คนไทยกำลังสร้างนิสัย ‘ก่อหนี้เกินตัว’ เพราะบรรดาโมเดลกู้นอกระบบแบบใหม่ แฝงเข้าไปอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต ผ่อนกันตั้งแต่บัตรคอนเสิร์ต เครื่องสำอาง หมาแมว ไปจนถึงลาบูบู้
สภาพัฒน์ เตือนตอนนี้ประเทศไทยมี ‘โมเดลกู้นอกระบบ’ แบบใหม่เพิ่มขึ้นเยอะมาก แถมยังสามารถเข้าถึงได้ง่าย และให้เลือกผ่อนได้หลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ซื้อของ ทั้ง ‘ผ่อนไปใช้ไป’ หรือ ‘ผ่อนครบรับของ’
โมเดล ‘กู้ซื้อของ’ แบบนี้มักจะให้กู้ง่ายๆ โดยใช้แค่ ‘บัตรประชาชนใบเดียว’ และสามารถเข้าถึงผ่าน ‘ช่องทางโซเชียลมีเดีย’ ที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง Facebook, Instagram, TikTok, X หรือ Line ได้เลย เรียกว่าเข้าถึงได้ง่ายแบบสุดๆ
สภาพัฒน์ จึงกังวลว่าอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สร้างความเคยชินในการสร้างหนี้ เพิ่มความเสี่ยงในการมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะอัตราดอกเบี้ยนอกระบบสูงๆ โดยเฉพาะ ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ ที่ยิ่งเสี่ยง
นอกจากนั้น สภาพัฒน์ยังพูดถึงภาพรวมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนภายในประเทศไทย โดยในไตรมาส 1 ‘หนี้ครัวเรือน’ ขยายตัวแบบชะลอลง 2.5% (จากขยายตัว 3% ในไตรมาสก่อนหน้า) โดยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP 90.8% (ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า)
แต่คุณภาพของสินเชื่อกลับด้อยลงต่อเนื่องและด้อยลงในทุกประเภทสินเชื่อ พร้อมๆ กันกับสัดส่วนสินเชื่อที่จ่อจะเสียหรือสินเชื่อ SMLs เองก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสัดส่วนสินเชื่อ SMLs อยู่ที่ 14.29% และสัดส่วน NPLs รวมอยู่ที่ 12.9%
ข่าวเกี่ยวข้อง
- ผลสำรวจ SCB EIC เผยคนไทยรายได้ไม่ถึง 50,000 บาท ‘ไม่ไหวจะซื้อบ้าน’ เพราะภาระหนี้มาก-ค่าใช้จ่ายเยอะ อาจคิดอีกที 5 ปีข้างหน้า
- คนไทยเช่าซื้อรถน้อยลง แต่เอารถไป ‘จำนำทะเบียน’ พุ่ง เพราะคนไทยขาดสภาพคล่อง กำลังซื้อหด หนี้ครัวเรือนกดดัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา