กระแสรักสุขภาพยังไม่ตกง่ายๆ ยิ่งการระบาดของ COVID-19 ยังไม่หายไปไหน ผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จุดนี้เองตลาด Plant-based Food จึงเติบโตก้าวกระโดด และเป็นอีกโอกาสสำคัญของ More Meat
จากนำเข้าสู่ผลิต และทำตลาดเอง
จุดเริ่มต้นของ More Meat มาจากการนำเข้า Plant-based Meat หรือโปรตีนจากพืชของต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย แต่ด้วยความไม่เหมาะสมของวัตถุดิบ และการนำไปประกอบอาหาร ทำให้ More Meat เริ่มเห็นโอกาส และตัดสินใจทำแบรนด์ Plant-based Meat ขึ้นมาเอง
“ช่วงปีที่แล้วเรานำเข้า Plant-based Meat แบบเนื้อเบอร์เกอร์มาจำหน่ายในค้าปลีกต่างๆ แต่เวลาลูกค้าคนไทยซื้อไป เขาต้องเอาไปหั่น ยิ่งตอนทำกับข้าว ตัวรสชาติมันเข้าเนื้อได้ยาก เราจึงอยากแก้จุดอ่อนเหล่านี้ด้วยการผลิตสินค้าของเราเอง” วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด More Meat กล่าว
สำหรับช่วงแรกของ More Meat เริ่มทำตลาด Plant-based Meat ด้วยการจำหน่ายเข้าร้านอาหารมังสวิรัติ และร้านอาหารสุขภาพด้วยแพ็คเกจสินค้า 1 กก. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แต่สุดท้ายแล้วเกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ More Meat ต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดครั้งใหญ่
บุตลาดผู้บริโภคทั่วไปอย่างเป็นทางการ
“ช่วง COVID-19 ระบาดหนักๆ เราต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ เพราะร้านอาหารเหล่านั้นเปิดให้บริการไม่ได้ เราจึงตัดสินใจบุกตลาดลูกค้าทั่วไปด้วยการออกบรรจุภัณฑ์ขนาด 200 ก. และขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นกัน”
การบุกตลาดลูกค้าทั่วไปนอกจากบรรจุภัณฑ์ใหม่แล้ว More Meat ยังสร้างความแตกต่างกับตลาดด้วยการทำสินค้าลักษณะ Plant-based Meat สับละเอียดพร้อมปรุง เพราะการทำแบบนี้จะทำให้การประกอบอาหารง่าย ทำได้หลากหลาย และปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคไตที่ต้องการรับประทานโปรตีนจากพืช
“ครอบครัวของผมทำเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพมาก่อน More Meat จึงมีโรงงานผลิตที่ทำได้ 3-4 ตัน/เดือน พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อติดเครื่องธุรกิจให้เติบโต ที่สำคัญการทำตลาดของ More Meat จะชูเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ต่างกับแบรนด์อื่นๆ ที่เน้นเรื่อง Climate เพราะการบอกว่ารับประทานแล้วสุขภาพดี คนไทยน่าจะเข้าใจมากกว่า”
ได้ V Foods มาร่วมลงทุนใน More Meat
การจะเติบโตในมุม Startup นักลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดย More Meat ได้ V Foods ผู้ทำตลาด Plant-Based Food กลุ่ม Plant-based Milk ภายใต้สินค้าน้ำนมข้าวโพดเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคตของ More Meat
“ตลาด Plant-based Food จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท แต่เกือบทั้งหมดมันอยู่ฝั่ง Plant-based Milk และ Plant-based Meat มันอยู่ 10-20 ล้านบาท ดังนั้นตลาดนี้มันยังมีโอกาสเติบโตได้ เพราะกระแสสุขภาพมันยังเติบโตไม่หยุดทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก”
จากการลงทุนนี้ More Meat ได้ร่วมกับ V Foods พัฒนา “ลาบทอด” พร้อมรับประทาน เพื่อเจาะตลาดสินค้ากลุ่ม Ready to Eat นอกจาก Ready to Cook อย่างที่ทำตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้จากเม็ดเงินดังกล่าว More Meat เตรียมพัฒนาสินค้าใหม่ที่เจาะเฉพาะกลุ่ม รวมถึงการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ
ตั้งเป้า 20 ล้านบาท ส่ง More Meat ขึ้นผู้นำ
“นอกจากแบรนด์ต่างชาติที่มีการนำเข้ามาจำหน่าย แบรนด์ของประเทศไทยเองตอนนี้มีทั้งหมด 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ More Meat และปี 2564 ผมเชื่อว่าตลาด Plant-based Meat มันจะโต 30-40% เป็น 20-30 ล้านบาท ซึ่งตัวเราเองตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 20 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย”
ทั้งนี้ยอดขาย 20 ล้านบาทของ More Meat ในปี 2564 แบ่งเป็นยอดขายจากผู้บริโภคทั่วไป 80% และ 20% จากร้านอาหารต่างๆ ใกล้เคียงกับสัดส่วนเดียวกับยอดขายปี 2563 และ More Meat มีแผนทำ Contact Farming กับเกษตรกรที่ปลูก “เห็ดแครง” หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของ More Meat เช่นกัน
“ด้วย More Meat เป็นแบรนด์ไทยเจ้าแรกในการทำ Plant-based Meat กลุ่ม Ready to Eat และการนำนวัตกรรมต่างๆ มาผลิตสินค้า ทำให้โอกาสที่เราจะเป็นผู้นำในตลาดนี้ในอนาคตก็มีสูง นอกจากนี้ยังไม่มีผู้บริโภค หรือร้านอาหารมาบอกว่าราคาสินค้าของเราแพงเกินไป แต่เราก็พร้อมทำราคาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”
สรุป
ตลาด Plant-based Meat ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกไกล และส่วนตัวเชื่อว่าจะมีแบรนด์ไทย และแบรนด์ต่างประเทศเริ่มรุกตลาดนี้มากขึ้นแน่ๆ ดังนั้นต้องคอยจับตาว่า More Meat จะสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้ดีแค่ไหน และจะรักษาตำแหน่งผู้นำของตลาดได้หรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา