ผู้คนที่ทำอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่มักมีชีวิตที่ยากลำบากเพราะเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยฤดูกาลเป็นหลัก หลายปัญหาที่ต้องเผชิญมักเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง ต้องอาศัยอำนาจและความสามารถของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายให้แก้ปัญหาให้
แต่วันนี้ เกษตรกรไทยสามารถยืนหยัด ดีดตัวเองให้พ้นจากความยากจนได้ โดยมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดองค์ความรู้ และนวัตกรรมการจัดการสู่เกษตรกรรายย่อยผ่าน “ศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว ปลา มะพร้าว”
ที่มาของศูนย์เรียนรู้ ข้าว-ปลา-มะพร้าว
“ศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว ปลา มะพร้าว” ก่อกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ตั้งอยู่บนที่ดิน 290 ไร่ ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 – 2557
ขุนศรี ทองย้อย ประธานบริหารหรือซีอีโอ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด ผู้รับผิดชอบ ศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว ปลา มะพร้าว เล่าถึงที่มาของแนวคิดศูนย์ฯ ว่า เกิดจากประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งต้องการให้เกษตรกรเมืองไทยร่ำรวยเหมือนเกษตรกรในญี่ปุ่น ไต้หวัน เพราะไทยปลูกข้าวขาวคุณภาพต่ำ ทำให้แม้ว่าไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวดีที่สุด แต่กลับได้ผลตอบแทนต่อไร่ต่ำ จึงพัฒนาศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเห็น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
ขุนศรีเล่าว่า ฐานคิดของ CP ประกอบด้วย 3 ประกอบกัน คือ ประเทศชาติ-ประชาชน-บริษัท เกษตรกรต้องได้รับผลประโยชน์จากแนวคิดนี้ ต้องใช้พื้นที่ทำ 3 อย่างผสมกันไปคือ ปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูกมะพร้าว ถือว่าเป็นการใช้พื้นที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สาเหตุที่ต้องปลูกมะพร้าว เพราะสร้างรายได้สูง ใช้สารเคมีน้อย ร่มเงาจากกิ่งก้านมะพร้าวช่วยบังแดดให้ปลาได้
CP เนรมิตที่ดินขนาด 290 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้ช่วยเกษตรกรพ้นความยากจน
ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีพื้นที่ ขนาด 290 ไร่ แบ่งเป็น
- พื้นที่เก็บสำรองน้ำและชลประทานภายในโครงการ 24 ไร่ เก็บน้ำได้ 145,000 ลูกบาศก์เมตร และเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้
- พื้นที่สำรองน้ำและอนุบาลลูกปลา ลูกกุ้ง ขนาด 2 ไร่ 3 บ่อ บ่อละ 12,000 ลูกบาศก์เมตร รวม 36,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่ออนุบาลปลาไว้ 2 เดือนก่อนปล่อยในบ่อใหญ่ที่มีกระชังปลา
- พื้นที่ปลูกข้าว 4 แปลง รวม 136 ไร่ แต่ละแปลงมีขนาด 90×600 เมตร แปลงละ 34 ไร่ ออกแบบให้รถเก็บเกี่ยวขนาดหน้ากว้าง3 เมตร วิ่ง 15 รอบ
- พื้นที่ถนน กว้าง 12 เมตร สูงจากระดับแปลงนา 2 เมตร เพื่อเป็นคันนา สามารถปลูกมะพร้าวได้ 2 แถว
ขุนศรีเล่าว่า ศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว ปลา มะพร้าวนี้ มีคนมาดูงานเฉลี่ย 1,500 คนต่อปี มีทั้งนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร ข้าราชการ เอกชน โรงสี นักการเมืองท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ คือน้ำดี ดินดี สภาพแวดล้อมดี ทางศูนย์เรียนรู้ฯ หากเกษตรกรสนใจและต้องการทดลอง เราต้องไปวิเคราะห์พื้นที่ให้กับเกษตรกร ไปให้ความรู้ ไปให้คำแนะนำว่า พื้นที่นี้เป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรบ้าง
เกษตรกรก็มีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มคนที่หัวไว ใจสู้ พร้อมเรียนรู้ บางกลุ่มก็รอดูท่าที จนไปถึงกลุ่มที่ไม่คิดจะทำอะไรใหม่ๆ เลย ขุนศรีแนะนำว่า เกษตรกรต้องมีความขยันด้วย ทางศูนย์เรียนรู้ฯ ก็จะคอยดูแลอย่างดี เขายอมรับว่า เกษตรกรต้องเห็นตัวอย่าง ถึงจะทำตามได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่เงินทุนและทรัพยากรที่เกษตรกรมีด้วย
ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ฯ เปิดกว้างให้เกษตรกรทั่วทุกหนแห่งที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ ทางศูนย์เรียนรู้ฯ สามารถจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อลงพื้นที่ให้คำปรึกษาและติดตามผลด้วย
เกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ศูนย์เรียนรู้ฯ จะประสานพลังเครือข่ายของเครือซีพีเข้ามาช่วยด้านการตลาด รับซื้อผลผลิตให้เลย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว หรือ ปลา นอกจากนี้จะให้แนะนำในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตดีขึ้น เช่น แนะนำให้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ทดแทนข้าวขาว เนื่องจากได้ราคาดี และมีตลาดรองรับ โดยการปลูกข้าวทั่วไปราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ ตันละ 7,000 บาท แต่ถ้าเป็นการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่จะขายได้ ตันละ 13,000 บาท เป็นต้น
สิ่งที่เกษตรกรขาดแคลนคือ เงินทุน เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการจัดการตลาด ในเรื่องนี้ถือว่าคลายกังวลได้ เพราะถ้าเงินทุนไม่พอ ศูนย์ฯ จะช่วยประสานงานติดต่อ ธกส. เพื่อรับรองให้ ในส่วนด้านเทคโนโลยี และการตลาดก็จะช่วยสนับสนุนด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องบริหารในแปลงนานั้น ถือว่าเป็นไฮไลท์ของศูนย์เรียนรู้นี้ เพราะใช้วิธีจัดรูปแบบแปลงให้มีความต่างระดับกันโดยท้ายแปลงต่ำ พื้นที่จะต่างระดับกันเพื่อที่จะเก็บสำรองน้ำไว้ ลงไปทางท้ายแปลงนาได้ สามารถเพิ่มและลดระดับน้ำในแปลงนาได้ อาศัยแรงโน้มถ่วงแทนการใช้พลังงาน เมื่อถึงหน้าแล้งก็ปล่อยน้ำเข้านาได้ เมื่อมีแมลงระบาด เราก็ปล่อยน้ำท่วมต้นข้าว เพื่อให้ปลาที่อยู่รอบนาว่ายเข้ามาในแปลง และกินแมลง และให้น้ำท่วมแมลง ถือเป็นการจัดการโดยใช้ระบบนิเวศน์* (*พื้นที่รอบแปลงข้าว เรียกว่าขาวัง พื้นที่ส่วนนี้รวม 14 ไร่ ปริมาณน้ำในบ่อ 28,800 ลูกบาศก์เมตร กว้าง 15 เมตร ลึก 1.5-2 เมตร) ทั้งนี้สามารถปล่อยน้ำเข้าท่วมต้นข้าวได้ภายใน 4-6 ชั่วโมง
มะพร้าวราคาดี ใช้สารเคมีน้อย กำลังเป็นที่นิยม
วุฒิชัย โวหารคล่อง ผู้จัดการทั่วไปของศูนย์เรียนรู้ เล่าให้เราฟังว่า ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวรอบคันนา สร้างรายได้เสริมจากการทำนาข้าว โดยมีการจัดการกับมะพร้าวที่ค่อนข้างเป็นระบบ มี tag ติดที่มะพร้าวทุกต้น มีการเช็ควันออกดอกของมะพร้าว ซึ่งเกษตรกรสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตาม
โดยมีการมาร์คสีที่ทะลายมะพร้าว ถือเป็นการนับอายุของผลมะพร้าว เพื่อเป็นการวางแผนในการเก็บผลผลิตที่แม่นยำและมีคุณภาพ จะทำเครื่องหมายที่มะพร้าวทุกต้น เช่น มาร์คสีแดงออกดอกเดือนมีนาคม และจะเก็บผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธุ์ถึงมีนาคมปีหน้า สีเหลืองออกดอกเดือนเมษายน และสีน้ำเงินออกดอกเดือนพฤษภาคม เป็นต้น
มะพร้าวที่สำหรับใช้ทำกะทิ ใช้เวลา 11-12 เดือนนับตั้งแต่วันออกดอก ที่นี่มีผลผลิตจากมะพร้าวเฉลี่ย เดือนละ 5,000 ผล และเต็มที่จะให้ผลผลิต 7,000 ผล มะพร้าวที่ศูนย์การเรียนรู้ปลูกนี้มีถึง 1,100 ต้น
พันธุ์ที่นิยมปลูก มี 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ลูกผสมสวี 1 (ลูกมีลักษณะเรียว สีส้มอมเหลือง) และพันธุ์ลูกผสมชุมพร (ลูกมีลักษณะกลม สีเขียว)
เกษตรกรเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย นำมาปรับใช้ในชีวิตให้ดีขึ้น
สุวัฒน์ วัฒนศิริ อาจารย์ผู้เปลี่ยนชีวิตหลังเกษียณเป็นเกษตรกรเต็มตัว เล่าว่า ตนเองได้มาดูงานจากศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งพบว่าสอดคล้องกับแนวศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำพืชผสมผสาน ท่านแนะนำไม่ให้ทำพืชแนวเดียวกัน และเมื่อมาศึกษาดู พบว่า บางส่วนที่เรานำมาทำได้ เพราะเรามีกำลังอยู่บ้าง
อาจารย์สุวัฒน์เล่าว่า ได้ทดลองทำแบบเดียวกับโครงการบนที่ดินจำนวน 6 ไร่ เห็นประโยชน์ว่า ก่อนหน้านี้ทำแต่นาอย่างเดียวได้ประโยชน์น้อยกว่า แต่นี่มาปรับใช้ โดยปลูกพืชอย่างอื่นบ้าง เช่น มะพร้าว กล้วย เอาปลามาปล่อยสระด้วย ก็พบว่าหลากหลาย ดีกว่าเดิมขึ้นมาก แม่ค้าที่เป็นชาวบ้านก็มารับจับปลา รับซื้อปลา ทั้งปลาตะเพียน ปลานิล ซึ่งก็ถือว่าได้ผลผลิตที่ดีกว่าเดิม
ขณะที่ ดนัย ขอนทอง เกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ก็ปรับเอาแนวคิดของศูนย์เรียนรู้ไปใช้ด้วย เขาบอกว่า เขาประทับใจมาก จากเมื่อก่อนนี้เขายังไม่ได้ทำนาเช่นทุกวันนี้ หลังจากนำแนวคิดของศูนย์เรียนรู้มาปรับใช้ ก็พบว่า เขาได้ไอเดียใหม่ๆ อยากทำเองบ้าง อยากมีหลายอย่างเหมือนต้นแบบ ทั้งข้าว ปลา มะพร้าว
ตอนนี้ดนัยเน้นผลผลิตจากการทำนาก่อน เขาเล่าว่า เขาไปเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และพบว่า ถ้าเขาทำได้ครบอย่างต้นแบบ เขาจะสามารถผลิตทั้งข้าว ปลา และมะพร้าวได้เองหมดทุกอย่าง แทบไม่ต้องซื้อหาอาหารที่อื่นเพิ่ม เขาบอกว่า เมื่อก่อนหว่านข้าวต้องใช้ทุนเยอะ แต่ตอนนี้ใช้ทุนน้อยลง เพราะมีการใช้ปัจจัยการผลิตเท่าที่จำเป็น และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสีย และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สรุป
ศูนย์เรียนรู้ ข้าว ปลา มะพร้าว ที่ประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ดำริไว้นี้ ถือเป็นตัวแบบสำคัญสำหรับให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ที่จะสร้างผลผลิตเพื่อการเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ควรพึ่งพาผลผลิตเพียงชนิดเดียว และที่สำคัญได้ถ่ายทอดนวัตกรรมการจัดการด้านการเกษตร ที่สามารถปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูกมะพร้าวไปพร้อมๆ กันได้
เกษตรกรจะได้เรียนรู้วิธีพลิกแพลงกลยุทธ์ในการทำการเกษตร ทำอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำกินให้คุ้มค่า สามารถนำวิธีคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในแง่ของการกำจัดแมลง ศัตรูตัวฉกาจทำร้ายผลผลิตได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาปราบศัตรูพืช ตลอดจนปรับตัวตามสถานการณ์ได้แม้ต้องประสบภาวะฤดูแล้ง ขาดแคลนน้ำในการใช้งาน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา