รายงานผลการศึกษาจาก Morningstar นั้นชี้ให้เห็นว่ากองทุนรวมของไทยเปิดเผยข้อมูลดีกว่า สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมไปถึงฮ่องกง แต่ไทยเองยังแพ้อินเดียที่มีการรายงานเรื่องพอร์ตการลงทุนที่ไว และครบถ้วนกว่า
มอร์นิ่งสตาร์ (Morningstar) ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาประสบการณ์การลงทุนกองทุนรวมทั่วโลก หรือ Global Investor Experience ซึ่งได้จัดทำทุกๆ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 โดยรายงานของ Morningstar ได้ศึกษากองทุนรวมของประเทศที่ทำการศึกษากว่า 26 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกฎระเบียบต่างๆ การเปิดเผยข้อมูลการลงทุน ค่าธรรมเนียม การขาย ว่าเป็นมิตรต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือไม่
สำหรับเกณฑ์ในการจัดอันดับของ Morningstar คิดคะแนนจากการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมด้านต่างๆ คือ
- หนังสือชี้ชวนกองทุนรวม รวมไปถึงหนังสือชี้ชวนแบบสรุป 30%
- พอร์ตการลงทุนของกองทุนรวม 20%
- ผู้จัดการกองทุน รวมไปถึงค่าตอบแทนของผู้จัดการกองทุน 15%
- ช่องทางซื้อขายกองทุน ว่ามีความโปร่งใสต่างๆหรือไม่ 15%
- ค่าธรรมเนียม 10%
- การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน หรือ ESG 10%
อันดับของประเทศไทยนั้นกองทุนรวมของไทยอยู่ในหมวดหมู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 16 จาก 26 สำหรับกองทุนรวมของไทยจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าธรรมเนียม ความเสี่ยงของกองทุน แม้แต่พอร์ตการลงทุนของกองทุนรวมนั้นๆ
แต่สิ่งหนึ่งในรายงานได้กล่าวถึงคือเรื่องการรายงานพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมในประเทศไทยที่รายงานให้ Morningstar มีความช้าเฉลี่ยประมาณ 60 วัน ซึ่งถือว่าดีกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียคือฮ่องกงที่รายงานช้าถึง 132 วัน สิงคโปร์ 114 วัน ญี่ปุ่น 102 วัน แต่ยังแพ้เกาหลีใต้ที่ 58 วัน ไต้หวัน 17 วัน และอินเดียที่ 10 วัน
ขณะที่การพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดของกองทุนรวมในประเทศไทยถือว่าพัฒนาได้ดีต่อเนื่อง โดยในปลายปี 2021 ก.ล.ต. ได้มีเกณฑ์ที่ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทยต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมด้วย
ในรายงานของ Morningstar นั้นประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดีสุดในการเปิดเผยข้อมูลกองทุนรวมคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ขณะที่แย่ที่สุดคือออสเตรเลีย ที่มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา