เปิดที่มารายได้วัด เม็ดเงินวงการผ้าเหลืองมาจากไหนกันบ้าง?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในทุกวงการอาชีพ มักจะเกิดข้อครหาต่อความถูกต้อง จรรยาบรรณ ในอาชีพนั้นจากคนนอกวงการอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาชีพที่เป็นที่จับตามองของสังคม หนึ่งในนั้น คือ วงการสงฆ์ ที่เรามักจะมีเรื่องอื้อฉาวให้เราได้ยินกันในแทบทุกปี โดยเฉพาะเรื่องของเม็ดเงินในวงการสงฆ์ ที่เรามักจะคิดว่ารายได้ของวัดคงมาจากความใจบุญสุนทาน ของเหล่าญาติโยมที่มาถวายปัจจัย 

แต่นั่นอาจไม่ใช่ทั้งหมดของรายได้จริงๆ ที่วัดได้รับในแต่ละเดือน แต่ละปี ลองมาสอดส่องกันดูว่า วัดมีรายได้มาจากแหล่งไหนกันบ้าง และวัดมีการจัดการปัจจัยเหล่านี้ยังไงให้เหมาะสม

อ้างอิงจากบทความวิชาการในหัวข้อ ‘การจัดการเงินและทรัพย์สินของวัด’ ของ พระใบฎีกาสุชินนะ อนิญฺชิโต อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ วิทยาลัยสงฆ์เพชรบุรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ตีพิมพ์ใน วารสาร มจร การพัฒนาสังคม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2563

อย่างที่เราทราบกันดีว่า วัด เป็นสถานที่ที่ผู้คนมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อต้องการบริจาค ทำบุญ หากจะบอกว่าได้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ของวัดมาจากการบริจาคก็คงไม่ผิดนัก แต่ทว่ารายได้ของวัดก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบริจาคเพียงอย่างเดียว แล้วจะมาจากอะไรบ้าง มาดูกัน

  • รายได้จากตู้รับบริจาค

หากเดินเข้าไปในวัดทั่วๆ ไป เราคงคุ้นเคยกับภาพของตู้รับบริจาค เพื่อจุดประสงค์นั้นนี้ ตามแต่จะระบุไว้บนหน้ากล่อง ไม่ว่าจะบริจาคเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาเอง อย่างการดูแลซ่อมแซมอาคารต่างๆ ค่าน้ำค่าไฟของวัด หรือจะเป็นการบริจาคเพื่อผู้อื่น อย่างเด็กกำพร้า เด็กยากไร้ ผู้พิการ 

แต่หลายครั้ง เราก็ได้เห็นตู้บริจาคกับคำอธิษฐานบนตู้แสนล่อตาล่อใจ อย่าง “ขอให้สบายนั่งกินนอนกิน” “ขอให้มีความสุข” “ขอให้ได้มรดก” ไปจนถึงคำอธิษฐานที่เห็นแล้วได้แต่เกาหัว อย่าง “ขอให้ลูกไม่ดื้อ” “ขอให้ได้สมบัติของคนอื่น” “ขอให้พ่อตาแม่ยายรัก” ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องทางโลก จนเกิดคำถามถึงการตั้งตู้บริจาคแบบนี้ว่า ถ้าหัวใจของการบริจาคคือการให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน หรือหวังกลับมาเป็นความสบายใจ แล้วตู้บริจาคที่หวังผลเรื่องทางโลกเหล่านี้ วัดสามารถเป็นผู้เสนอต่อเหล่าญาติโยมที่มาทำบุญเสียเองนั้นเหมาะสมหรือไม่

  • รายได้การทอดกฐินประจำปี

กิจกรรมทางศาสนาที่เราได้ยินชื่อกันบ่อยๆ อย่าง ‘ทอดกฐิน’ คือการถวายผ้ากฐิน ประกอบไปด้วย ผ้าไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น ในช่วงแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือจำง่ายๆ คือหลังออกพรรษา 1 เดือนนั่นเอง ด้วยความพิเศษที่สามารถจัดได้เพียงปีละครั้ง ทำให้เชื่อว่าเป็นงานบุญครั้งใหญ่ของปี

  • รายได้การทอดผ้าป่าตามเทศกาล

หลักใหญ่ใจความของการทอดผ้าป่า ไม่ต่างจากการทอดกฐินเท่าไหร่นัก แต่ต่างกันตรงที่ การทอดผ้าป่าสามารถทำได้ทั้งปี โดยวัดมักจะจัดงานทอดผ้าป่าตามวันสำคัญต่างๆ ตามเทศกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น

  • รายได้การอบรมปฏิบัติธรรม

ปกติแล้ว ทางวัดจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกิจกรรมนี้ แต่ในเมื่อทุกกิจกรรมมีต้นทุน ทางผู้เข้าร่วมอบรบมักจะบริจาคปัจจัยให้วัดเมื่อจบการอบรม เป็นเหมือนสินน้ำใจตอบแทน หรือบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ค่าน้ำค่าไฟวัด ช่วยชำระหนี้สงฆ์ เป็นต้น

  • รายได้การบริจาคทั่วไป

เวลาญาติโยมมาวัด ถวายปัจจัยตามโอกาสต่างๆ 

  • รายได้จากการฝากเงินหรือลงทุน

เงินที่เป็นรายได้ของวัด สามารถนำไปฝากกับสถาบันการเงินเหมือนกับการฝากเงิน ออมเงิน ของคนทั่วไปได้ รายได้อาจมาจากดอกเบี้ยเงินฝาก หรือการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ อย่าง พันธบัตรรัฐบาล ก็สามารถทำได้เช่นกัน

  • รายได้จากการตั้งซุ้มจำหน่ายสินค้าของวัด

ไม่ว่าจะเป็นของที่ระลึก หรือ ของที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ธูป เทียน ดอกไม้ เป็นต้น ต้องดำเนินการซื้อขายโดยเจ้าหน้าที่ของวัด รวมไปถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่ายในส่วนนี้ด้วย

  • รายได้จากการจัดผลประโยชน์ทรัพย์สิน

ว่ากันง่ายๆ คือการที่วัดให้เช่าอาคาร สถานที่ โดยต้องทำนิติกรรมสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีการเสียภาษีโรงเรือนเช่นกัน เหมือนกับเวลาเราให้เช่าสถานที่ไม่มีผิด ต้องมีการดูแลให้อยู่ในสภาพดี ระมัดระวังไม่ให้นำไปใช้ผิดประเภท ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมอันดี หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญกับบุคคลอื่น 

นอกจากนี้ยังมีรายได้จาก การให้เช่าสถานที่สำหรับบริการประชาชน อย่าง ศาลา อาคารอเนกประสงค์ หรือห้องประชุม เป็นต้น

  • รายได้อื่น ๆ ของวัดที่พึงบังเกิดมี

เรามักได้เห็นหลายวัดตกแต่งอย่างสวยงาม มีกิจกรรมต่างๆ มากมายนอกเหนือจากแค่การไหว้พระ จนเป็นกึ่งๆ สถานที่ท่องเที่ยว ในจุดนี้เองที่ทำให้วัดมีรายได้จากการบริการอื่นๆ เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำ เป็นต้น เลยทำให้เราได้เห็นวัดหลายแห่ง กลายเป็นแลนด์มาร์กในการท่องเที่ยวในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นๆ ไปด้วย

จากทั้งหมดทั้งมวล เราได้เห็นกันแล้วว่า รายได้ของวัดมาจากหลายทิศหลายทาง แล้วคำถามที่ตามมา คือ วัดจะจัดการกับรายได้เหล่านี้ยังไง?  

จากบทความวิชาการ ‘การจัดการเงินและทรัพย์สินของวัด’ ชิ้นเดิม ในหัวข้อ ‘การจัดการเงินและทรัพย์สินของวัดในปัจจุบัน’ ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เจ้าอาวาสของวัดนั้นเนี่ย จะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความเหมาะสม คอยจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ นี้ให้ โดยการแต่งตั้งก็ใช่ว่าจะว่ากันปากเปล่า แต่งตั้งลอยๆ ต้องมีหนังสือแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน โดยสามารถแต่งตั้งผู้จัดการเม็ดเงินส่วนนี้ได้ ดังนี้

  •  แต่งตั้งไวยาวัจกรเป็นผู้จัดประโยชน์ ส่วนมากจะเป็นวัดที่รายได้คงที่และไม่ได้มีรายได้มากนัก โดยจะทำหน้าที่ดูแลยนิตยภัต ขออธิบายอย่างกระชับว่า นิตยภัค คือ ค่าภัตตาหาร (ภาษาอังกฤษคือ Monthly Food Allowance) เบิกจ่ายโดยกรมการศาสนาเป็นรายปี จุดประสงค์ก็เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งก็มีการปรับปรุงอัตรานิตยภัตให้เหมาะสมกับสภาวะของเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงมาตลอด แต่ทั้งนี้ ไวยาวัจกร ทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินในส่วนนี้เท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจไปกำกับดูแลในทรัพย์สินอื่นใดของวัด หากมีความจำเป็นต้องทำ ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าอาวาสเท่านั้น
  • แต่งตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้จัดประโยชน์ 
  • แต่งตั้งมูลนิธิเป็นผู้จัดประโยชน์ โดยต้องเป็นมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันเท่านั้น
  • แต่งตั้งคณะกรรมการเป็นผู้จัดประโยชน์ ในส่วนนี้เป็นดุลพินิจของเจ้าอาวาส หากจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ต้องประกอบด้วย 2 คนขึ้นไป กำหนดขอบเขตหน้าที่ให้ชัดเจน

 

ในทางทฤษฎี ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะถูกจัดการอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงล่ะ ทุกวัดสามารถจัดการตามนี้ได้จริงหรือเปล่า? ลองมาดูข้อมูลจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้ให้ข้อมูลไว้ในรายการจาก ‘คิดยกกำลังสอง: วัดไทย บริหารเงินอย่างไร?’ จากช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2017 

ดร.สมเกียรติบอกว่ามีวัดที่มีการตรวจสอบบัญชีมีเพียง 59.8% เท่านั้น โดยจำนวนนี้แบ่งเป็น วัดที่ทำบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน มี 74.3% ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่ดูดี แล้วขยับมาที่การทำรายงานการเงินทุกเดือนบ้าง กลับเหลือเพียง 25.6% เท่านั้น นั่นหมายความว่าวัดอีกเกือบครึ่ง ไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีหรือเปล่านะ? ส่วนวัดที่ทำรายงานการเงินตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 มีเพียง 3.7% เท่านั้น 

เหมือนกับว่าแต่ละวัดต่างมีวิธีจัดการรายได้ในรูปแบบของตัวเอง แม้จะมีข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แล้วก็ตาม ทำให้เราพอเห็นภาพแล้วว่า เมื่อแต่ละที่ต่างจัดการในรูปแบบของตัวเอง อาจทำให้บรรทัดฐานเลือนลางไป จนเกิดช่องโหว่ที่รายได้ของวัดนั้น อาจถูกขยับย้ายไปสู่กระเป๋าอื่นๆ แทนที่จะเป็นเงินที่ถูกเก็บไว้เพื่อนใช้ประโยชน์โดยรวมของทางวัดอย่างที่ควรจะเป็น 

 

อ้างอิง

https://tdri.or.th/2017/02/thinkx2-184/
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JMSD/article/download/248073/168146/874755 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา