หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนข้าราชการตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเสนอมา (เช่น จบปริญญาตรี บรรจุใหม่เงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท) ซึ่งอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในรอบนี้อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในภาพรวมด้วย
ล่าสุด พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เบื้องต้นประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจาก
- จำนวนบุคลากรภาครัฐที่ได้รับผลจากนโยบายมีสัดส่วนเพียง 4.7% ของลูกจ้างชาวไทยทั้งหมด (และ 2.2% เมื่อเทียบกับผู้มีงานทำชาวไทยทั้งหมด) แม้จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่ยังมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับภาพรวม
- หน่วยงานราชการภาครัฐ จะให้บริการหน่วยงานภาครัฐและประชาชนโดยไม่ได้แสวงหากำไร จึงมองว่าการส่งผ่านต้นทุนมายังค่าบริการของภาครัฐทำได้จำกัด
นอกจากนี้หากย้อนดู การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในปี 2558 พบว่า การขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น
เงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นแค่ไหน?
จากข้อมูลทางรัฐบาลพบว่า มีการปรับขึ้น 3 ส่วน ได้แก่
- การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท/เดือน และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท โดยจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยเฉลี่ยจะปรับ 10% ต่อปี (เริ่ม 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68)
- การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะชดเชย 2 ครั้ง พร้อมกับปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 เฉลี่ย 10% ต่อปี เช่นเดียวกับเงินเดือนผู้แรกเข้า ครอบคลุมผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งจำนวนเงินเดือนที่ขึ้นจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ตามเงินเดือน
- การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้น ดังนี้
3.1 ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 13,285 บาท/เดือน เดิมได้รับค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม 2,000 บาท/เดือน แต่ไม่เกิน 13,285 บาท/เดือน โดยจะปรับเพดานใหม่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 14,600 บาท/เดือน จะได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 14,600 บาท/เดือน
3.2 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เดิมได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน โดยจะปรับเพดานใหม่ให้ได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม ไม่เกินเดือนละ 11,000 บาท/เดือน
ในอดีตการขึ้นเงินเดือนข้าราชการส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยอย่างไร?
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า การขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งล่าสุดเมื่อ เมื่อ 1 ธ.ค. 2557 ซึ่งปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือ 4.0% ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง รวมถึงปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการโดยการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 4% ในพนักงานราชการบางกลุ่ม
ต่อมาพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2557 โดนทาง สนค. ประเมินสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกในประเทศลดลง ดังนั้นจึงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นมากกว่าผลของนโยบายปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ
ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา