กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตที่ 3.6%YoY นับว่าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ชี้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า ฯลฯ ยังโตดี แต่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังหดตัวเล็กน้อย ส่วนแนวโน้มปี 67 นี้มองว่า การส่งออกไทยจะเติบโตจากปริมาณการค้าโลกที่ฟื้นตัว โดยต้องจับตาสถานการณ์โลก-ภัยแล้ง-ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.พ. ปี 2567 พบว่า การส่งออกของไทยมีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินบาทที่ 827,139 ล้านบาท) ขยายตัวที่ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.3%YoY) โดยเติบโตจากการทยอยฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภค สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง
ในเดือน ก.พ. 2567 (ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ)
- การส่งออก มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 3.6%YoY
- การนำเข้า มีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.2%YoY
- ดุลการค้า ขาดดุล 554.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือน ก.พ. 2567
- การส่งออก มีมูลค่า 827,139 ล้านบาท ขยายตัว 12.3%YoY
- การนำเข้า มีมูลค่า 856,508 ล้านบาท ขยายตัว 11.7 %YoY
- ดุลการค้า ขาดดุล 29,369 ล้านบาท
ในภาพรวม การส่งออกภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.2%YoY และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ฯลฯ) ในขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีจากข้าวและยางพารา สำหรับวิกฤตการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบเล็กน้อยส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 1.1%YoY โดยการส่งออกไปหลายตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ (15.5%) สหภาพยุโรป 27 (3.3%) และทวีปออสเตรเลีย (26.4%) สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม มีตลาดหลักที่การส่งออกกลับมาหดตัว ได้แก่ จีน (-5.7%) ญี่ปุ่น (-5.8%) และอาเซียน 5 (-1.2%) ซึ่งหดตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ทั้งนี้ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567
- การส่งออก มีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.7%YoY (เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.6%YoY)
- การนำเข้า มีมูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.9%YoY
- ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567
- การส่งออก มีมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท ขยายตัว 11.3%YoY
- การนำเข้า มีมูลค่า 1,747,195 ล้านบาท ขยายตัว 6.9%YoY
- ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 135,476 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า ภัยแล้งที่กระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป
ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.พ. 2567 กระทรวงพาณิชย์ จะมีการดำเนินการสำคัญ ได้แก่
- การลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา นับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย ทำให้ไทยมีคู่ค้า FTA เพิ่มเป็น 19 ประเทศ โดยภาคการค้าสินค้าจะลดภาษีระหว่างกันกว่า 85% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ภาคการค้าบริการจะเปิดให้ไทยถือหุ้นสาขาบริการและการลงทุนได้ 100% ในสาขาที่ตกลงร่วมกัน คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.02% มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะมีผลใช้บังคับภายในปี 2567 นี้
- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในหมวดสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ เพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า
ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา