เช็ก 10 อาการของโรคทางการเงินที่คุณอาจเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัว

เงินเป็นได้ทั้งขนมหวานและยาขม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารมันให้ดี หรือปล่อยให้มันมีอิทธิพลเหนือชีวิตเรา 

ปัญหาการเงิน

Brad Klontz และ Ted Klontz สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือ Mind over Money : Overcoming the Money Disorders That Threaten Our Financial Health เล่าว่า ปัญหาทางการเงินต่างๆ มักเกิดจาก 10 อาการหลักด้วยกัน

ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้ไหม ?

1. อาการสั่งให้สมองลืมปัญหาทางการเงิน

คนที่มีอาการนี้จะพยายามอย่างมากเพื่อลืมว่าตอนนี้ตัวเองมีปัญหาทางการเงินอยู่ เช่น แม้จะมีหนี้บ้านหรือหนี้บัตรเครดิตมากแค่ไหนก็จะใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยต่อไป โดยลืมคิดว่าต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาชำระหนี้เป็นประจำทุกเดือน ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาบ่อยๆ คือจ่ายหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด

2. อาการชอบโกหกและปกปิดเรื่องเงิน

โรคนี้มักนำมาสู่ปัญหาครอบครัว เพราะผู้เขียนพบว่าสามีภรรยาหลายๆ คู่มักปกปิดปัญหาการเงินที่ตัวเองมีอยู่ แต่พอปัญหาทางการเงินลุกลามก็สร้างความเสียหายมากเกินกว่าที่เจ้าตัวจะรับไหว ซึ่งอาจนำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้งและการหย่าร้างกันในที่สุด

3. อาการใจอ่อนทุกครั้งเมื่อคนมาขอยืมเงิน

คนมีอาการนี้จะใจอ่อนเมื่อคนมาขอยืมเงินตลอด ซึ่งหลายครั้งก็ให้ยืมด้วยความสงสาร แต่หลายครั้งก็ให้ยืมเพราะไม่กล้าปฏิเสธ ทำให้เกิดปัญหาคือมักไม่ได้เงินคืนแล้วมานั่งเสียใจทีหลัง เพราะคนอื่นๆ มาหลอกขอยืมเงินโดยใช้ความใจอ่อนเป็นเครื่องมือ

4. อาการทำงานหนักเพื่อเงินจนเซื่องซึม

ผู้เขียนอธิบายว่า โรคนี้ไม่ได้หมายถึงคนที่ต้องทำ OT บ่อยเพราะหน้าที่ แต่หมายถึงคนที่เลือกทำงานหลายอย่างแบบหนักหน่วงเพื่อเงิน จนไม่มีเวลาพักผ่อนรวมถึงไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ทำให้ท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้อาจตกอยู่ในภาวะเครียดสะสมหรือภาวะซึมเศร้าได้

5. อาการกล้ารับความเสี่ยงทางการเงินมากเกินไป

คนที่มีอาการนี้มักทุ่มเงินกับบางอย่างจนเกินตัว โดยไม่ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องรีบใช้เงินเร่งด่วน กลับหมุนเงินมาใช้จ่ายไม่ทัน ซึ่งอาการนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะอาจทำให้คุณมีหนี้ก้อนโตหรือล้มละลายได้เลยทีเดียว 

6. อาการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการเงิน

ความเสี่ยงทางการเงินเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แต่ถ้าบางคนกลัวความเสี่ยงมากอย่างไม่มีเหตุผลจนต่อต้านการลงทุนในแบบต่างๆ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในหุ้น ก็อาจทำให้พลาดโอกาสจากการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินในบัญชีธรรมดา

7. อาการปฏิเสธการใช้เงิน

คนที่มีอาการนี้จะพยายามทำงานหาเงินอย่างหนัก และประหยัดมากจนไม่กล้าแบ่งเงินมาใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเอง ซึ่งถ้าวันไหนมีการใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติเจ้าตัวก็จะรู้สึกผิด ทำให้เกิดความเครียดและความกดดันตัวเองสะสมอยู่ลึกๆ

8. อาการเสพติดการใช้เงิน

อาการของโรคนี้ต่างจากโรคปฏิเสธการใช้เงินอย่างสิ้นเชิง เพราะคนที่มีอาการนี้มักจะใช้เงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆ มากเกินความจำเป็น เพื่อแก้เบื่อบ้าง เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจทางการเงินบ้าง เเม้สุดท้ายจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นเลยก็ตาม

9. อาการกลัวติดเงินคนอื่น

คนที่มีอาการนี้จะรู้สึกผิดทุกครั้งเมื่อต้องขอยืมเงินคนอื่น ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นจำนวนน้อยขนาดไหนก็ตาม ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า คนที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำมีแนวโน้มเกิดอาการนี้มากกว่าคนทั่วๆ ไป 

10. อาการติดพนัน ติดหวย

หลายๆ คนติดพนันเพราะอยากหาเวลาหลบเลี่ยงจากปัญหาบางอย่างในชีวิตจริง ทั้งที่วิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนคนที่ทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการซื้อหวยโดยหวังว่าจะถูกรางวัลใหญ่สักครั้งก็มักผิดหวังกันมานักต่อนักแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการ 10 ข้อนี้ก็ยังไม่ร้ายแรงมากเมื่อเทียบกับอาการของ Sam Polk ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่ตลาดหุ้น Wall Street และมีอาการเสพติดความร่ำรวย

Sam Polk อดีตหนุ่มนักลงทุนแห่งตลาดหุ้น Wall Street ผู้มีอาการเสพติดความร่ำรวย

Sam Polk เล่าว่า ย้อนกลับไปตอนนั้น แม้เขาจะได้รับโบนัส 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 117 ล้านบาท) เขาก็ยังรู้สึกโกรธว่าทำไมตัวเองถึงได้เงินจำนวนแค่นี้ และในขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่พอใจที่ต้องจ่ายภาษีสูงมาก

เขาเปรียบเทียบให้ฟังว่า อาการเสพติดความร่ำรวยก็คล้ายกับอาการเสพติดประเภทอื่นๆ เพราะเขายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินจำนวนมหาศาลมา เช่นเดียวกับคนติดสารเสพติดที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินไปเสพยา

เมื่อได้ลองไปหาจิตแพทย์ เขาก็พบว่าตัวเองมีปมลึกๆ ฝังอยู่ในใจ คือเชื่อว่า “ตัวเองจะไร้คุณค่าหากปราศจากเงิน” และ “ตัวเองจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้หากไม่มีเงินพอสำหรับใช้ชีวิตแบบหรูหรา”

เขาพยายามรักษาอาการนี้โดยตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่และออกไปท่องเที่ยว ซึ่งเขายอมรับว่ารู้สึกกลัวมากในช่วงแรกที่ไม่ต้องตื่นไปใช้ชีวิตแบบคนทำงานทั่วไป และเขาก็กลัวว่าเพื่อนๆ จะลืมไปแล้วว่าเขายังมีชีวิตอยู่ เพราะเขายังยึดติดอยู่กับการอยากเป็นคนสำคัญในแวดวงการเงิน

ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะเขาต้องพยายามกล่อมตัวเองทุกคืนก่อนนอนว่า “ฉันมีเงินมากพอแล้ว ขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่” เขาเลยตัดสินใจช่วยเหลือสังคมเพิ่มเติมโดยจัดตั้งองค์กรเพื่อสังคมขึ้นมาหลายแห่ง เพื่อใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด

นอกจากนี้ เขาได้ย้ายที่อยู่จาก New York ไปยัง Los Angeles แทน เพราะถ้ายังอยู่ New York ต่อไปก็อาจทำให้กลับมามีอาการเดิมคือเช็กตัวเลขหุ้นบ่อยถึงขนาดที่เข้าไปเว็บไซต์ Bloomberg 15 ครั้งต่อวัน และเขาก็อาจจะลืมเรื่องราวที่ตลาดหุ้น Wall Street ได้ยากขึ้น เพราะ New York เป็นสถานที่ตั้งของตลาดหุ้น Wall Street นั่นเอง

คำแนะนำจากผู้เขียนหนังสือ The Soul of Money: Transforming Your Relationship with Money and Life

เราไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกับ Sam Polk เสมอไป เพราะ Lynne Twist ผู้เขียนหนังสือ The Soul of Money: Transforming Your Relationship with Money and Life แนะนำว่ายังมีวิธีอื่น เช่น ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเอาคุณค่าของชีวิตไปผูกติดกับเรื่องเงินมากเกินไป ให้ลองลิสต์ข้อดีด้านอื่นๆ ของตัวเองออกมา 20 อย่าง โดยเริ่มจากการนึกว่าที่ผ่านมาคนรอบตัวทั้ง พ่อ แม่ พี่น้อง หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน เคยชมคุณว่าอะไรบ้าง แล้วคุณจะเห็นคุณค่าด้านอื่นๆ ของตัวเองมากขึ้น รวมถึงเอาชีวิตของตัวเองไปผูกติดกับเงินน้อยลงด้วย

โดยสรุป

อาการทางการเงินต่างๆ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา หรือการไปพบจิตแพทย์ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินแบบใหญ่โต เราก็ควรรู้จักวางแผนการเงินและประมาณการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้และไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

ที่มา : theconversation, forbes, Silverman, 747club

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา