มอง เมียนมาร์ ประเทศเปิดใหม่ที่ไทยต้องลงทุน กับ ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา

myanmarthailand
เส้นทางจาก จ.ตาก ไปย่างกุ้ง ผ่าน บาโก (ถ้าขึ้นเหนือจะไปมัณฑะเลย์)

การส่งออกคือหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทยที่หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาพชะลอตัว 1 ใน 3 ของกลุ่มประเทศส่งออกที่สำคัญคือ กลุ่มประเทศ CLMMV หรือ กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, มาเลเซีย และ เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมียนมาร์ หรือ พม่า ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เนื้อหอมที่สุดในเวลานี้ ด้วยเพราะเพิ่งเปิดประเทศไปไม่นาน มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์

ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) และประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ บอกในงานสัมมนา “เจ้าสัว Gen X เปิดมุมคิด พิชิตเศรษฐกิจปี 59” โดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ข้อได้เปรียบของไทยคือ มีชายแดนติดเมียนมาร์ คิดแล้วก็เหมือนมีข้างบ้านติดกันเลย ดังนั้นโอกาสจึงมีมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันไทย ได้สิทธิ์ในการลงทุนในเมียนมาร์ เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก จีน และ สิงคโปร์

แต่ความเป็นจริงเวลานี้ ไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ เป็นอันดับ 6 และมีแนวโน้มที่จะถูกแซงไปเรื่อยๆ เพราะบริษัทขนาดใหญ่ในไทยจำนวนไม่น้อยไม่ลงมือทำอะไร โดยให้เหตุผลว่า ขาดคู่ค้าที่เหมาะสม, ขาดความมั่นใจในการลงทุน, รอเวลาเก็งกำไรจากใบอนุญาตลงทุน และสุดท้ายคือ กลัวความลำบาก (เพราะลำบากแน่นอน)

13918915_10153624479881020_2120242586_o

สำรวจตลาดเมียนมาร์ นำเข้าเพื่อสร้างการผลิตในอนาคต

เดิมไทยเป็นประเทศที่เมียนมาร์ชอบ เป็นทั้งแหล่งงาน และแหล่งสินค้า (เพราะประเทศอยู่ติดกัน) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมาร์มาไทยคือ ก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 1 ใน 3 ที่ใช้ในไทย ขณะที่สินค้านำเข้าคือ สินค้าอุปโภคบริโภค (เพราะยังผลิตเองไม่ได้) แต่ถ้าดูสถิติการนำเข้าแล้ว เมียนมาร์นำเข้า ผ้าและฝ้าย, เครื่องจักรการเกษตร, ปูนและเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าทุนสำหรับสร้างการผลิต และนั่นจะเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าในอนาคต

นี่คือสิ่งยืนยันได้ว่าภายในเวลา 5-10 ปีข้างหน้า เมียนมาร์ จะเลิกนำเข้าสินค้าจากไทย และสามารถผลิตสินค้าได้เอง แต่ยังมีปัจจัยและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอีกหลายส่วนที่เมียนมาร์จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ คือ

  1. โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง
  2. โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที
  3. โรงงานผลิตที่มีคุณภาพ
  4. เขตและนิคมอุตสาหกรรม
  5. โรงงานผลิตไฟฟ้า
  6. การเกษตรกรรม

และสุดท้ายทั้ง 6 องค์ประกอบ ต้องมี People Development หรือ บุคลากร ที่มีความรู้สำหรับขับเคลื่อนธุรกิจ และนี่คือโอกาสของ บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่จะก้าวออกไปลงทุน

13987193_10153624479846020_1922812093_o

เจาะรายละเอียด โอกาสลงทุนของบริษัทไทย

6 องค์ประกอบดังกล่าว คือโอกาสที่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยต้องก้าวไปลงทุน เพื่อสร้าง Platform ขึ้นที่เมียนมาร์ ยิ่งไปสร้าง Platform ได้ ยิ่งยึดครองโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจได้ยาวนาน เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า มีทั้งเรื่องโรงงานขนาดใหญ่เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรงงานผลิตไฟฟ้าทางเลือกต่างๆ และ ระบบ GRID หรือสายส่งไฟฟ้า

โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ที่มีทั้งเส้นทาง เช่น ถนน ระบบราง โกดังคลังสินค้า และในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา ที่ไทยควรโฟกัสเรื่องการดีไซน์ ซึ่งหากผลักดันให้ใช้ดีไซน์ของไทย โอกาสที่ธุรกิจไทยอื่นๆ จะเข้าไปเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งระบบยิ่งมีมากขึ้น โดยเมืองสำคัญ เช่น ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์, บาโก (จุดผ่านจากไทย ไปย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์) และทวาย ที่กำลังบูมเรื่องเขตอุตสาหกรรมในเวลานี้

ส่วนของการขนส่งของเมียนมาร์เป็นโอกาสที่สำคัญมากที่สุดสำหรับไทยในเวลานี้ ถ้าสามารถเชื่อมมาไทยได้ เช่น ด่านเมียวดี, ด่านสิงขร การค้าขายจะสะดวกมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคต ฐานการผลิตจะย้ายจากไทยไปเมียนมาร์แน่นอน ดังนั้นไทยต้องขยับเข้าไปลงทุนด้านการผลิตก่อนประเทศอื่นๆ และสนับสนุนการเกษตรกรรมของเมียนมาร์ เมื่อเกิดการผลิตในประเทศเมียนมาร์ แล้วส่งมาไทยเพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ

13978303_10153624479831020_2017251668_o

มาตรฐานเมียนมาร์ มาตรฐานไทย ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แนวคิดหนึ่งที่สำคัญคือ แชร์ แอนด์ แฟร์ หรือ การแบ่งปันและร่วมกันเติบโต (อย่างจริงใจ) เวลานี้เมียนมาร์ต้องการการสนับสนุนจากไทยอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องบุคลากร ถ้าเป็นไปได้ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ทั้งระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญ, ระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นระดับบริหารจัดการ และการพัฒนานักธุรกิจ

ทั้งหมดเพื่อสร้างมาตรฐานแบบไทยให้เกิดขึ้นที่เมียนมาร์ ในขณะที่ราคาต้นทุนต่ำกว่า เป็นโอกาสอย่างยิ่งสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่ต้องบุกเข้าไปก่อน ส่วนบริษัทระดับ SME ควรส่งของเข้าไปจำหน่ายก่อน โดยอาศัยตัวช่วย เช่น ตัวแทนจำหน่าย, บริการขนส่ง, บริการทางกฎหมายและศุลกากร, ธนาคาร (ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพอยู่แล้ว)

ข้อได้เปรียบสำคัญของไทยคือ การมีชายแดนติดเมียนมาร์หลายร้อยกิโลเมตร มีความใกล้ชิดทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ต้องใช้ความได้เปรียบนี้ให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจ และต้องไม่ลืมว่า ช่วยและแบ่งปันเพื่อเติบโตไปด้วยกัน ยั่งยืนกว่า

13978040_10153624479781020_2099902690_o

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา