อุตสาหกรรมเพลงโลกกลับสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง รายได้เกิน 6 แสนล้านบาท เท่ายุคปี 2000

อุตสาหกรรมเพลงโลกกลับเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง สร้างรายได้รวมเกิน 6 แสนล้านบาท เทียบเท่าปี 2002 โดยมีแพลตฟอร์มสตีมมิงเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับวงการเพลง

อุตสาหกรรมเพลงต้องเผชิญกับวิกฤตรายได้ลดลงมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่วันที่โลกรู้จักกับคำว่าเทปผี ซีดีเถื่อน และการดาวน์โหลดไฟล์ MP3 จากเว็บไซต์บนโลกอินเตอร์เน็ตมาฟังกันแบบฟรีๆ โดยที่คนดาวน์โหลดคงลืมไปว่าการผลิตเพลงออกมา 1 เพลง มีต้นทุนอยู่มากมาย ตั้งแต่นักร้อง นักแต่งเพลง การบันทึกเสียง รวมถึงค่ายเพลงที่ต้องทำการตลาดให้กับนักร้องด้วย

แม้ว่าในปี 2020 จะเป็นปีที่โลกต้องเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่กลายเป็นว่าอุตสาหกรรมเพลงกลับได้รับผลกระทบไม่มากอย่างที่คิด เติบโตได้ 7.4% โดยเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว แถมยังทำสถิติรายได้กว่า 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.72 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับรายได้ของอุตสาหกรรมเพลงในปี 2002 ก่อนที่การดาวน์โหลดไฟล์เพลงเถื่อนจะเฟื่องฟู

สตรีมมิงปัจจัยสำคัญ ผลักดันรายได้อุตสาหกรรมเพลงเติบโต

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเพลงมีรายได้เติบโต เกิดจากวงการสตรีมมิงที่เติบโตอย่างมากในปี 2020 โดยจากสถิติของ IFPI พบว่า ปี 2020 เป็นปีที่รายได้ของวงการสตรีมมิงเติบโตอย่างมาก ถึง 18.5% โดยรายได้จากอุตสาหกรรมเพลง 62.1% มีสัดส่วนมาจากสตรีมมิง หรือคิดเป็นเงิน 1.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 4.17 แสนล้านบาท และต้องเทียบให้เห็นภาพว่ารายได้จากการขายเพลงเป็นแผ่น CD (แบบ Physical) ลดลง 4.7%

ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสัดส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมเพลง จะมาจากสตรีมมิงกว่า 62.1% เพราะหากลองดูตัวเลขของผู้สมัครใช้บริการสตรีมมิงในปี 2020 จะพบว่าเพิ่มขึ้น 18.5% อยู่ที่ 443 ล้านคนทั่วโลก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในปี 2020 จะมีแต่ภาพอันสดใสของอุตสาหกรรมเพลงเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว แม้รายได้ของวงการเพลงจะทำสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี แต่ความจริงแล้ว ถ้าจะเทียบเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ยังนับว่าน้อยกว่าปี 2019 เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถจัดงานคอนเสิร์ต หรือการแสดงแบบสดๆ ได้เลย ซึ่งส่งผลต่อรายได้ลิขสิทธิ์ที่จัดเก็บจากการแสดง หรือการนำเพลงไปแสดงในสถานที่ต่างๆ ลดลง 10.1%

ส่วนรายได้จากการใช้เพลงไปประกอบในภาพยนตร์ หรือโฆษณาทั่วโลกก็ลดลง 9.4% จากการชะลอการถ่ายทำ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง

BTS ศิลปินกลุ่มจากประเทศเกาหลีใต้

นอกจากในเชิงช่องทางการฟังที่เปลี่ยนไปสู่การฟังเพลงผ่านสตรีมมิงแล้ว ศิลปิน หรือนักร้องเอง ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ที่ทำให้อุตสาหกรรมเพลงเติบโตในปี 2020 โดย IFPI ได้รวบรวมสถิติ 10 อันดับศิลปินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ดังนี้

    • อันดับ 1 BTS
    • อันดับ 2 Taylor Swift
    • อันดับ 3 Drake
    • อันดับ 4 The Weekend
    • อันดับ 5 Billie Eilish
    • อันดับ 6 Eminem
    • อันดับ 7 Post Malone
    • อันดับ 8 Ariana Grande
    • อันดับ 9 Juice WRLD
    • อันดับ 10 Justin Bieber

ไม่ใช่แค่สตรีมมิง แผ่นเสียงก็ทำลายสถิติยอดขายเช่นกัน

แม้ว่ารายได้ของอุตสาหกรรมเพลงในยุคปัจจุบันจะพึ่งพาสตรีมมิงเป็นหลัก ในสัดส่วนกว่า 62.1% จนรายจากช่องทางอื่นๆ มีสัดส่วนที่น้อยมาก อย่างไรก็ตามในปี 2020 ที่ผ่านมา การฟังเพลงในรูปแบบหนึ่งก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง นั่นคือการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง ที่ได้รับความยิมในผู้ฟังเฉพาะกลุ่ม

โดยยอดขายแผ่นเสียงในประเทศอังกฤษ สามารถทำลายสถิติยอดขายได้สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1989 หรือกว่า 32 ปีที่แล้ว ด้วยยอดขาย 86.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3.68 พันล้านบาท และนับว่าเป็นยอดขายที่มากกว่า CD เสียด้วยซ้ำ

ที่มา – FT, IFPI

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา