เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องท่องจำ KBank ชูโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ต้นแบบที่ทำให้เยาวชนมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทำความรู้จัก “โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ที่มีหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าโดยธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นปัญหาจากระบบการศึกษาที่ครูเป็น “ผู้สอน” และนักเรียนเรียนรู้แบบท่องจำจากตำรา ซึ่งไม่สามารถสร้างทักษะทำให้ผู้คนรักการเรียนรู้อย่างแท้จริงจึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น โครงการนี้สะท้อนภาพชัดเจนของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ที่ครูทำหน้าที่เป็น “โค้ช” ช่วยให้นักเรียนเป็น “นักวิจัย” ลงมือค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่สนใจด้วยตนเอง การศึกษาจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราหรือฟังแค่คำบอกเล่าจากปากคำของครูผู้สอนอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นมาจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556-2561 ในการเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ปัญหาได้ จากความสำเร็จดังกล่าวธนาคารกสิกรไทยจึงร่วมมือกับศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยพะเยาผลักดันให้โครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562-2565 

น่านเพาะพันธุ์ปัญญา

บอกลาการศึกษาแบบเก่า เริ่มต้นที่ครู เบ้าหลอมสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้

ครูคือกลุ่มคนสำคัญ ครูอยู่ใกล้ชิดมากที่สุด นักเรียนจะชอบ จะรัก หรือเกลียดการเรียนรู้ก็มาจากครูนี่แหละ กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเพาะพันธุ์ปัญญานี้ ต้องให้ครูละทิ้งระบบอำนาจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและจัดกระบวนการ จัดบรรยากาศให้เด็กรักการเรียนรู้ เด็กจะมีความรู้สึกว่าการเรียนหนังสือมีประโยชน์ เพราะความรู้ได้นำไปใช้ เด็กจะได้ความรู้จากการทำงาน โดยเห็นภาพกว้างจากความสัมพันธ์ที่เป็นโจทย์ของชุมชน ชีวิตจริงของพ่อแม่ การกระทำของมนุษย์ที่เราไม่รู้เท่าทันจนใช้ทรัพยากรเกินเลยความยั่งยืนได้ เด็กอยู่ในพื้นที่คือผู้รับผิดชอบพื้นที่ของเขาในอนาคต ให้การทำโครงงานคือการเรียนรู้พื้นที่เพื่อเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและหาทางเยียวยาให้ได้ 

ความสำเร็จเบื้องต้นจึงเป็นการเปลี่ยนการรับรู้ของครูใหม่ ให้เด็กเรียนรู้ตามความต้องการของเขาเอง ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ ครูต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า อยากให้เด็กทำตามความต้องการของเด็กมากกว่าความต้องการของครูที่ต้องการชนะ คือให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตจริงและนำมาพัฒนาโครงการได้

ก่อนจะมีโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา มีโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาใหญ่มาก่อน คือการทำโครงการฯ ทั่วประเทศรวม 18 จังหวัด 80 โรงเรียน เป็นการร่วมมือระหว่าง KBank กับ สกว. และ 8 มหาวิทยาลัย จึงเกิดความคิดว่าเมื่อจบโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแล้ว น่าจะหาพื้นที่ที่ทำได้เต็มพื้นที่มากขึ้น ธนาคารกสิกรไทยสนใจจังหวัดน่านและน่านเองก็มีปัญหาเรื่องทำร้ายทรัพยากรจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา น่านจึงเป็นพื้นที่เริ่มต้นสำหรับทำโครงการนี้

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาและกรรมการกำกับดูแลทิศทางการดำเนินงานโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา

การนำหลักการ SEEM มาใช้กับโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา หลังจากที่มี STEM เข้ามา สถาบันทุกแห่งก็ถูกเกณฑ์ให้เรียน STEM คือ โรควิธีคิดของมนุษย์ที่ต้องการชนะธรรมชาติ เป็นวิธีคิดแบบวิศวกรแต่วิศวกรอาศัยวิธีวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อสร้างเทคโนโลยีไปตอบสนองกิเลสของคนมีสตางค์ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อพิชิตธรรมชาติ 

เช่น ร้อนไปก็ต้องการเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่เกิดความยั่งยืน ก่อนหน้า STEM เรามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจริงๆ แล้วคือเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ STEM เป้าหมายคือใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อตอบสนองกิเลสของมนุษย์ จึงตัดตัว T ทิ้งไป คือสร้างฐานคิดบนนิเวศวิทยา (Ecology) เพื่อให้คนอยู่กับทรัพยากรได้ กลายเป็น SEEM ตัด T ออกเพื่อให้มีแนวคิดที่รักษาความยั่งยืนไว้ ไม่ได้คิดแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว 

ก่อนจะมีโครงการ Eduthon โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเริ่มต้นจากทีมพี่เลี้ยงให้เข้าใจการศึกษาและเข้าใจปัญหาการศึกษาก่อน ความสำเร็จของโครงการสมัยที่ไม่มีโควิด ส่วนใหญ่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลค่อนข้างมาก คือการโค้ชระหว่างพี่เลี้ยงและเด็ก พี่เลี้ยงไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา ไม่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการงานของเขา ทำให้กลายเป็นเพื่อน ทำให้ครูไว้ใจและรู้สึกเหมือนลูกเหมือนหลาน 

แต่หลังจากโควิดระบาด จากที่เคยเริ่มโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาในช่วงปีแรก ไม่พบปัญหาใดๆ เนื่องจากเมื่อทำโครงการดังกล่าวทั่วประเทศได้สำเร็จ น่านก็ไม่น่าจะประสบปัญหาได้ แต่เมื่อเกิดโควิดระบาด ต้องมีมาตรการ Social Distancing ไม่สามารถโค้ชระหว่างปฏิบัติการได้เหมือนก่อนหน้า กระบวนการดังกล่าวจึงมีความท้าทายมากขึ้น ว่าจะเพาะพันธุ์ปัญญาอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จต่อผู้เรียน จนนำไปสู่การคิดค้นโครงการ Eduthon สร้างการเรียนรู้จากการลงพื้นที่ 

น่านเพาะพันธุ์ปัญญา
นักเรียนเตรียมแข่งขันโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน”

โควิด-19 ปัจจัยเร่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดโครงการ Eduthon

โควิดระบาดทำให้เกิดความท้าทายในการฝึกฝนนักเรียนและการให้คำปรึกษา การเรียนรู้ทำได้ยากลำบากขึ้น ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้เกิดวิธีคิดในการสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาและกรรมการกำกับดูแลทิศทางการดำเนินงานโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา เล่าถึงที่มาของโครงการ Eduthon ว่า ปัญหาจากโควิดระบาด ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ จึงนำไปสู่การคิดค้นหาวิธีที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้เร็วที่สุด 

จึงใช้วิธีการแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นสองกลุ่ม บ้านเหนือกับบ้านใต้ของน่าน ให้เด็กจากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ ให้เด็กไปดูทรัพยากรว่ามีอะไรบ้าง เมื่อไปเจอแล้ว มีความคิดอย่างไรกับความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรที่บ้านตัวเองมีกับสิ่งที่บ้านอื่นมี ทางโครงการต้องการสร้างเด็กให้เข้าใจความสัมพันธ์ของทรัพยากร ชีวิต อาชีพ ธรรมชาติ เนื่องจากอาชีพหรือการทำมาหากินในปัจจุบันตัดขาดกับธรรมชาติ 

เช่น ภูเขาหัวโล้นเพราะทำอาชีพปลูกข้าวโพด ที่เป็นพืชเชิงเดี่ยว บางคนเป็นครอบครัวทำอาชีพปลูกข้าวโพดเพื่อใช้หนี้จึงมองไม่เห็นปัญหา เพราะนั่นคืออาชีพของเขา ถ้าต้องการให้คนน่านเห็นปัญหา ต้องทำให้เด็กเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพกับทรัพยากรให้ได้ เขาไปเห็นอะไรมา ต้องนำเสนอแนวคิดที่เขาไปเห็นสิ่งต่างๆ ที่ต่างจากบ้านเขา มีแนวคิดในการใช้ทรัพยากรกับอาชีพเชื่อมโยงกันอย่างไร 

น่านเพาะพันธุ์ปัญญา
นักเรียนเตรียมแข่งขันโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน”

เรื่องนี้ทำให้เห็นได้ว่า เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติกับทรัพยากรในพื้นที่ที่เขาอยู่ ได้เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างผู้คน สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการลงพื้นที่ที่ทำให้เห็นและสัมผัสผู้คนที่ทำมาหากินในอาชีพต่างๆ เขาจะสามารถนำความรู้จากสิ่งที่เขาได้เรียน วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาพจริง จนนำไปสู่การหาทางแก้ปัญหา การพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด การพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย 

กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้เมื่อรวมเข้ากับวิธีการเรียนแบบน่านเพาะพันธุ์ปัญญา คือ RBL (Research-based Learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการ “ถามคือสอน” คือการตั้งคำถามกับผู้เรียน “สะท้อนคิดคือเรียน” ทำให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ค้นพบระหว่างทางของการเรียน และ “เขียนคือคิด” คือการสรุปยอดความคิด การเรียนรู้ คือการฝึกฝนให้คิดเป็นและมองหาทางออกของปัญหาผ่านการคิดค้นจนสามารถวิเคราะห์ได้ 

ทั้งโครงการ Eduthon และกระบวนการแบบ RBL เช่นนี้เอง ที่จะช่วยตัดวงจรเรียนจบการศึกษาในหลักสูตรออกมาแต่หางานทำไม่ได้ ต้องแสวงหาโอกาสในเมืองหลวง เมืองใหญ่ที่เจริญกว่า การเรียนรู้เช่นนี้ผลักดันและส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถหาทางเลี้ยงชีพตนเองได้จากบ้านเกิดของตัวเอง จากทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ตั้งแต่ในวัยเรียนด้วยซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานต่างบ้านต่างเมืองแบบที่การศึกษายุคเก่าเป็น

อาจารย์สุธีระ มองว่า การกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้เมื่อไม่ได้ใช้รางวัลเป็นตัวนำ ทำให้เด็กเห็นคุณค่าทางการเรียน จึงเรียนรู้ จากเมื่อก่อนคือการเรียนเพื่อล่ารางวัล เรียนเพื่อให้คุณครูได้รางวัลนั้น นักเรียนมีชื่อติดป้ายไวนิล ซึ่งงานวิจัยระบุว่านี่คือ Punished by Reward หรือการให้รางวัลเด็กเป็นสิ่งผิด คือแรงขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ (Motivation) มากกว่าสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เป็นการใช้ความอยากเป็นตัวตั้ง เมื่อประสบความสำเร็จจากความอยากหรือความต้องการนั้น จะรู้สึกอยากหรือรู้สึกต้องการมากขึ้นเหมือนยาเสพติด 

ถ้าเด็กได้รางวัล เด็กจะไม่กล้าทำสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น เพราะกลัวจะพลาด ทุกคนตั้งความหวังไว้ที่เขา เด็กกลุ่มนี้จะเริ่มกลัวทำสิ่งที่ยากขึ้น กลัวแพ้และไม่ทำของยาก นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Fixed Mindset เมื่อมันเสพติดแล้ว เด็กจะไม่ไปต่อเพราะระบบรางวัล บางคนก็ไปได้ แต่ระบบรางวัลทำร้ายคนอีก 90% การศึกษาแบบล่ารางวัลนี่เองที่เป็นการทำร้ายเด็ก ทำให้เด็กดูถูกตัวเองว่าไม่มีความสามารถ 

สำหรับบทบาทของธนาคารกสิกรไทยในการร่วมผลักดันโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญานี้ ต้องขอขอบคุณที่ธนาคารฯ เห็นความสำคัญของการศึกษา ถือว่าเป็นโครงการที่ธนาคารฯ เข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก ธนาคารฯ ไม่ได้เพียงให้ทุนเท่านั้นแต่ยังให้โอกาสและให้อิสระในการทำงาน ธนาคารฯ ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงว่าโครงการต้องไปทิศทางใด แต่ธนาคารเห็นความสำคัญของการศึกษาที่สร้างผลประโยชน์ต่อส่วนรวมและจังหวัดมากกว่าจะสร้างผลประโยชน์ให้กับธนาคาร 

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย
ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารจะทำธุรกิจหวังกำไรอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วย

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในกสิกรไทยมากว่า 20 ปีเล่าถึงสาเหตุที่ธนาคารกสิกรถึงให้ความสำคัญกับโครงการนี้ สมัยที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณของ KBank ดำรงตำแหน่งซีอีโอ ได้วางรากฐานทางความคิดว่าเราเป็นธนาคาร เป็นธุรกิจจะทำธุรกิจหวังกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโตด้วยการเอาใจใส่กับคนรอบข้างด้วย 

ธนาคารต้องสำนึกเสมอว่าเราเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ตามจริงแล้วการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนคือการศึกษา เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ เราเชื่อกันมาตั้งนานแล้ว เรามีโครงการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) 

30 กว่าปีที่แล้วเชิญนักวิชาการมาหาคำตอบกัน ก็พบว่าการศึกษาคือกลไกสำคัญในการพัฒนา ดังนั้นพัฒนาการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

คำว่าเพาะพันธุ์ปัญญา ประธานกิตติคุณของธนาคาร เป็นคนตั้งให้ โครงการนี้ถูกตั้งชื่อในปี 2555 เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ว่าเรามีความเชื่อ ปลูกฝังกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นโครงการจากการคุยกับทาง สกว. จบลงที่ สกว. กับ KBank ลงเงินสนับสนุนโครงการกันคนละครึ่ง กลายเป็นโครงการที่ใหญ่มาก ตอนนั้นก็ใช้คำว่า Research-based Learning (RBL) กันตั้งแต่ตอนนั้น เป็นที่มาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นโครงการที่ทำกันอย่างยาวนานถึง 10 ปี

การเรียนรู้ในอดีตคือการท่องจำ เรื่องนี้ทำให้มีปัญหาในการพัฒนา ถ้าคนวิเคราะห์และแยกไม่ออกเรื่องเหตุและผล ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ทำให้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 10 ปีผ่านไป ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน 

มีตัวอย่างจากจังหวัดศรีสะเกษ เด็กน้อยสามารถแสดงความคิดเห็น เล่าเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลออกมาจนคนฟังแล้วน้ำตาไหล สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการคิดของเด็กเหล่านี้ไม่เหมือนทั่วไป ดังนั้นอย่าว่าคนไทยไม่เก่ง อย่าว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ไม่เก่งเท่าอยู่กรุงเทพฯ สิบปีที่ผ่านไป ทำให้เห็นว่ากระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาทำให้เห็นว่าสามารถพัฒนาเด็กให้แตกต่างได้ กระบวนนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง สิ่งที่ได้ค้นพบมี 2 เรื่องสำคัญ

หนึ่ง กระบวนการนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
สอง ครูทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

น่านเพาะพันธุ์ปัญญา
ช่วงสะท้อนคิด ในทรรศนะชาวเพาะพันธุ์ปัญญา หนึ่งในกระบวนการแบบ RBL (Research-based Learning)

ถ้าครูทำหน้าที่เหมือนโค้ชหรือ Facilitator เป็นคนโยนอาหารสมอง กระตุ้นสมองให้เด็กมากกว่าสอนให้ท่องจำ เมื่อไรที่ครูเป็นโค้ช เมื่อมีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น กระบวนการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นแล้ว นักเรียนเป็นผลผลิตสะท้อนความสามารถและความใส่ใจของครู ทำให้รู้สึกยกย่องครู เพราะโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ครูต้องจัดการเวลาของตัวเองและนักเรียนให้ได้ ซึ่งความสำเร็จที่มากไปกว่าการสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนนี้ก็คือมีแนวโน้มที่กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะถูกบรรจุในระบบการศึกษาด้วย เราเชื่อว่าโครงการเล็กๆ ที่ทำต่อเนื่อง ถ้าได้ผลก็กระจายไปสู่ผู้อื่นได้

ถ้าน่านเพาะพันธุ์ปัญญาปิดไปแล้ว คือจะเข้าไปสู่ระบบการศึกษาไทย เรียกว่า Education Sandbox คือการทดลองให้ทำเรื่องนี้ ถ้าเห็นผลว่ามันดีจริงจะถูกนำไปใช้ได้แพร่หลายมากขึ้น หลายเรื่องที่ทำให้เกิดนวัตกรรมคือแก้ปัญหา จนนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมได้

ผลงานจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ RBL และโครงการ Eduthon

นักเรียน 6 ทีมที่ได้รับชัยชนะจากการแข่งขันโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน” มีดังนี้ เริ่มต้นจากระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารที่ต้องการพัฒนาโกโก้ให้ดีขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง หลังสังเกตจากการลงพื้นที่และสอบถามข้อมูลจากเกษตรกรที่เริ่มปลูกโกโก้อย่างแพร่หลายพบว่า เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโกโก้ ที่ต้องเน้นการหมักโกโก้ นักเรียนพบว่าการเรียนในห้องเรียนคือการเรียนจากตำรา แต่การเรียนจากโครงการสอนให้ได้เรียนรู้จากการประยุกต์ความรู้มาปรับใช้กับชีวิตจริงและอาจนำไปต่อยอดอาชีพในอนาคตได้

โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ต้องการพัฒนาข้าวหลามรสชาติใหม่ เพราะเห็นว่าเป็นของฝากจากท้องถิ่น ที่มีแต่ข้าวหลามรสชาติเดิมและต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับข้าวหลามให้สามารถทานได้สะดวกโดยไม่ต้องผ่ากระบอกทานให้ยากลำบากแบบที่คุ้นชินกัน 

ขณะที่โรงเรียนนาหมื่นพิทยาคม ต้องการทำถุงผ้าทอดับกลิ่น โดยนำเศษผ้าเหลือใช้จากผ้าทอที่หมู่บ้านเน้นผลิตเป็นสินค้า จะเหลือเศษผ้าทิ้งเป็นจำนวนมาก และการเติบโตของร้านคาเฟ่ในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นหลายแห่ง จากการลงพื้นที่ได้เรียนรู้การแปรรูปกากกาแฟ พบว่ากาแฟมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นได้ จึงคิดว่าจะพัฒนากาแฟมาอัดเป็นก้อนใส่ในเศษผ้าทอและเย็บเป็นถุงผ้าทอดับกลิ่นเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน

น่านเพาะพันธุ์ปัญญา
ส่วนหนึ่งของผลผลิตท้องถิ่นที่นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้เสริมให้ชุมชน

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนปัวทำผงปรุงรสมะแขว่น เนื่องจากมะแขว่นเป็นพืชเฉพาะถิ่น มีรสชาติแปลก มีกลิ่นแรง คล้ายผงหม่าล่าและพริกไทย นักเรียนอยากพัฒนามะแขว่นให้เป็นผงปรุงรสที่หลากหลายและสร้างมูลค่าให้กับพืชจากท้องถิ่นของตัวเอง

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อยากพัฒนาเศษอาหารเหลือเพื่อทำปุ๋ยหมัก เพราะเป็นปัญหาของโรงเรียนและอยากใช้ประโยชน์จากขยะได้ และโรงเรียนจุนวิทยาคม (จ.พะเยา) สร้างการรับรู้อัตลักษณ์คุณค่าข้าวก่ำจากดินภูเขาไฟเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ข้าวก่ำเป็นพืชท้องถิ่น ในพื้นที่เพาะปลูกเป็นดินภูเขาไฟที่ทำให้เกิดแร่ธาตุมากขึ้น หายาก มีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและยังได้รับมาตรฐานจากกรมการข้าวและฐานออร์แกนิกส์ไทยแลนด์แล้ว นักเรียนอยากสร้างการรับรู้เพื่อให้คนเห็นคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวในท้องถิ่นตัวเอง

น่านเพาะพันธุ์ปัญญา

สรุป 

จากโครงการตัวอย่างการเรียนรู้ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า เด็กสามารถนำกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวไปพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมรายได้ให้คนในชุมชนได้ การเรียนรู้เช่นนี้ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

ภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือ โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญามีฐานคิดที่จะช่วยให้นักเรียนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโลก ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่แย่งชิงความเป็นที่ 1 อีกต่อไป หากแต่เป็นการคิดโดยอิงบริบทพื้นที่และธรรมชาติ นั่นคือ นักเรียนได้ไปสู่การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) แล้ว

ทิศทางการพัฒนาการศึกษาหลังจบโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา คือการพัฒนาหลักสูตรใน Sandbox ไม่ต้องมีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน ทดลองเพื่อนำนวัตกรรมความรู้ดังกล่าวไปเปลี่ยนโลกแห่งการศึกษาได้ในอนาคต ในส่วนนี้จะมีสถาบัน TDRI เข้ามาร่วมผลักดันและนำไปสู่ พ.ร.บ. เพื่อการศึกษา ที่แต่ละจังหวัดสามารถทำได้ โดยรับฟังความคิดเห็นคนในจังหวัด และค่อยๆ พัฒนาเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา