เปิด 7 ประเด็น คสช.​ ใช้มาตรา 44 ยืดเวลาชำระหนี้ให้ค่ายมือถือ ใครได้-ใครเสียประโยชน์

เป็นประเด็นที่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า การที่ คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 กับการยืดอายุการชำระหนี้หลักหมื่นล้านบาทให้กับค่ายมือถือทั้ง 3 คือ AIS, True และ dtac พร้อมกับเงื่อนไขการร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5G ไม่ได้ทำให้ 5G เกิดเร็วขึ้น และมีแนวโน้มที่ประเทศจะเสียประโยชน์ด้วย ลองไปบทสรุปจาก สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ที่สรุป 7 ประเด็นที่คนไทยต้องรู้ โดยเนื้อหาโดยสรุปสั้นๆ คือ

1. ยืดหนี้ 4G เอกชนได้ประโยชน์กว่า 20,000 ล้านบาท
2. 3 ค่ายมือถือได้สิทธิ์ถือครองคลื่นความถี่ 700MHz สำหรับให้บริการ 5G ในอนาคต
3. ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ผู้ถือหุ้นที่เป็นมหาเศรษฐี และ บริษัทจากต่างประเทศ
4. บริการ 5G เป็นบริการในอนาคต ไม่ต้องรีบร้อนทำในวันนี้
5. การใช้ ม.44 เท่ากับขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ
6. เปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจ เท่ากับเปิดช่องให้ทุจริต
7. ประเทศชาติ และ ประชาชนคือผู้เสียหาย

สำหรับรายละเอียด สามารถอ่านได้ด้านล่างนี้

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ – ประธาน TDRI / ภาพจาก Facebook

ยืดหนี้ 4G = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ

หนี้จากการประมูล 4G มีมูลค่า 203,317 ล้านบาท ผลจากการยืดระยะเวลาชำระหนี้ ทำให้เอกชนจะจ่ายเงินทั้งหมดเมื่อถึงปี 2572 หรือ 10 ปีจากนี้ ซึ่งตามคำสั่งไม่มีการกล่าวถึง “ดอกเบี้ย” ดังนั้นการยืดระยะเวลาชำระหนี้โดยไม่มีดอกเบี้ย เท่ากับยกประโยชน์ให้ค่ายมือถือ

หากมีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งในกรณีของธุรกิจโทรคมนาคม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จะคิดจาก ต้นทุนของเงินทุนที่เฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ต้องการ หรือ Weighted Average Cost of Capital: WACC ประมาณ 9% ซึ่งกรณีนี้ มูลค่าหนี้คือ 64,000 ล้านบาทสำหรับ AIS กับ True และ 32,000 ล้านบาท สำหรับ dtac และยืดหนี้ออกไปจากเดิม 5 ปี

คำนวณแล้วมีดอกเบี้ยที่ไม่ถูกคิดสำหรับ True ประมาณ 8,780 ล้านบาท AIS ประมาณ 8,380 ล้านบาท และ dtac ประมาณ 2,580 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 19,740 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับที่ บริษัทหลักทรัพย์ เช่น K-Securities คำนวณไว้ 18,456 – 28,393 ล้านบาท

ภาพจาก Shutterstock

บังคับทำ 5G = ให้อภิสิทธิ์ครองตลาดต่อ

กสทช. ระบุว่า การยืดหนี้มาพร้อมเงื่อนไขให้ 3 ค่ายมือถือต้องประมูลคลื่นความถี่ 700MHz เพื่อให้บริการ 5G โดยจัดสรรคลื่นความถี่ขนาด 15MHz ให้ทั้ง 3 ราย คิดมูลค่ารายละ 25,000 ล้านบาท เท่ากับว่า เป็นการการันตีว่าค่ายมือถือจะได้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G ในอนาคตไป

สรุป 5G จะมีผู้ให้บริการ 3 รายเดิม ไม่สนับสนุนให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และยังได้คลื่นความถี่ไปในราคาที่ไม่สูงด้วย ยิ่งหากเป็น “มูลค่าในอนาคต” พิจารณาจากเวลาผ่อนชำระ 10 ปี มูลค่าปัจจุบันจะเหลือ 17,167 ล้านบาท เมื่อคิดรวมกับประโยชน์จากการไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามข้อ 1 เท่ากับว่า AIS และ True จะได้ใช้คลื่น 5G ในมูลค่า 8,787 ล้านบาท และ 8,386 ล้านบาท ส่วน dtac ได้ในราคา 14,580 ล้านบาท เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบขึ้น

นอกจากไม่มีหลักประกันว่า ค่ายมือถือจะชำระมูลค่าคลื่นตามที่กล่าวมาแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือ คสช.​ ให้อำนาจดุลยพินิจกับ กสทช. เท่ากับไม่มีหลักประกันใดๆ เช่น อาจพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้เพิ่ม หรือขยายเวลาประกอบกิจการก็เป็นได้

ภาพจาก shutterstock

ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด = อภิมหาเศรษฐีและนักลงทุนต่างชาติ

ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการนี้คือ ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ซึ่งไล่ต่อไปแล้วจะพบว่าเป็นตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งเป็นตระกูลอภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับของ Forbes (ในกรณีทรู) และผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศในทั้ง 3 บริษัทคือ จีน (ในกรณีของทรู)   สิงคโปร์ (ในกรณีของเอไอเอส) และนอร์เวย์ (ในกรณีของดีแทค)

กรณีของค่ายมือถือนั้น แตกต่างจากกรณีของช่องทีวีดิจิทัล 2 ประการ

  • กรณีทีวีดิจิทัล กสทช.​ มีส่วนบกพร่องในการแจกคูปองล่าช้า ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง แต่กรณีค่ายมือถือ หน่วยงานรัฐไม่ได้ทำผิดอะไร แม้จะมีผู้ชนะประมูล 4G บางรายทิ้งการประมูล และมีบทลงโทษเพียงเล็กน้อย แต่ราคาประมูลที่สูงก็เกิดจากความสมัครใจของผู้ประกอบการที่ชนะประมูลและยอมรับในเงื่อนไขการชำระ
  • กรณีทีวีดิจิทัล มีช่องที่ประสบปัญหาขาดทุนจนไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้ เพราะไม่สามารถปรับตัวกับตลาดที่หดตัวและเปลี่ยนแปลง ควรมีมาตรการในการหาทางออก “แต่ไม่จำเป็นต้องคืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระไปแล้วบางส่วนตามคำสั่ง คสช.” แต่กรณีของค่ายมือถือ ยังมีผลประกอบการที่มีกำไรและฐานะการเงินมั่นคง โดยปี 2561 AIS มีกำไรสุทธิ 29,682 ล้านบาท True มีกำไรสุทธิ 7,035 ล้านบาท ส่วน dtac ขาดทุน 4,369 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย 9,510 ล้านบาท เพื่อระงับข้อพิพาทกับ กสท. โทรคมนาคม แต่ทุกรายยังมีความมั่นคงทางการเงิน

แม้จะขาดทุน แต่ก็ขาดทุนจากความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปกติ (Normal Business Risk) รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุ้ม

ภาพจาก Shutterstock

บริการ 5G บริการแห่งอนาคต = ไม่ต้องรีบร้อนทำวันนี้

กสทช.​เร่งรัดประมูล 5G โดยอ้างว่าจะเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2578 ส่วนค่ายมือถือบางรายระบุจะไม่ร่วมประมูล 5G หากไม่มีการขยายเวลาชำระคลื่นความถี่ 4G เดิม ความจริง ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนประมูล 5G โดยมีเหตุผลดังนี้

  • ปัจจุบันยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ โดย AIS เคยให้ข่าวไว้เดือน ก.พ. ว่า “แม้ 5G มีประโยชน์ที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากมาย…แต่ไม่ใช่วันนี้ เพราะยังไม่มี Business Case จึงไม่เห็นผลตอบแทนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือ IoT ในโลกนี้ยังไม่เกิดขึ้น”
  • กสทช. ยังทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ 5G ไม่เสร็จ โดยบริการ 5G สามารถใช้คลื่นความถี่ได้หลายย่าน ทั้งความถี่ต่ำ ความถี่ปานกลางและความถี่สูง การประมูล 5G ควรเกิดขึ้นเมื่อมีแผนจัดสรรคลื่นที่ชัดเจนในทุกย่าน การเร่งประมูลคลื่นความถี่ 700MHz ก่อนจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เช่น ไม่สามารถกำหนดราคาคลื่นความถี่ย่านปานกลางและสูงได้อย่างเหมาะสม แต่ต้องยึดโยงกับคลื่นความถี่ 700MHz ที่ประมูลไปก่อน
  • การเร่งประมูล 5G ในปีนี้ ไม่ได้ทำให้ไทยมีบริการ 5G ก่อนประเทศอื่น โดยปัจจุบันมี 4-5 ประเทศเท่านั้นที่มีบริการ 5G เช่น เกาหลีใต้,​ จีน, ญี่ปุ่น,​ สหรัฐอเมริการ (ในบางเมือง) ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยีที่ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ 5G ดังนั้น การรอต่อไป 2-3 ปี ก็ไม่ได้กระทบกับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่จะเกิดในปี 2578

การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 = การขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ

ทำไมต้องผลักดันให้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44? มีประเด็นว่ามีค่ายมือถือบางรายเรียกร้องให้ กสทช. ยืดเวลาชำระหนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่เป็นผล เพราะการยืดหนี้เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้รัฐเสียหาย ถ้ามีการอนุมัติ กสทช.​อาจมีความผิดทางอาญาได้

แต่หากมีคำสั่ง ม.44 ออกมาในช่วงก่อนสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เวลาที่อำนาจในการออกคำสั่งนี้ของ คสช. จะหมดไปหากมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเท่ากับว่า ทั้ง กสทช.​และ คสช.​ ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน ทั้งในทางกฏหมายและทางการเมือง

ทางกฎหมาย คำสั่ง ม.44 ทำให้ คสช.​ รัฐบาลและ กสทช.​ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ ในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในระหว่างการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว เช่นเดียวกันกับการออกคำสั่ง “อุ้ม”ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปพร้อมกัน ยังทำให้สื่อโทรทัศน์หลีกเลี่ยงที่จะตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว เพราะตนก็ได้รับประโยชน์จากการถูก “อุ้ม” ไปด้วย

อำนาจดุลพินิจมาก = เสี่ยงทุจริตมาก

ประเด็นน่าห่วงคือ คำสั่ง คสช​. มอบอำนาจในการกำหนดสาระสำคัญให้แก่ เลขาธิการ กสทช. โดยปราศจากหลักการที่กำกับการปฏิบัติหน้าที่อันเหมาะสม ผลจึงเป็นการให้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางมากแก่เลขาธิการ กสทช. นับตั้งแต่กำหนดว่า “ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติและในการวินิจฉัยตำมคำสั่งนี้ ให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของเลขาธิการ กสทช. ให้ถือเป็นที่สุด” ทั้งนี้ ควรสังเกตด้วยว่า คสช. ได้มอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจมหาศาลให้แก่บุคคลเดียว ไม่ใช่ กสทช. ซึ่งเป็นองค์คณะและมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของเลขาธิการ กสทช.

ส่วนสำคัญประการหนึ่ง คือ การที่สำนักงาน กสทช. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขต่างๆ ในการจัดสรรคลื่น 5G ย่าน 700 MHz ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการประกอบกิจการ การตีมูลค่าคลื่นความถี่ ระยะเวลาในการวางโครงข่าย ระยะเวลาในการชำระเงิน ฯลฯ ทั้งนี้โดยไม่มีข้อกำหนดแม้กระทั่งให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเลย

อำนาจดุลพินิจในระดับสูงดังกล่าวน่าเป็นห่วงมากในสภาพที่การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่มีการแข่งขันใดๆ ระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลในการตัดการตรวจสอบโดยกลไกตลาดออกไปโดยสิ้นเชิงอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ คสช. ยังเคยมีคำสั่งตามมาตรา 44 ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ระงับการสรรหา กสทช. ไว้ อันมีผลทำให้ กสทช. ชุดปัจจุบันสามารถดำรงตำแหน่งไปจนตลอดชีวิต หากไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขออกมา  น่าเสียดายว่า การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ในครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้ยกเลิกคำสั่งก่อนหน้านั้น

ภาพจาก Pixabay

ผู้เสียหาย = ประเทศและประชาชน

ผู้เสียหายคือ ประเทศชาติและประชาชน ในฐานะของผู้เสียภาษีและ “เจ้าหนี้ทางอ้อม” ของผู้ประกอบการ 4G  คนไทยทุกคนเสียโอกาสจากการยืดหนี้ 4G และการจัดสรรคลื่น 5G ที่ปราศจากการแข่งขัน เร่ิมด้วยเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่หายไปจากการยืดหนี้ (ข้อ 1) สามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศ เช่น สร้างโรงพยาบาล พัฒนาโรงเรียน จัดสวัสดิการต่างๆ

อีกทั้งคนไทยยังเสียโอกาสจากการได้รับบริการ 5G ที่เกิดจากการแข่งขันที่มากขึ้นด้วย เพราะจากคำสั่งนี้ เท่ากับปิดทางผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะยกคลื่นความถี่ให้ 3 รายเดิมแล้ว และคำสั่ง ม.44 ยังทำให้ระบบกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมเสมือนย้อนกลับไปสู่ยุค “ระบบสัมปทาน” ที่เปิดช่องให้มีการวิ่งเต้น ไม่สามารถพยากรณ์ได้ จนนำมาสู่ “ธนกิจการเมือง” ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของประเทศ ทั้งที่ในทางกฎหมาย ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปสู่ “ระบบใบอนุญาต” ซึ่งมุ่งสร้างการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ภายใต้กฎกติกาที่สามารถพยากรณ์ได้มานานแล้ว

ปัญหาในวงการโทรคมนาคมไทยจะส่งสัญญาณแก่นักลงทุนต่างประเทศโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ห่างไกลจากความเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ตามที่รัฐบาลใฝ่ฝัน ไม่ใช่เพียงเพราะเรามีรายได้ต่อหัวยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่เป็นเพราะรัฐไทยยังมีปัญหาธรรมาภิบาลบกพร่องอย่างรุนแรง

ภาพจาก Shutterstock

เรียกร้อง คสช.​ ทบทวนและแก้ไขคำสั่ง ม.44

คสช. ควรทบทวนและแก้ไขข้อบกพร่องในการออกคำสั่งครั้งนี้ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย และคนไทยทุกคน  มิฉะนั้นคำสั่งนี้ก็จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยในฐานะที่เป็นผลงานโบว์ดำอีกชิ้นหนึ่งของ คสช.

คนไทยเองก็ควรตระหนักว่า ภูมิคุ้มกันประชาชนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐและทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่สมคบกัน คือ การสร้างความรู้เท่าทันรัฐและทุนผูกขาดให้แพร่หลายไปในสังคมในวงกว้าง โดยก้าวข้ามเส้นแบ่งความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อร่วมสร้างความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ไม่ยอมรับการทุจริตคอรัปชันในภาครัฐ และความเป็นผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ไม่ยอมให้กลุ่มทุนผูกขาดเอาเปรียบอีกต่อไป

อ้างอิง: TDRI, ภาคผนวก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา