ลุ้นตลาด ขนมไหว้พระจันทร์ 800 ล้านบาท กระเตื้อง S&P โรงแรม รายย่อย ปั้นไส้ใหม่สร้างยอดขาย

จับกระแสตลาด ขนมไหว้พระจันทร์ หลัง S&P, ร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มโรงแรม และรายย่อย ต่างพัฒนาขนมไหว้พระจันทร์ไส้ใหม่ เพื่อจูงใจผู้บริโภค และกินส่วนแบ่งตลาดนี้ที่มีมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท

ขนมไหว้พระจันทร์

ขนมไหว้พระจันทร์ ที่หดตัวแรงเพราะ COVID-19

ปกติแล้ว ขนมไหว้พระจันทร์ จะมีการซื้อขายเฉพาะช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์เท่านั้น กล่าวคือช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ของทุกปี และมักจะจำหน่ายไส้เดิม ๆ เช่น ทุเรียนหมอนทอง, โหงวยิ้ง หรือเม็ดบัว เพราะกลุ่มคนซื้อหลักคือ Baby Boomer และ Generation X

แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีขนมไหว้พระจันทร์ไส้แปลก ๆ มากขึ้น เนื่องจากกลุ่ม Generation Y เริ่มมีบทบาทในการใช้จ่ายมากขึ้น และพวกเขาอาจไม่นิยมขนมไหว้พระจันทร์รสดั้งเดิม เหตุนี้เองจึงเกิดการปรับแนวคิด และเกิดผู้ผลิตหน้าใหม่ในตลาดขนมไหวพระจันทร์ จนตลาดนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขนมไหว้พระจันทร์

อ้างอิงข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า มูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี 2018 อยู่ที่ 900 ล้านบาท และปี 2019 อยู่ที่ 950 ล้านบาท แต่ในปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ตลาดนี้หดตัว 17.5% เหลือมูลค่า 800 ล้านบาท โดยพฤติกรรมการซื้อครึ่งหนึ่งเพื่อไหว้ และครึ่งหนึ่งเพื่อรับประทาน

S&P ขอแค่ยอดขายปีนี้เทียบเท่ากับปีก่อน

S&P หรือ บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท หนึ่งในผู้จำหน่าย ขนมไหว้พระจันทร์ อันดับต้น ๆ ของไทย โดยในปี 2020 มียอดขายสินค้าชนิดนี้ราว 200-300 ล้านบาท และปีนี้มีการออกไส้ใหม่คือ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมอนทองเก๋ากี้ไข่เค็มลาวา และ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมูฮ่องเต้ซอสเอ๊กซ์โอ ทำให้มีตัวเลือกรวม 14 รสชาติ (19 ไส้)

ขนมไหว้พระจันทร์

“เพื่อประคองยอดขายในช่วงที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากวางจำหน่ายไส้ใหม่ ยังมีการทำตลาดหลายช่องทางเช่นการจำหน่ายผ่านออนไลน์, การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เดลิเวอรี รวมถึงการทำโปรโมชันร่วมกับบัตรเครดิต และบริการต่าง ๆ” อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจ S&P กล่าว

ทั้งนี้การที่ร้านอาหาร, โรงแรม และผู้ค้ารายย่อย หันมาทำตลาด ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้แปลกใหม่มากขึ้น อาจช่วยประคองตลาดนี้ให้มีมูลค่าใกล้เคียง หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ส่วนจะกลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญอาจต้องรอปี 2022

ขนมไหว้พระจันทร์
ขนมไหว้พระจันทร์ของโรงแรม Conrad Bangkok

ปั้น ขนมไหว้พระจันทร์ ไปนอกเทศกาล

ขณะเดียวกัน S&P มีแผนทำตลาด ขนมไหว้พระจันทร์ ให้สามารถจำหน่ายได้ช่วงนอกเทศกาล เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งแผนดังกล่าวมีการประกาศมาตั้งแต่ปี 2017 แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเห็น ขนมไหว้พระจันทร์ ในร้าน S&P เมื่อเข้าสู่เทศกาลไหว้พระจันทร์

ผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2021 ของ S&P มีรายได้รวม 2,214 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 9% เนื่องจากโรค COVID-19 ยังระบาดต่อเนื่อง แต่มีกำไรสุทธิ 123 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 78 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ S&P รายเดียวที่พยายามทำ ขนมไหว้พระจันทร์ ให้มีรสชาติตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะมีทั้ง Starbucks (จ้าง S&P ผลิต), โรงแรม 5 ดาวชั้นนำ เช่น InterContinental และ Mandarin Oriental รวมถึงร้านเบเกอรี เช่น MX Cakes & Bakery แม้ราคาจะค่อนข้างสูง แต่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่าย

สรุป

ขนมไหว้พระจันทร์ จะเป็นขนมที่ทุกคนซื้อทานนอกเทศกาลหรือไม่ อันนี้อยู่ที่ผู้บริโภคตัดสินใจ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า หากพัฒนา ขนมไหว้พระจันทร์ ให้มีรสชาติ และขนาดที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีอำนาจในการตัดสินใจซื้ออาหาร โอกาสที่ ขนมไหว้พระจันทร์ จะจำหน่ายนอกเทศกาลได้จริงก็มีสูง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา