เพราะเวลาซื้อไม่ได้! MJets ธุรกิจเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวครบวงจร โตต่อเนื่อง องค์กรไทย-เทศแห่ใช้

บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด หรือ MJets เร่งเครื่องธุรกิจเครื่องบินส่วนบุคคลครบวงจร เหตุองค์กรในไทย และต่างประเทศเปลี่ยนใจมาบินด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวแทนที่เครื่องบินพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์เรื่องเวลาในการทำธุรกิจ ล่าสุดลงทุน 460 ล้านบาท ถือหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจคล้ายกันที่สิงคโปร์ หวังสยายปีกขึ้นเบอร์ 1 ธุรกิจนี้ในภูมิภาคเอเชีย

MJets

MJets หวังขึ้นเบอร์ 1 ในตลาดเอเชีย

ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2007 ผ่านการเห็นโอกาสในธุรกิจเครื่องบินส่วนบุคคลครบวงจร หรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เนื่องจากตลาดดังกล่าวเริ่มเติบโต ผ่านการใช้งานทั้งรูปแบบเพื่อธุรกิจ และเพื่อเดินทางไปพักผ่อน

ครบวงจรของ MJets หมายถึงการเป็นผู้ให้บริการรายแรก และรายเดียวที่ให้บริการอากาศยานครบวงจร หรือ Fixed-Base Operator: FBO และท่าอากาศยานเครื่องบินส่วนบุคคลในประเทศไทย โดยมี 7 ธุรกิจย่อยดังนี้

  • บริการเช่าเหมาลำเครื่องบินส่วนบุคคล
  • บริการบริหารจัดการเครื่องบินส่วนบุคคล
  • บริการที่ปรึกษา และตัวแทนจำหน่ายเครื่องบินส่วนบุคคลแบรนด์ Textron Aviation
  • บริการบำรุงรักษา และขนส่งอะไหล่ซ่อมบำรุงเครื่องบินส่วนบุคคล
  • บริการเครื่องบินขนส่งผู้ป่วย
  • บริการภาคพื้น เช่น การลำเลียงเครื่องบิน และขนย้ายสัมภาระ
  • บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่อากาศยาน เช่น ห้องรับรอง VIP

“เครื่องบินส่วนตัวในประเทศไทย 80% นั้นใช้บริการท่าอากาศยานของเรา ส่วนธุรกิจเครื่องบินเจ็ตเช่าเหมาลำ เรามีอยู่ 5 ลำ บินได้ไกลสุดถึงยุโรปโดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง ทำความเร็วมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ 10-15% เมื่อผนวกกับเวลาขั้นตอนอื่น ๆ ก็ทำให้ถึงที่หมาย และลดเวลาการไปเจรจาธุรกิจได้มากกว่า”

MJets
ระยะการบินของ MJets

การใช้งาน 90% เป็นการใช้งานเพื่อธุรกิจ

หากเจาะไปที่การใช้บริการเช่าเหมาลำจะพบว่า 90% ถูกใช้ในเชิงธุรกิจ ส่วนอีก 10% จะใช้เพื่อเดินทางไปพักผ่อน  ซึ่งหลังจากนี้ MJets จะพยายามสื่อสารการใช้งานเพื่อเดินทางไปพักผ่อนมากขึ้น เช่น ความอิสระในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปรับประทานอาหารที่ภูเก็ต และกลับมาประชุมที่กรุงเทพ ภายในวันเดียว

ส่วนสัญชาติของผู้ใช้ ในช่วงปี 2022 อัตราจะอยู่ที่คนไทย 20% และต่างชาติ 80% แต่ปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็นคนไทย 40% และต่างชาติ 60% โดยต่างชาตินั้นเป็นคนจีนค่อนข้างน้อย แต่หลังจากนี้จะมีมากขึ้น แต่สัดส่วนอาจจะเป็นรูปแบบเดิม

“การเพิ่มขึ้นของลูกค้าชาวไทยเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ เข้าใจการใช้งานเครื่องบินเจ็ตมากขึ้น เพราะถึงราคาจะสูงกว่าการใช้เครื่องบินพาณิชย์ทั่วไป แต่สิ่งที่แพงกว่าคือเวลา ดังนั้นการลงทุนในเรื่องนี้จึงคุ้มค่ากว่า ผ่านประสิทธิภาพในการเจรจาธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น”

MJets

ก้าวสู่เบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบัน MJets มีธุรกิจที่ให้บริการในไทย, เมียนมา, มาเลเซีย, มัลดีฟ, ฮ่องกง, ปักกิ่ง และฟิลิปปินส์ โดยล่าสุดประกาศลงทุน 17 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 460 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นส่วนน้อยใน WingsOverAsia (WOA) ผู้ทำเครื่องบินส่วนบุคคลครบวงจรในสิงคโปร์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท MJets หลังจากนี้

“เรามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่ทำให้เอ็มเจ็ทสามารถบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังได้สำเร็จ พร้อมกันนี้ เอ็มเจ็ทได้ตั้งเป้าหมายขยายการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2026 หลังเราเป็นเบอร์ 1 ของไทยแล้ว”

บริษัทวิจัย Mordor Intelligence มองว่า มูลค่าอุตสาหกรรมเครื่องบินเจ็ต และการบินส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 463.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 906.39 ล้านดอลลาร์ ในปี 2029 หรือเติบโตเฉลี่ย 14%/ปี ผ่านการเติบโตของการท่องเที่ยว และจำนวน High & Ultra-High Net Worth เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

MJets

ภาพรวมธุรกิจเติบโตเป็นเลขสองหลักเช่นกัน

ในงานแถลงข่าว MJets ไม่มีการแจ้งภาพรวมรายได้ และเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน มีเพียงการเติบโตเป็นอัตราตัวเลข 2 หลัก เช่นเดียวกับตลาดเครื่องบินเจ็ต และการบินส่วนบุคคล นอกจากนี้ถึงการลงทุนใน WOA จะมีบางส่วนธุรกิจที่ทับซ้อนกัน แต่บริษัทอยากให้มองเป็นการ Synergy ระหว่างสองธุรกิจมากกว่า

“รัฐบาลอยากให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub ซึ่งเรื่องดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้บริษัท และตอนนี้มันก็เห็นผลบวกแล้ว เช่น ปี 2023 เรามีเครื่องบินเจ็ตที่ให้บริษัทบริหารจัดการแค่ตัวเลขหลักเดียว แต่ปี 2024 เพิ่มเป็นจำนวน 2 หลักแล้ว”

ทั้งนี้ MJets แจ้งว่า 55% ของรายได้บริษัทมาจากบริการเช่าเหมาลำ (รวมรายได้เครื่องบินขนส่งผู้ป่วย) และ 30% เป็นรายได้จากบริการภาคพื้น ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่น ๆ และหากอ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพบว่า บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด มีรายได้รวมปี 2022 1,137 ล้านบาท กำไรสุทธิ 184 ล้านบาท ส่วนปี 2023 ยังไม่มีข้อมูล

MJets

ทยอยลงทุนต่อเนื่อง และไม่ใช่ธุรกิจเครือ Minor

หลังจากนี้ MJets จะลงทุนต่อเนื่อง ผ่านการเจรจากับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมให้บริการในลักษณะเดียวกับการลงทุนใน WOA รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ให้บริการในประเทศไทย และเพิ่มฝูงบินให้บริการเช่าเหมาลำเช่นกัน โดยฝูงบินที่ซื้อเข้ามาจะเป็นฝูงบินมือสอง เพราะมีความคุ้มค่าในการทำธุรกิจมากกว่า

“เราซื้อเครื่องบินเจ็ตมือสองโดยเฉลี่ยลำละ 7 ล้านดอลลาร์ ถ้าให้สั่งเครื่องบินใหม่ก็คงต้องรอ 3 ปี จึงอยากบอกว่า เราไม่ได้ Devalue ลูกค้า แต่เราต้องการจุด Cost X ให้เจอ ยิ่งถ้าซื้อเครื่องบินลำใหม่ไปเลยก็คงไปไม่ถึงจุดนั้น ส่วนการลงทุน ในปีนี้จะได้เห็นอีก 1 ดีล มูลค่าการลงทุนใกล้เคียงกับกรณีของ WOA”

ณัฏฐภัทร ย้ำว่า MJets ไม่ใช่ธุรกิจในเครือ Minor เพียงมีชื่อกรรมการบริษัทเป็นคนเดียวกัน เช่น วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Minor เป็นต้น ส่วนแผนการเข้าจดระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี IPO บริษัทยังไม่มีแผนดังกล่าว

MJets
ห้องรับรองของท่าอากาศยานที่รองรับผู้ใช้บริการเครื่องบินเจ็ตส่วนบุคคล

อวดตัวเลขบินเกินค่าเฉลี่ย การท่องเที่ยวกลับมาแล้ว

ค่าเฉลี่ยการใช้งานต่อปีของเครื่องบินเจ็ตส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 250-300 ชม./ปี แต่เครื่องบินเจ็ตบางลำของ MJets บินกว่า 750 ชม./ปี ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ย และชี้ให้เห็นถึงความต้องการใช้บริการเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของคนไทย และความไว้วางใจจากลูกค้าในเอเชียประเทศอื่น ๆ

ลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Minor แจ้งว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทย และเอเชียฟื้นตัวกลับมาจากช่วงโควิด-19 แล้ว และหลายองค์กรหันใช้งานเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมากขึ้น ผ่านความสะดวก และปลอดภัย และด้วยเราไม่มีการปลดพนักงาน ทำให้เราพร้อมเดินหน้าธุรกิจทันทีหลังการท่องเที่ยวฟื้นตัว

“คนจีนเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่กลุ่ม Minor มีธุรกิจให้บริการ เช่น มัลดีฟ ซึ่งเราหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นกว่านี้ และการท่องเที่ยวต้องเติบโต ส่วนเรื่องการลดลงของนักบิน, น้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูงขึ้น หรือการผลิตวัสดุเครื่องบินที่ล่าช้า เราไม่ได้รับผลกระทบเหล่านี้”

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา