ขนมไหว้พระจันทร์ มีมูลค่าตลาดประมาณ 900 ล้านบาท ทั้งที่มีช่วงเวลาในการขายประมาณ 1 เดือน กลายเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ
ซื้อไปไหว้เท่าที่จำเป็น แต่ส่วนใหญ่ซื้อกิน-ซื้อฝาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มที่ซื้อไปไหว้ซึ่งจะซื้อเท่าที่จำเป็น และกลุ่มที่ซื้อไปกินและเป็นของฝากซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาไส้ของขนมไว้พระจันทร์ มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงบางรายที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปีนี้คนไทยมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวัง และราคาขนมไหว้พระจันทร์มีการปรับสูงขึ้น 5 – 10% ตามต้นทุน เช่น ราคาทุเรียน โดยกลุ่มที่เห็นว่าราคาขนมไหว้พระจันทร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากมีถึง 26% และเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ซื้อบางส่วนปรับลดปริมาณการซื้อลง ยกเว้นภาคธุรกิจที่อาจมีคำสั่งซื้อขนมไหว้พระจันทร์ฝากลูกค้าองค์กร ซึ่งกลุ่มนี้มีปริมาณการซื้อ รวมทั้งราคาเฉลี่ยต่อหน่วยค่อนข้างสูง
ผู้ซื้ออีกกลุ่มที่มาช่วยเพิ่มยอดคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะเชื้อสายจีน (จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์) ที่ชอบขนมไหว้พระจันทร์ โดยเฉพาะไส้ทุเรียน ยิ่งปีนี้เทศกาลไหว้พระจันทร์อยู่ใกล้วันชาติจีน 1 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาวของจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น คาดว่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนคน ทำให้ตลาดคึกคักมากขึ้น
สภาพตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ซับซ้อนและหลากหลาย
ปริมาณและมูลค่าการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในกลุ่มคนที่ซื้อไปไหว้ มีแนวโน้มปรับลดลงตามจำนวนคนรุ่นก่อน แต่กลุ่มนี้มีจุดเด่นคือ ปริมาณการซื้อจะคงที่ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากได้มีการปรับปริมาณการซื้อไว้เท่าที่จำเป็น สำหรับอีกกลุ่มที่เติบโตค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y ที่มีจำนวนรวมกันถึงกว่า 13 ล้านคน
กลุ่มนี้มีพฤติกรรมความต้องการความแปลกใหม่ของสินค้า และกลุ่มนี้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า แต่ก็พร้อมที่จะลดการซื้อสินค้าลงทันที หากกำลังซื้อไม่เอื้ออำนวย
ส่วนผู้ประกอบการ มีจำนวนมากขึ้น และระยะเวลาจำหน่ายประมาณ 1 เดือน กับมูลค่าตลาด 900 ล้านบาท มีทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่ผู้ซื้อจะตอบรับกับผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์รายใหม่ 3 อันดับแรกคือ 1.โปรโมชั่นที่ตรงใจ 2.ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้ประกอบการที่ทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ 3.และบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม
การปรับตัวและวางแผนสำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด รวมถึงจากผลการติดตามสำรวจพฤติกรรมผู้ซื้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ทั้งรายดั้งเดิมและรายใหม่ที่เข้ามา จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
การมุ่งเน้นไปที่ตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ นอกเหนือจากตลาดคนรุ่นใหม่ ที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นแล้ว อีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะสามารถเติมเม็ดเงินให้กับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ได้มากขึ้นเช่นกันคือ ตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะที่มีเชื้อสายจีน โดยกลยุทธ์สำหรับจับตลาดกลุ่มนี้
- เน้นบรรจุภัณฑ์ลวดลายสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะวัฒนธรรมไทยผสมผสานกับเทศกาล เพื่อให้เหมาะกับการเป็นของฝากกลับบ้านที่มีคุณค่า
- ช่องทางการจำหน่าย นอกจากในโรงแรมที่พัก รวมทั้งแหล่งช็อปปิ้งต่างๆ แล้ว อาจจำเป็นต้องวางจำหน่ายผ่านร้านค้าหรือศูนย์โอท็อปที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงร้านค้าในสนามบินหรือดิวตี้ฟรีอื่นๆ
การปรับรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การปรับขนาดขนมไหว้พระจันทร์ให้เล็กลงเหมาะสำหรับการรับประทานพอดีคำโดยไม่ต้องหั่น อาจเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก ซึ่งแม้ว่าราคาจำหน่ายต่อชิ้นอาจปรับลดลง แต่อาจชดเชยด้วยผลทางด้านปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น
การควบคุมต้นทุนสินค้า การวางแผนสต็อกวัตถุดิบโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งราคามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ผลผลิตมีความไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพอากาศ ขณะเดียวกันอาจจำเป็นต้องพัฒนาไส้อื่นๆ ให้ได้รับความนิยม เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบด้วย
การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้ประกอบการควรกระจายช่องทางการตลาดที่หลากหลาย (Omni Channel) เพื่ออำนวยความสะดวก รองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นช่องทางผ่านหน้าร้านของตนเอง ช่องทางร้านค้าปลีก รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่ต่อไปจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา