คุยเรื่องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลาย กับ Monica Bauer รองประธานฝ่ายกิจการองค์กร PepsiCo

คุยเรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลาย และการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิง กับ Monica Bauer รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรของ PepsiCo บริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก

ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อมคือเรื่องใหญ่ที่แบรนด์มากหน้าหลายตาให้ความสำคัญกันมากขึ้น PepsiCo ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก คือหนึ่งในบริษัทที่มีแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจนและที่สำคัญคือมีเป้าหมายที่มุ่งมั่น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ใช้น้ำสุทธิเป็นบวก (Net Water Positive)  หรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น

แน่นอนว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แบรนด์ต้องกำหนดแผนปฏิบัติอย่างจริงจัง Brand Inside ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับคุณ Monica Bauer รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรของ PepsiCo มีหน้าที่ดูแลหลายตลาดทั้งเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกา มีผลงานโดดเด่นในด้าน Women Empowerment เป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “A Woman’s Guide to Power, Presence and Protection: 12 Rules for Gaining the Credit, Respect and Recognition You Deserve”   ซึ่งวันนี้เธอจะมาเล่าให้เล่าฟังว่า ปัจจุบัน PepsiCo วางแผนสู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

Monica เริ่มบทสนทนาชวนให้เราเห็นภาพกว้าง ๆ ว่า ตอนนี้ PepsiCo กำลังผลักดันแผน pep+ (หรือ PepsiCo Positive) เปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงข้อจำกัดทรัพยากรโลก ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์แบบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2030 และใช้น้ำสุทธิเป็นบวก (Net Water Positive) ภายในปี 2040 รวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น

PepsiCo
Monica Bauer รองประธานฝ่ายกิจการองค์กร PepsiCo

โครงการ pep+ ประกอบด้วย 3 เสาหลักด้วยกัน นั่นก็คือ การเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture) ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (Positive Value Chain) และทางเลือกเชิงบวก (Positive Choices) เธออธิบายเรื่องของการเกษตรเชิงบวกต่อไปว่า “จริงๆ แล้วเราก็เป็นบริษัทด้านการเกษตร” โดยสินค้าของเราส่วนใหญ่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาแปรรูป อย่างในไทยก็มีการซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยกว่า 100,000 ตันทุก ๆ ปี โดยทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยกว่า 4,000 คน 

เป้าหมายของเสาหลักนี้ก็คือปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเราทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และปรับปรุงการผลิตให้มีความยั่งยืน ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เธอยกตัวอย่าง การที่ PepsiCo  ทำงานกับเกษตรกร มีการช่วยสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกร มีการแบ่งปันเทคโนโลยีเช่นการจัดการน้ำและแปลงซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตให้พวกเขาได้จาก 1.5 ตันต่อไร่ เป็น 4 ตันต่อไร่ แต่ก็สามารถลดน้ำที่เหลือทิ้งสูญเปล่าได้ และรับซื้อผลผลิตทั้งหมดที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ในราคาที่ตกลงกันไว้ รวมไปถึงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ GIZ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลเยอรมนี เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือในการสนับสนุนการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของเกษตรกร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ใช้แนวทางการเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่มีการเพิ่มพูน ความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต และลดระดับการทำลายระบบนิเวศน์

เธอเล่าถึงอีก 2 เสาหลักให้ฟังว่า ในด้านห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก PepsiCo มีการตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2040 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ PepsiCo มุ่งมั่นที่จะบรรลุก่อนกรอบเวลาที่ระบุในข้อตกลงปารีส 10 ปี เป้าหมายในการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก หรือการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และไม่มีเหลือทิ้ง (Net Water Positive)  ภายในปี 2030 และรวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น พร้อมผลักด้านทางเลือกเชิงบวกพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อมนุษยชาติมากขึ้น (เช่น ถั่วและเมล็ดพืช) รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้น้ำตาลและโซเดียมมากขึ้น  

Monica ชวนให้นึกภาพว่า PepsiCo จะผลิตเลย์ที่ใช้มันฝรั่งที่ปลูกแบบยั่งยืน บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ผ่านการผลิตแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)และใช้น้ำสุทธิเป็นบวก มีโซเดียมต่ำในตลาด เธอบอกว่านี่ก็คือภาพโมเดลที่เธออยากจะยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และด้วยความที่ PepsiCo คือบริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก มีแบรนด์ในมือจำนวนมาก เธอบอกว่า ทางบริษัทมุ่งมั่นจะทำแบบนี้ในทุกผลิตภัณฑ์

เราตั้งคำถามกับ Monica ว่า อะไรคืออุปสรรคของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาผลักดันโครงการในประเทศไทย (และในแต่ละประเทศจากภูมิภาคอันหลากหลายทั่วโลก) เธอตอบอย่างชวนคิดว่า ที่จริงเธอพยายามมอง PepsiCo ในแต่ละประเทศเป็นบริษัทท้องถิ่น 

อย่างในประเทศไทย PepsiCo จ้างงานคนไทยกว่า 10,000 คน รวมถึงทำงานกับเกษตรกรไทยกว่า 4,000 คน มีโรงงานในประเทศไทยถึง 4 แห่ง PepsiCo จึงพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองแบบคนท้องถิ่นจริง ๆ ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็เช่น เลย์มีการผลิตรสชาติที่มีเฉพาะในไทย ไปจนถึงการปั้นแบรนด์ตะวัน (Tawan) ที่มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

Monica แชร์ให้เราฟังอีกหนึ่งเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่เธอสนใจผลักดันอย่างยิ่งนั่นคือ ความหลากหลายในที่ทำงาน เธอเล่าว่า ความหลากหลายนำมาซึ่งนวัตกรรม และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในท้ายที่สุด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ว่าตั้งเป้าหมายว่าจะจ้างพนักงานในระดับสูงในสัดส่วนที่เพศชายเท่ากับหญิงแล้วจบไป แต่ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนตั้งแต่สรรหาจนถึงรักษาพนักงานเอาไว้ เช่น ต้องสร้างวัฒนธรรมดึงดูดให้ผู้หญิงมาสมัคร มีแนวทางพัฒนารวมถึงสร้างสวัสดิการตอบโจทย์พนักงานที่หลากหลาย

หลายเป้าหมายของโครงการ pep+ เอาเข้าจริงก็ค่อนข้างเป็นภาพระยะยาว ซึ่ง Monica สร้างความกระจ่างให้เราว่า แม้หลายอย่างจะเป็นสิ่งที่จะได้เห็นในระยะ 10 หรือ 20 ปี แต่เอาเข้าจริง PepsiCo มองว่าแผนเหล่านั้นเป็นเหมือนการเดินทางที่มีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ลดจาก 100 เหลือ 0 ในปี 2040 แค่ปีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ในปีนี้ คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 25% และลดการใช้น้ำได้ 18% เพราะแน่นอนว่าในการไปถึงเป้าหมายที่มุ่งมั่นนี้ก็จำเป็นต้องรอปลดล็อกเทคโนโลยีบางตัวก่อน

ประเด็นอย่างหนึ่งที่ PepsiCo ต้องเจอคือการตกเป็นเป้าของสื่อในประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้ Monica ให้มุมมองกับเราไว้ได้น่าสนใจ โดยเธอชี้ว่า ที่จริง PepsiCo ค่อนข้างผลักดันหลายสิ่งออกมาอย่างที่ได้พูดไปก่อนหน้าแถมหลายเรื่องก็เป็นที่ยอมรับโดยหลายภาคส่วน แต่เธอก็ทราบดีว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องทำ PepsiCo ก็จะเดินหน้าทำอย่างเต็มกำลังและร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายเพราะแน่นอนว่าความท้าทายนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาซับซ้อนที่ทั้งสังคมต้องเผชิญ และก็จะทำงานร่วมกัน

Monica ทิ้งท้ายเรื่องของธุรกิจในวิกฤติสิ่งแวดล้อมว่า หลายคนอาจจะมองเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเป็นต้นทุน แต่ที่จริงแล้วหลายครั้งหลายหน สิ่งเหล่านี้กลับช่วยให้ธุรกิจประหยัดได้มากขึ้น เธอยกตัวอย่างว่า ถ้าเรามีโรงบำบัดน้ำที่ดีเราก็จะประหยัดน้ำ ถ้าเราติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เราก็จะประหยัดค่าไฟ หรือถ้าเราใช้รถยนต์ไฟฟ้าบางครั้งเราก็จะได้เงินสนับสนุนจากรัฐ และสิ่งที่สำคัญคือการผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราอยู่ใกล้กับผู้บริโภคมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา