Moody’s ปรับแนวโน้มเครดิต ไม่ใช่แค่มุมมอง แต่สะท้อนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าเดิม

Moody’s ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตไทยจาก Stable เป็น Negative ไม่ใช่แค่การให้มุมมองหรือ Outlook แต่เป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลไทย

แม้จะคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับเดิมคือ Baa1 เช่นเดียวกับ Foreign Currency Commercial Paper Rating ที่ระดับ P-2 ก็ตาม

Thailand economic

สาเหตุสำคัญที่ปรับมุมมองต่อแนวโน้มเครดิตเป็น Negative รอบนี้ มาจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานะการคลังอ่อนแอลง โดยเฉพาะหลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ส่งผลกระทบต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก

มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจเปิด มีการฟื้นตัวที่เปราะบางตั้งแต่หลังช่วงโควิด

การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตรอบนี้ แตกต่างจากการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative รอบก่อนที่เกิดขึ้นช่วงธันวาคม 2551 (ปี 2008) ในช่วงวิกฤต Subprime มี 2 จุดด้วยกัน

1) เศรษฐกิจไทยปี 2551-2552 (ปี 2008-2009) ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก หลังจากวิกฤต Subprime คลี่คลายลง หรือประมาณ 22 เดือนหลังจากนั้น Moody’s ก็ปรับแนวโน้มกลับมาที่ Stable ในเดือนตุลาคม 2553 (ปี 2010)

2) ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำ แม้ช่วงนั้นรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังที่ทำให้ยอดขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับหนี้สาธารณะไทยยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นประมาณ 4.3% จาก 35.0% ของจีดีพี ณ กันยายน 2551 มาที่ 39.3% ของจีดีพี ณ ตุลาคม 2553

ส่วนรอบนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปที่เดือนเมษายน 2563 (ปี 2020) ที่แนวโน้มอันดับเครดิตไทยปรับลดจาก Positive มาที่ Stable ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังโควิดระบาด

ก่อนจะตามมาด้วยรอบล่าสุดนี้ (28 เมษายน 2568) มีการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตลงมาที่ Negative เพิ่มปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากการปรับภาษีนำเข้าของทรัมป์, ความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลไทย

ภาพที่ไทยถูกจับตาเป็นพิเศษ มีการทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตลงต่อเนื่อง

  • จาก Positive เดือนกรกฎาคม 2562 (ปี 2019)
  • เป็น Stable เดือนเมษายน 2563 (ปี 2020)
  • เป็น Negative เดือนเมษายน 2568 (ปี 2024)

ใช้เวลาเกือบ 6 ปี ย้ำถึงปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลากยาวขึ้นกว่าเดิม มีเงื่อนไขซ้ำเติม คือตัวช่วยทางการคลังมีสัญญาณที่จำกัดมากกว่ารอบก่อน จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ขยับขึ้นแตะระดับ 64.2% ต่อจีดีพี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568

ตลาดการเงินไทยตอบรับข่าวการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือเป็น Negative รอบนี้ ค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจัยอื่นมีผลมากกว่า เช่น ทิศทางเงินดอลลาร์ ได้รับผลกระทบจากเรื่องสงครามการค้า สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติสลับมาอยู่ในฝั่งไหลเข้าสุทธิรับมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% มาที่ 1.75% เมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา

มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตไททยด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน ผลกระทบจะเริ่มชัดเจนขึ้น เพราะประเด็นนี้เป็นหนึ่งในสัญญาณที่ย้ำว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางลงมาก

ผลกระทบที่เป็นไปได้คือ

อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก การปรับมุมมองหรือทบทวนอันดับเครดิตรอบก่อนสะท้อนว่ายังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อทิศทางเงินบาทมากกว่า

โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยนโยบาย สถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ ดังนั้น คาดว่า เงินบาทในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบค่อนข้างกว้าง ประมาณ 33.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาจไม่ได้รับอานิสงส์ของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ แม้ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

Credit Spread สำหรับหุ้นกู้เอกชน มีโอกาสแพงขึ้น ตามที่ปรากฎในกลุ่มอันดับ BBB ท่ามกลางภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย อยู่ในภาวะหีกเลี่ยงความเสี่ยง ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในการระดมทุนด้วยหุ้นกุ้ ทำให้โอกาสที่จะได้เม็ดเงินระดมทุนตามที่คาดหวังลดลง

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา