ชัยธวัชกล่าว “ประชาธิปไตยบ้านเราวันนี้ กลายเป็นประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ”

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตาม ม. 272 ดังนี้ 


“ในการโหวตรับรองให้แก่ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถเห็นชอบได้ เหตุผลไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลอย่างที่สมาชิกบางท่านลุกขึ้นและอภิปรายและซักถาม

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องได้รับทราบข้อมูลแล้วตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง และผมหวังว่าสมาชิกรัฐสภาของพวกเราทุกคนควรให้ความสำคัญกับข่าวสารบ้านเมืองก่อนการเลือกตั้งและคิดว่าท่านน่าจะได้ใช้สิทธิ ใช้วิจารณญาณนั้นไปแล้วในวันเลือกตั้งพร้อมกับประชาชนทุกคน 

เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถที่จะเห็นชอบได้ในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่ออย่างที่มีการกล่าวหากันผ่านสื่อมวลชนหรืออย่างที่มีผู้นำส่งเอกสารให้กับสมาชิกรัฐสภาทุกคนในวันนี้

เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้นั้นเป็นเหตุผลง่ายๆ นะครับ เพราะเราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปแล้วตรงไปตรงมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลและระบบการเมืองที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหารของ คสช.

ท่านประธานครับ พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่การพยายามที่จะสลายขั้วความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อ แต่มันคือการต่อลมหายใจให้กับระบบการเมืองที่ระบอบ คสช. วางไว้และต้องการดำเนินสืบไป

ท่านประธานครับ หลายคนบอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประชาชนและวาระของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่ผมอยากจะชวนท่านประธานลองคิดใหม่นะครับ ว่าแล้วอะไรคือราคา อะไรคือต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่ายบ้าง ให้กับการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ประการแรก

ผมเห็นว่าราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายคือความหวัง ท่านประธานครับ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบบที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารได้ในที่สุด โดยสันติ พวกเขาหวังว่า เสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองของไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินกลับไปสู่อดีตอย่างที่พวกเขารับรู้กันอยู่ในขณะนี้

ประการที่สอง

ผมเห็นว่า ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย ให้กับการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในขณะนี้คืออำนาจครับ ท่านประธานครับ พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆ ว่าในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดนั้น คืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อพวกเขาออกไปใช้อำนาจตัวเองแล้วในวันเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งกลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษที่อนุญาตให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ ใช้เสียงในการเลือกตั้งได้พอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ นั่นคือราคาที่พี่น้องประชาชนต้องจ่าย

ปรากฎว่าประชาชนเพิ่งค้นพบ ว่าตอนนี้ ระบอบประชาธิปไตยของบ้านเรากลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ชัยธวัช ตุลาธน

ประการที่สาม

ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือความศรัทธา ท่านประธานครับ การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ กำลังทำให้พวกเราสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ นั่นคือความศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภา ความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อไรที่ประชาชนหมดศรัทธาต่อระบบการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองใดๆ แล้ว นั่นย่อมเป็นอันตราย เป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองของเราในอนาคต

ท่านประธานครับ ผมอยากจะฝากความหวังดีผ่านไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่า หัวใจของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือการปะทะขัดแย้งกันระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

จนถึงวันนี้ เรายังหาทางออกจากการเมืองนี้ไม่ได้ เราเห็นว่า ทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผิน ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่เราแสวงหาคือระบบการเมืองที่จะเป็นฉันทามติใหม่ โดยวางบนหลักการพื้นฐานสำคัญที่ว่า “อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน” ครับ

แล้วเมื่อไรที่เรายังสยบยอมหรือต่อลมหายใจให้กับระบบที่เราเรียกกันว่าประชาธิปไตย แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในระบบนี้ เราจะไม่มีทางหาทางออกหรือสลายความขัดแย้งได้

เมื่อไรเรายังสยบยอมและต่อลมหายใจให้กับระบอบการเมืองที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ยอมเคารพอำนาจประชาชน เมื่อนั้นประชาชนจะสูญสิ้นศรัทธาต่อระบบการเมืองของเราในที่สุด และมันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรงในทางการเมืองได้ในอนาคต

นี่คือความหวังดีที่ ผมในฐานะผู้แทนของพรรคก้าวไกลอยากเรียนฝากไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาทุกคน ว่าเราเองก็ไม่อยากเห็นอนาคตแบบนี้

สุดท้ายครับ ผมอยากเรียนประธานสภาผ่านไปยังพี่น้องประชาชนว่า แน่นอนครับ ผมทราบดีว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมากนับล้านคนกำลังผิดหวัง กำลังโกรธ หรือกำลังคับข้องใจกับการเมืองที่เกิดขึ้น ผมอยากเรียนพี่น้องประชาชนผ่านประธานรัฐสภาอย่างนี้ว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนแล้วว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังเปลี่ยนไม่มากพอ

ดังนั้น แม้ว่าท่านจะไม่พอใจ ท่านจะผิดหวัง ท่านจะคับข้องใจ แต่ขออย่าให้หันหลังให้กับการเมือง เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงมันให้ได้ ทำให้การเมืองของเรา ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเรา เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทำให้อำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของประชาชนจริงๆ”
ขอบคุณครับ

ชัยธวัช ตุลาธน
เลขาธิาการพรรคก้าวไกล
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
22 สิงหาคม 2566

ที่มา – การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา