั้ง 4 รุ่นของนันยาง คือ รองเท้าผ้าใบรุ่น 205-S รองเท้านันยางพื้นสีเขียวที่มีมาแล้ว 70 ปี, รองท้ารุ่น Have Fun ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 4-19 ปี ที่มีเชือกยืดหยุ่น ไม่ต้องผูกเชือกเอง ถือเป็นรุ่นเดียวในตลาดรองเท้าที่ตอบโจทย์นักเรียนชั้นประถมศึกษา, รุ่น Superstar ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อย เริ่มต้นที่ราคา 199 บาท และรุ่น Zafari ที่เน้นรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย

นอกจากนี้ การที่นันยางตั้งเป้าสูงกว่าปีอื่น ๆ กว่า 2 เท่าเป็นเพราะคาดการณ์ว่า ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อมากขึ้นตลาดรองเท้าที่อั้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 รวมทั้ง นันยางยังส่งออกได้ดีในหลายประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้า โดยสัดส่วยรายได้จากการส่งออกที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 25%

นันยางยังชูดจุดขายที่ราคาที่ยังอยู่ในระดับเดิมโดยไม่เพิ่มขึ้นร่วมกับความคงทนของรองเท้า ที่ทางนันยางเผยว่ารองเท้าคู่หนึ่งสามารถใช้เดินได้ 1,000,000 ก้าว

การทำ Branding สร้างภาพลักษณ์และสื่อข้อความสำคัญไปถึงผู้บริโภค

ในครั้งนี้ นันยางได้เปิดตัวแคมเปญ BULLY NO MORE ที่เผยแพร่สื่อโฆษณาและกิจกรรมในแคมเปญเพื่อเน้นย้ำจุดยืนในการต่อต้านปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนพร้อมคำขวัญ ‘ย่ำให้เต็มที่ แต่ไม่ย่ำยีใคร’ และจัดทำสื่อที่นำเสนอเนื้อหา ‘คำขอโทษจากนันยาง’ ที่ในอดีตแบรนด์ได้เผยแพร่โฆษณาที่มีเนื้อหาเข้าข่ายการบูลลี่หลังมีข้อมูลจากรมสุขภาพจิตว่า ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการบูลลี่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ในแคมเปญนี้ นันยางได้พัฒนารองเท้ารุ่นพิเศษ ‘BULLY NO MORE Special Edition’ ที่สละพื้นที่โลโก้นันยางเป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ BULLY NO MORE รองเท้ารุ่นนี้ไม่ได้มีขายโดยทั่วไปแต่เปิดให้นักเรียนเอารองเท้าคู่เก่ามาแลกรุ่นใหม่นี้ โดยรองเท้าคู่เก่าจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน Art Installation ที่ประกอบเป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ขึ้นเพื่อต่อต้านการบูลลี่ที่จัดขึ้นที่ซีคอนบางแค

Art Installation ด้วยรองเท้าเก่าที่นักเรียนนำมาแลกประกอบเป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ขึ้นเพื่อต่อต้านการบูลลี่

การเตรียมแคมเปญโฆษณาไว้ล่วงหน้าพร้อมปรับใช้แบบเรียลไทม์

ในด้านการโฆษณาและการตลาด จักรพลเผยว่า งบประมาณในการทำการตลาดอยู่ที่ราว 70 ล้านบาทต่อปี โดยแคมเปญหลักในแต่ละปีจะเป็นช่วงเปิดเทอมหรือ Back To School ที่ทำยอดขายเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของยอดขายทั้งปี ช่วงที่ขายได้ดีที่สุดจะอยู่ในช่วงสงกรานต์ลากยาวมาจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมที่เป็นช่วงเปิดเทอม

ส่วนแคมเปญโฆษณาอื่น ๆ บริษัทจะใช้การเตรียมโฆษณาเอาไว้ล่วงหน้าหลายตัวและจะนำสิ่งที่เตรียมไว้มาปรับใช้แบบเรียลไทม์เพื่อให้ทันต่อกระแสสังคม ในแต่ละปี นันยางจะใช้งบประมาณในการโฆษณาและการตลาดอยู่ที่ราว 70 ล้านบาท และยังคงเน้นไปที่การทำการตลาดแบบดั้งเดิมมากถึง 70% 

ที่มา – นันยาง

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา