สตรีมมิงคือทางออก? Goldman Sachs คาด โควิดพ่นพิษ การแสดงดนตรีสดอาจไปไม่รอด 

โควิดทำรายได้จากการแสดงดนตรีสดทั่วโลกลดลง 75% การสตรีมมิงจึงกลายเป็นทั้งทางออก และโอกาสสำคัญของวงการเพลงทั่วโลกเพื่อเอาตัวรอดในยุคนี้

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเพลงอย่างหนัก ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการแสดงดนตรีสดกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง

ภาพจาก Unsplash โดย Lachy Spratt

Goldman Sachs ธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานภาพรวมของอุตสาหกรรมเพลงในปี 2020 โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกลดลง 25% ส่วนรายได้ของการแสดงดนตรีสดลดลงมากถึง 75%

จากตัวเลขรายได้ของอุตสาหกรรมเพลง และรายได้จากการแสดงดนตรีสดทั่วโลกที่ลดลงอย่างมาก ย่อมส่งผลต่อศิลปิน ทั้งนักร้อง และนักดนตรี เนื่องจากหลายๆ คนอาศัยการแสดงดนตรีสดเป็นช่องทางในการหารายได้หลักในอาชีพศิลปิน หากยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ การแสดงดนตรีสดทั้งในรูปแบบของการแสดงในร้านอาหาร หรือคอนเสิร์ตคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ง่ายขึ้นอีก

Photo by Roger Harris on Unsplash

Streaming คือทางรอดของอุตสาหกรรมเพลง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลก แต่ก็นับว่ายังมีความโชคดีอยู่บ้างที่การฟังเพลงแบบ Streaming กลายเป็นทางออกสำคัญในช่วงเวลานี้

Goldman Sachs คาดการณ์ว่ารายได้จากการฟังเพลงแบบ Streaming จะเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในปีนี้ ส่วนจำนวนผู้ฟังเพลงแบบ Streaming ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน จาก 341 ล้านคน เมื่อปี 2019 เป็น 1,200 ล้านคน ในปี 2030

โดยในจำนวนผู้ฟังเพลงแบบ Streaming นี้ ได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่มีอายุ 16-24 ปี โดยคนกลุ่มนี้ฟังเพลงแบบ Streaming กว่า 80% เทียบกับคนในช่วงวัยอื่นๆ ที่รับฟังเพลงแบบ Streaming 65%

ภาพจาก Unsplash โดย Fixelgraphy

ความอิสระคือข้อดีของ Streaming

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การฟังเพลงแบบ Streaming เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน เป็นเพราะการฟังเพลงแบบ Streaming ทำให้ผู้ฟังสามารถเลือกฟังเพลงได้เองตามความชอบ โดยเลือกได้ทั้งแนวเพลง ศิลปิน หรือแม้แต่เพลงที่เพิ่งออกใหม่ ประกอบกับมีเพลงให้เลือกฟังจำนวนมาก มีความหลากหลาย สามารถเข้าถึง Playlist หรือสถานีเพลงใหม่ๆ ที่แอปพลิเคชัน Streaming จัดไว้ให้ก็ได้

โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นตัวบังคับให้คนต้องอยู่แต่ในบ้าน คนส่วนใหญ่จึงเลือกฟังเพลงแบบ Streaming เพื่อทดแทนการออกไปรับชมการแสดงดนตรีสด และในอนาคตหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นจนสามารถออกไปรับชมการแสดงดนตรีสดได้แล้ว แต่คนอีกกว่า 74% ก็ยังคิดว่าจะยังฟังเพลงผ่าน Streaming ควบคู่กันไปด้วย ไม่ได้เลิกใช้แต่อย่างใด

ภาพจาก Unsplash โดย sgcdesignco

โควิด-19 เปลี่ยนอุตสหกรรมเพลงระยะยาว

สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นกระตุ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพลงให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการฟังเพลงผ่าน Streaming ที่ผู้ฟังสามารถเข้าถึงเพลงได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางอีกต่อไป

ความจริงแล้วสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนเลือกฟังเพลงผ่าน Streaming ในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่า โดยหลังจากนี้อุตสหกรรมเพลงจะต้องพึ่งพาการฟังเพลงแบบ Streaming รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว

แม้ว่าในช่วงนี้อุตสาหกรรมเพลงจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนัก โดยเฉพาะยอดขายเพลงที่ใช้ในการเปิดในที่สาธารณะ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร และฟิตเนส แต่ใช่ว่าในอนาคตอุตสหกรรมเพลงจะไม่มีโอกาสเติบโตอีกครั้ง

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 อุตสหกรรมเพลงจะมีรายได้รวมทั่วโลกกว่า 1.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.53 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 84% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกมีรายได้รวม 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.46 ล้านล้านบาท

ที่มา – Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา