รู้จัก “มนตรีทรานสปอร์ต” บริษัทรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีรายได้เกือบ 600 ล้านบาท

“มนตรีทรานสปอร์ต” คือหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทางชั้นนำ แถมดำเนินงานมา 49 ปี มีแผนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และรายได้ในปี 2561 ถึง 594 ล้านบาท ดังนั้นลองมาศึกษากลยุทธ์ของธุรกิจนี้กัน

มนตรีทรานสปอร์ต
มนตรีทรานสปอร์ต

เริ่มต้นจากรถตู้เพียงหนึ่งคัน กับโรงเรียนนานาชาติ

ก่อนหน้านี้ธุรกิจรถรับส่งไม่ประจำทางนั้นเป็นธุรกิจบ้านๆ แถมยังให้บริการแบบไม่มีมาตรฐานกลาง แต่นั่นคือจุดอ่อนที่ “อรนุช พณิชากิจ” ผู้ก่อตั้งมนตรีทรานสปอร์ตเมื่อปี 2513 กับรถตู้เพียงหนึ่งคันของเธอเห็น และตัดสินใจยกระดับธุรกิจนี้ผ่านการบุกตลาดโรงเรียนนานาชาติเต็มตัว

ซึ่งตอนนั้นเธอดำเนินธุรกิจในนามบุคคล ก่อนขึ้นมาจดทะเบียนเป็น บริษัท มนตรีทรานสปอร์ตเตชั่น จำกัด ในปี 2525 โดยช่วงเวลานั้นมีทั้งโรงเรียนนานาชาติ และองค์กรญี่ปุ่นมากมายเลือกใช้ผู้ให้บริการขนส่งไม่ประจำทางรายนี้ ยิ่งในปี 2534 ทางภาครัฐอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนนานาชาติได้อย่างอิสระ ตัวธุรกิจนี้ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด

มนตรีทรานสปอร์ต
รถตู้ที่มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งของมนตรีทรานสปอร์ต

เพราะความน่าเชื่อถือในเรื่องความปลอดภัยผ่านการให้บริการมานาน ประกอบกับการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย, ติดตั้งวิทยุสื่อสาร รวมถึงตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับก่อนออกทำงานทุกครั้ง จึงไม่แปลกที่จะมีโรงเรียนนานาชาติมากมายเลือกใช้ แม้อัตราค่าบริการจะสูงกว่าเจ้าอื่นในขณะนั้นหลายเท่าตัวก็ตาม

เติบโตจนเตรียมแต่งตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ขณะเดียวกันจากการเติบโตนี้เอง “มนตรีทรานสปอร์ต” จึงเตรียมแต่งตัวเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในปี 2548 พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.มนตรีทรานสปอร์ต คอร์ปอเรชั่น และมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท (ชำระแล้ว 75 ล้านบาท) แต่สุดท้ายแผนเข้าจดทะเบียนก็พับไป

มนตรีทรานสปอร์ต
รายได้ของมนตรีทรานสปอร์ต

เนื่องจากปี 2549 มีปัญหาทางการเมืองมากมาย และสถานการณ์ก็ยังไม่นิ่งจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยการขยายธุรกิจที่มากกว่าการรับส่งให้กับโรงเรียนนานาชาติ เช่นการรับส่งพนักงาน และบริการรถเช่าทั่วไป ก็ทำให้มนตรีทรานสปอร์ตขยายอาณาจักรขึ้นมาจนมีรายได้ 594 ล้านบาทในปี 2561 โดยเติบโตหลัก 40 ล้านบาทมาตลอด 2 ปี

ธุรกิจรถรับส่งไม่ประจำทางที่อาจไม่ง่ายเหมือนในอดีต

ในทางกลับกันธุรกิจรถรับส่งไม่ประจำทางนั้นก็ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะมีธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นมามากมาย ประกอบกับการพัฒนาเรื่องคุณภาพ และความน่าเชื่อถือก็ใช้โมเดลคล้ายกับมนตรีทรานสปอร์ต เช่น ATP30 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีรายได้กว่า 350 ล้านบาทในปี 2560 ผ่านการรับส่งนักท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ

สรุป

“มนตรีทรานสปอร์ต” เป็นชื่อที่คนขับรถบนท้องถนนในกรุงเทพฯ นั้นคุ้นเคยมานาน เพราะต้องมีเห็นรถตู้ หรือรถบัสสีขาวพร้อมแถบแดง-ดำกันบ้างล่ะ แต่กว่าจะถึงจุดนี้มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยเรื่องคุณภาพ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งมนตรีทรานสปอร์ตน่าจะทำได้ค่อนข้างดีจึงสามารถเติบโตได้ในโลกปัจจุบัน

อ้างอิง // มนตรีทรานสปอร์ต, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ผู้จัดการ360, รายการเป็นเงินเป็นทอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา