ถอดรหัส MTV กับแผนคืนชีพรายการดังยุค 90’s ลง Streaming Platform เซ่นคนไม่ฟังเพลงจากโทรทัศน์

ช่วงอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย การจะติดตามวงการเพลงก็คงไม่พ้นการดูช่อง MTV เพราะเป็นที่รวมข่าวสาร และ MV ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ทำให้ MTV ต้องปรับตัวเองใหม่เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

Celebrities Deathmatch

รายการวาไรตี้คือสิ่งที่ต้องไป

นอกจากการอัพเดทข่าวสารวงการเพลง และเปิด MV ใหม่ หรือที่น่าสนใจในช่วงนั้น MTV ก็ยังมีอีกเนื้อหารายการที่แข็งแกร่ง นั่นก็คือรายการวาไรตี้ เพราะในยุค 90’s (พ.ศ.2533-2542) รายการแนวนี้ทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามวงการเพลงยอมเปิดช่อง MTV เพื่อมารับชมเพื่อความบันเทิงเลยทีเดียว

โดยเฉพาะรายการ Beavis and Butt-head, Celebrity Deathmatch, The Hills, Daria และ The Real World ที่ทำให้ MTV ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการบันเทิงในยุคนั้น และรายการเหล่านี้กำลังจะถูกคืนชีพเพื่อมากู้วิกฤติให้กับ MTV ที่ปัจจุบันเผชิญปัญหาผู้บริโภคฟังเพลงจากที่ไหนก็ได้

VIACOM บริษัทแม่ของช่อง MTV ในปัจจุบันได้แจ้งว่า ทาง MTV Studios จะนำรายการดังใจยุค 90’s มาสร้างใหม่เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ดีในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายการ Daria, The Real World, Made, Aeon Flux, The Hills และล่าสุดอย่าง Celebrity Deathmatch

ไม่อยู่แค่ช่องตัวเอง แต่พึ่ง Platform อื่น

“Celebrity Deathmatch คือหนึ่งในรายการยอดนิยมในยุค 90’s ของ MTV เพราะเป็นการนำข่าวสารในวงการเพลง และวงการอื่นๆ มาตีความใหม่ให้เป็นการต่อสู้ระหว่างสองฝั่งที่มีความเห็นต่างกัน เช่น Hillary Clinton สู้กับ Monica Lewinsky และ Backstreet Boys สู้กับ Beastie Boys” VIACOM แจ้งในแถลงการณ์

รายการต่างๆ ของ MTV

สำหรับ Celebrity Deathmatch ที่เตรียมสร้างขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นการร่วมกันพัฒนาระหว่าง Ice Cube นักร้องแร็พชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา และ Eric Vogel อดีตผู้ก่อตั้งรายการนี้มาตั้งแต่ยุคแรก โดยทั้งสองคนจะนั่งในตำแหน่ง Executive Producer เพื่อสร้างรายการนี้ให้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม Celebrity Deathmatch ยังอยู่ระหว่างหารือว่าจะฉายในช่องทางของ MTV หรือไปออกอากาศในช่องทาง Social Media กับ Subscription Video on Demand (SVOD) เพราะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า คล้ายกับรายการ The Real World ที่เตรียมแพร่ภาพแบบ Exclusive บน Facebook ในปี 2562

อนาจักรของ VIACOM

เดินหน้าทำสื่อเพื่อคนรุ่นใหม่

ในทางกลับกัน VIACOM เองเพิ่งปิดปีงบประมาณ 2561 ไป โดยมีรายได้ 12,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.25 แสนล้านบาท) น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนหน้านั้น 2% เนื่องจากธุรกิจในฝั่ง Media Network ที่เน้นแพร่ภาพทาง Cable TV เติบโตได้น้อยกว่าควรจะเป็น แม้รายได้จากธุรกิจภาพยนตร์จะเติบโตอย่างมาก แต่ก็เป็นรายได้ส่วนน้อย

ทั้งนี้ VIACOM เป็นเจ้าของค่ายภาพยนตร์อย่าง Paramount Picture ที่ปีที่ผ่านมามีการฉายภาพยนตร์ดังๆ มากมาย เช่น Mission Impossible: Fallout และเตรียมฉายเรื่อง Bumblebee เร็วๆ นี้ เรียกได้ว่ารายได้ต้องเติบโตขึ้นมากกว่านี้แน่นอน

รายได้ของ VIACOM

ในทางกลับกันฝั่ง Media Network ยังต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับจำนวนผู้ชม Cable TV ที่ลดลง เกือบทุกหน่วยธุรกิจ ดังนั้นนอกจากการหาช่องทางแพร่ภาพใหม่ๆ แล้ว ยังต้องผลิตรายการให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ไม่สามารถใช้เนื้อหาเดิมๆ มาจูงใจพวกเขาได้แล้ว

สรุป

ในอดีต MTV คือทุกอย่างของโลกดนตรี แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะผู้บริโภคมี YouTube, Spotify และโลกอินเทอร์เน็ตที่สามารถเสพเนื้อหาดนตรีได้อยู่แล้ว ดังนั้นหาก MTV ไม่ปรับตัว ก็คงจะอยู่ได้ยากในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับสื่อดังอื่นๆ ที่พอปรับตัวช้า ก็ทยอยหายไปเรื่อยๆ

อ้างอิง // IGN, VIACOM

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา