วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับบทเรียนและผ่านวิกฤตไปด้วยการเรียนรู้ที่จะจัดการกับการ “บริหารความเสี่ยง” แล้ววิกฤตโควิด-19 ที่เราพบเจอจะทำให้ประชาชนอย่างเราๆ คงได้ตระหนักถึงบทเรียนอะไรที่นำมาปรับกับชีวิตเราอย่างไรในอนาคตหลังจากนี้บ้าง
วิกฤตการเงินปี 2540 ที่มีการลดค่าเงินบาท การล้มของภาคธุรกิจขนาดใหญ่และส่งผลต่อสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้ได้รับบทเรียนที่ล้ำค่าว่า ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของ ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือการต้องมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจโดยไม่กู้เงินจนเกินตัว ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นโครงสร้างเงินทุนของสถาบันการเงินหรือธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ และได้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นในคราวนี้สำหรับหลายองค์กรที่มีประสบการณ์และมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่ยังพอต้านทานผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะว่าไปขนาดเตรียมกันแล้วยังเหนื่อยเลย เมื่อเจอกับวิกฤตที่เคยเจอกันขนาดนี้ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจหลังจากนี้คงต้องเข้มข้นยิ่งขึ้นกันไปอีก
สำหรับประชาชนอย่างเราๆ ซึ่งก็คงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้ามากบ้างน้อยบ้างว่ากันไป จะต้องมีการปรับตัวอย่างแน่ๆ เพราะวิกฤตครั้งนี้คงให้บทเรียนที่หนักหนาเอาการ รายได้ที่เคยได้มาเรื่อยๆ แต่พอมีวิกฤตกลับหายไปดื้อๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้มีความระแวดระวังในการใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจ พอมีเงินก็เอามาใช้จ่ายสร้างความสุขกันก่อนหรือถ้าไม่มีก็กู้ยืมมาใช้โดยไม่ต้องสนใจกับการเก็บออมหรือสำรองในยามจำเป็น ดังนั้นเราจึงควรถือโอกาสเอาเวลานี้มาปรับมุมมองต่อชีวิตและอนาคตของเราเองด้วย
เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนคงตระหนัก หลังวิกฤตโควิด-19 ก็คือคงต้องสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตมากขึ้นในทุกๆด้านที่พอทำได้ โดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านการเงินทั้งด้านสภาพคล่องและการมีแหล่งลงทุนเสริมที่สร้างรายได้ให้กับเรา เพราะใครจะไปรู้ว่าวิกฤตมันเป็นไปได้ขนาดนี้
เงินสดสำรอง ที่เคยบอกกันว่าให้เตรียมไว้เป็นเผื่อใช้ฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่พอเจอวิกฤตโควิด-19 ที่ตอนนี้เจอกันไปแล้ว 2-3 เดือนหรือมากกว่าสำหรับผู้ที่อยู่ในบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว อาจลากยาวหรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจลากเป็นปี ดังนั้นกลายเป็นว่า เงินสดสำรองในอนาคตอาจต้องมีเผื่อไว้เป็นปีเพื่อให้มีไว้ใช้สำรองได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หากเจอวิกฤตแบบนี้อีกในอนาคต
การออมเงินที่เราฝากกับธนาคาร เราคงจะเจอกับสภาวะดอกเบี้ยต่ำติดดินไปอีกยาวนาน ทั้งนี้เป็นผลจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการเติบโต ซึ่งเราก็พบเห็นกันทุกครั้งที่ทุกประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าใครหวังจะให้เงินออมเติบโต ด้วยการฝากธนาคารกินดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวก็ลองหาข้อมูลดูได้เลยครับว่า ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เราไม่ได้เจอสภาวะดอกเบี้ยสูงมานานแล้วและคงเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าฝากเงินแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่ทางเลือกของการออมเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตอีกต่อไป
การลงทุนในตลาดหุ้นจะเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญยิ่งขึ้นสำหรับคนทั่วไปในอนาคตที่ต้องแสวงหาผลตอบแทน เพราะถึงแม้ตลาดหุ้นจะมีความผันผวน แต่ก็สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ดูจากตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตลาดหุ้นทรุดไปเกือบร้อยละ 30 และขณะนี้ประเทศก็ยังไม่ได้ฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 แต่ตลาดหุ้นกลับสวนดีดกลับมาเกือบจะเท่าจุดสูงสุดเดิมก่อนหน้ามีวิกฤตโควิด-19 แล้ว ซึ่งในเดือนมี.ค. – เม.ย. ที่ผ่านมา สำหรับตลาดหุ้นไทยเรา พบว่ามีการเข้ามาเปิดบัญชีหุ้นของนักลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อหวังเข้าลงทุนในตลาดหุ้นชั้นดีหลายตัวมีราคาตกต่ำในช่วงวิกฤต ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่เตรียมตัวหาความรู้มาดี ก็น่าที่จะพลิกวิกฤตนี้เป็นโอกาสให้กับตัวเองได้
ดังนั้น ถ้าไม่อยากเสียเปรียบทางด้านโอกาสการลงทุน เพื่อหาผลตอบแทน จึงเป็นเรื่องจำเป็นไปแล้วที่ทุกคนต้องรู้จักหาความรู้กับการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อรู้จักบริหารเงินออมของตัวเองให้เหมาะสม วิกฤตรอบนี้จึงเปิดโอกาสให้เราฉุกคิด เพื่อปรับทัศนคติและวิธีการดำรงชีวิตใหม่ โดยหวังว่าทุกคนควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเงินของเราในอนาคตให้มากขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอน…ที่จะคงอยู่กับเราอย่างแน่นอนเสมอ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา