ค่ายมอ’ไซค์ เร่งออกรถรุ่นใหญ่ จับฐานราคา 8-9 หมื่นบาท/คัน ฝั่งลีสซิ่งรับผลดีสินเชื่อโต

มอเตอร์ไซค์ หรือ จักรยานยนต์ เรียกว่าเป็นรถพื้นฐานสำหรับคนไทย ทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 20 ล้านคัน ส่วนยอดขายมอเตอร์ไซค์ใหม่อยู่ที่ปีละ 1.5-1.6 ล้านคันต่อปี ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีหรือแย่ คนไทยยังต้องใช้มอเตอร์ไซค์กันอยู่ ซึ่งเราก็เห็นเทรนด์คนมาใช้รถบิ๊กไบค์ หรือ มอเตอร์ไซค์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

ภาพจาก shutterstock

ค่ายมอ’ไซค์ ขยันออกรถรุ่นใหญ่ ปั้นราคารถขั้นต่ำ 8-9 หมื่นบาท/คัน

วิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด บอกว่า ระยะนี้นอกจากคนไทยจะนิยมรถมอเตอร์ไซค์ที่ขนาดใหญ่ขึ้น มีซีซีสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังเห็นเทรนด์จากค่ายรถมอเตอร์ไซค์หันมาออกรถขนาดใหญ่ (150 ซีซีขึ้นไป) ซึ่งราคาขั้นต่ำ 8-9 หมื่นบาท/คัน จากเดิมที่จะเป็นรถขนาดประมาณ 110-125 ซีซี ราคาประมาณ 5 หมื่นบาท/คัน (ปัจจุบันยังมีสัดส่วนประมาณ​ 70% ของตลาดมอเตอร์ไซค์ของไทย)

“ตอนนี้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นก็ส่งผลให้มูลค่ายอดขายในตลาดอาจเพิ่มสูงขึ้น เป็นเท่าตัวก็ได้ แม้ว่าจำนวนยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ทั้งปี อาจจะอยู่ที่ 1,850,000 คันโตแค่ 1% แต่เมื่อราคาเพิ่มขึ้นก็ดีกับบริษัทลีสซิ่งอย่างเรา ซึ่งต้องเล่นกับตลาดให้เป็น เราจะขยายดีลเลอร์เพิ่มขึ้นทั่วประเทศจากที่ตอนนี้มีอยู่ 600-700 คู่ค้า มีโชว์รูมอีก 2,000 แห่ง” 

ดังนั้นแม้ว่าครึ่งปีแรก 2561 ยอดขายมอเตอร์ไซค์ใหม่ของไทยอยู่ที่ 934,747 คัน ลดลง 1.56% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และทั้งปีคาดว่ายอดขายมอเตอร์ไซค์ใหม่จะโตแค่ 1% จากปีก่อน เรามองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์เพราะมูลค่ารถที่มาขอกู้ยังสูงอยู่

ภาพจาก https://www.checkraka.com/top10/motorcycle-15-157/1350156/

ซัมมิทฯ ปรับเป้าสินเชื่อโตเดือนละ 12,000 คัน

ครึ่งปีแรกสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ของบริษัทเติบโต 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ละเดือนมีสินเชื่อใหม่เข้ามา 11,000-12,000 คัน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 คัน/เดือน ครึ่งปีหลังเราเลยปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 คัน/เดือน เฉลี่ยวงเงินสินเชื่อต่อคันอยู่ที่ 50,000 บาท

“นอกจากปรับเป้าหมายสินเชื่อเพิ่ม เราต้องเพิ่มพนักงานขายขึ้นอีก 200 คน ทำให้ภายในสิ้นปีนี้จะมีพนักงานรวม 1,600 คน โดยเราจะขยายตลาดไปที่ภาคตะวันตกซึ่งมีสินเชื่อคิดเป็น 34% ของพอร์ทสินเชื่อบริษัททั้งหมด เพราะเป็นตลาดที่โตได้อีก จากโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีกลุ่มแรงงานเยอะ มีรายได้ชัดเจน เราปล่อยสินเชื่อได้ง่าย เขาก็ต้องการมอเตอร์ไซค์ขับไปทำงาน”

กลยุทธ์หลักของบริษัทฯ ยังต้องผูกใจดีลเลอร์ ร้านขายมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ในเมือง ในท้องถิ่น เราต้องบริการให้ดีขึ้น ให้เร็วขึ้น เช่น การบอกผลอนุมัติภายใน 30 นาที ช่วยเขาทำโปรโมชั่นใหม่ๆ ฯลฯ ส่วนตอนนี้อัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 70% คงที่ระดับนี้มามาหลายปีแล้ว

ชูจุดขายปีนี้ดอกเบี้ยเช่าซื้อยังไม่ขยับขึ้น เพราะลีสซิ่งยังแข่งแรง

วิชิต บอกว่า ปีนี้เรามองว่าเทรนด์อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เป็นขาขึ้น ขณะเดียวกันต่อให้เชิงนโยบายปรับดอกเบี้ยขึ้น บริษัทฯ เราก็ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพราะในตลาดยังแข่งขันกันสูง ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.8-1.9% ต่อเดือน ยังเป็นอัตราที่แข่งขันได้

“แม้ว่าทั่วโลกจะเป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขึ้น แต่เราก็ขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะมีการแข่งขันในตลาดสูง ซึ่งในไตรมาส ปีนี้เรามองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ขึ้นเพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่เต็มที่ เขาคงอยากให้มั่นคงไปอีกสักพัก” 

ภาพจาก shutterstock

ดังนั้นการแข่งขันของธุรกิจลีสซิ่งต้องหันมาคุมเรื่องหนี้เสีย หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่มือ ทางซัมมิท ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะคุมไว้ไม่ให้เกิน 1.1% โดยเราลงทุนระบบกว่า 20 ล้านบาททำในหลายระบบ ได้แก่

  • ระบบจัดอันดับและให้คะแนนลูกค้า (Credit Scoring System) เพื่อใช้ทำนายว่า ลูกค้าแบบไหน มีประวัติ มีลักษณะแบบไหน ที่มีคุณภาพหนี้ดี ทำให้การอนุมัติมีประสิทธิภาพขึ้นและเกิดหนี้เสียน้อยลง
  • ระบบเร่งรัดหนี้สิน (collection System) เราเพิ่งเซ็นสัญญากับบริษัทต่างชาติเพื่อพัฒนาระบบติดตามหนี้ดีขึ้น
  • ระบบการทำงานผ่านมือถือให้พนักงาน เพื่อสามารถส่งข้อมูลเข้าสำนักงนใหญ่ได้เร็วขึ้น ทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา
  • พัฒนาเรื่องดิจิทัล เช่น เพิ่มช่องทางการชำระเงินค่างวดผ่านโมบายแบงก์กิ้งธนาคารพาณิชย์ บริการตัดค่างวดผ่านบัญชีได้ 

สรุป 

ค่ายลีสซิ่งจับเทรนด์บริษัทมอเตอร์ไซค์ขายรถรุ่นใหญ่ ช่วยเร่งการเติบโตสินเชื่อลีสซิ่ง ครึ่งปีหลังเลยปรับเป้าหมายสินเชื่อขึ้นเป็น 12,000 คัน/เดือน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา