MUJI เปิดสาขาใหม่ที่ The EmQuartier บนพื้นที่กว่า 1,500 ตร.ม. มาพร้อมคาเฟ่ อาหาร สไตล์ญี่ปุ่น

กระเเสความนิยมในความเป็นญี่ปุ่นยังได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ด้านการเเต่งตัว รวมไปถึงการตกเเต่งบ้านสไตล์มินิมอลที่ได้รับความนิยมในคนรุ่นใหม่ 

อย่างร้าน MUJI สาขาใหม่ที่ The EmQuartier  ที่ยกเอาความเป็นญี่ปุ่นสไตล์มินิมอลมาให้ลูกค้าในเมืองไทยได้ช็อปปิ้ง ทั้งเครื่องเเต่งกาย อุปกรณ์เครื่องครัว หมอนที่นอน รวมไปถึง อาหารเเละขนมสไตล์ญี่ปุ่นที่มาพร้อมร้านคาเฟ่ให้ลูกค้าได้นั่งดื่มชา กาเเฟ เเละขนม 

โดยนายอกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศนิยมบริโภคสินค้าคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ที่คนทั่วโลกนิยมเข้ามาท่องเที่ยว จากการที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวหลังเปิดประเทศเต็มตัว

ล่าสุด MUJI (มูจิ) เปิดสาขาใหม่ในศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ เป็นสาขาที่ 26 ในประเทศไทย ด้วยขนาดร้านกว่า 1,500 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งชั้น 2 ของซึ่งมีสินค้าวางจำหน่ายมากกว่า 3,000 รายการ ดิ เอ็มควอเทียร์ ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองที่มีกิจกรรมขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของ

ทั้งนี้ MUJI The EmQuartier สาขาที่ 26 เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเปิดสาขาขนาดใหญ่ (Big size) เพื่อรองรับดีมานด์ของสินค้าและบริการแบบฉบับญี่ปุ่นของผู้บริโภคได้อย่างครบครัน 

นอกจากนี้ยังมีโซน MUJI Green ที่จำหน่ายต้นไม้กระถาง ไม้ประดับรวมถึง Normal Shop ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาทำความสะอาด ที่ผลิตด้วยแนวคิด Zero Waste

หลังจาก MUJI เปิดสาขาแรกที่ สามย่าน มิตรทาวน์ ซึ่งเป็นต้นแบบคอนเซ็ปต์สโตร์ ที่มีสินค้าและบริการครบครัน รวมถึงร้านกาแฟสาขาแรก เมื่อปี 2562

และในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 5 สาขา รวมทั้งปรับโฉมสาขาเดิมให้มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นอีก 2 สาขา โดยการต่อยอดโมเดลร้านขนาดใหญ่ ทั้งนี้ MUJI มีแผนเพิ่มสาขาอีก 8-10 สาขาภายในปี 2566

ปัจจุบันลูกค้าของ MUJI มีสัดส่วนของผู้หญิงมากที่สุดกว่า 60% เรียงลำดับกลุ่มอายุตามลำดับ คือ 1. อายุ 25-34 ปี 2. อายุ 35-44 ปี และ 3. อายุ 45-54 ปี 

ทั้งนี้ MUJI มีแผนขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่คนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มนักศึกษาอายุระหว่าง 18-24 ปี จนถึง First Jobber (เฟิร์ส จ๊อปเบอร์) และวัยทำงานอายุระหว่าง 25-34 ปี ตลอดจนกลุ่มวัยกลางคน รวมถึง MUJI กำลังทำการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มผู้ชายให้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ MUJI ได้ใช้กลยุทธ์ปรับราคาสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น และยังเดินหน้าผสานกับแนวคิดการตลาด Localization ที่มีการออกแบบสินค้าเฉพาะภูมิภาคและท้องที่ เช่น เสื้อผ้าคอลเลคชันใหม่ที่มีการปรับดีไซน์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา