กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 1.8% ต่อปี ผลจากภาคการผลิตและส่งออกหดตัว ส่วนปี 2567 มองว่าจะขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี โดยต้องติดตามประเด็นนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและ 4 ปัจจัยเสี่ยง
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6 – 2.0%) ถือว่าชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัวที่ 1.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ -1.8 ถึง -1.3%) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวที่ -1.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ -2.2 ถึง -1.7%)
ในส่วนของสถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 2566 พบว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนโดยอ่อนค่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 และแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินผ่อนคลายของญี่ปุ่น โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปี 2566 เฉลี่ยที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2565 ที่ 0.7%
นอกจากนั้น ยังพบว่าตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทยสุทธิรวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท เป็นผลจากกระแสเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ราว 1.9 แสนล้านและตลาดพันธบัตรไทยที่ 1.4 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3 – 3.3%) โดยมองว่าทั้งปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้
ด้านภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 19.5% ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง
ด้านการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลงเล็กน้อยตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.7 – 4.7%) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 – 4.5%)
ในขณะที่รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลคาดว่าจะเบิกจ่ายได้คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายที่ 99.5% และ 64.0% ตามลำดับ รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายอัตราลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5 ถึง 1.5%) เนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 2566 ที่ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลก ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือน โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดคงค้างอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ของ GDP
นอกจากนี้ ยังควรติดตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ
1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น และความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
2) สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดีย เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย
3) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
4) สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น ควรให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ดังนี้
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) เช่น การพัฒนาการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การลงทุนในด้านดิจิทัล และการพัฒนาด้านคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ และทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้
2) การพัฒนาทักษะ (Skills Development) การเตรียมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญและจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวได้ดี
3) การรักษาเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Stability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้
ที่มา กระทรวงการคลัง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา