การทำงานข้ามคืนในบริษัทญี่ปุ่นคือเรื่องปกติ เพราะแสดงให้เจ้านายเห็นว่าขยัน แต่ความคิดนี้มันล้าสมัยในสายตา Mitsubishi Electric แล้ว หลังยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเตรียมจ่ายโบนัสให้คนที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ทำงานข้ามวันข้ามคืนไม่เท่ากับขยัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การทำงานข้ามวันข้ามคืนแทบจะเป็นวัฒนธรรมการทำงานของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว เพราะเจ้านายยุคเก่าชอบเห็นว่าหากลูกน้องนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานเป็นเวลานานๆ แปลว่าคนคนนั้นขยัน และน่าจะได้เลื่อนขั้น หรือให้โบนัสเป็นการพิเศษ
แต่วัฒนธรรมนี้เริ่มใช้งานไม่ได้อีกต่อไป รวมถึงถูกมองในแง่ลบจากคนประเทศอื่นๆ หลังการทำแบบนี้เท่ากับกดดันให้พนักงานเครียดจนเกินไป แถมมีคนที่ฆ่าตัวตายจากการทำแบบนี้เป็นจำนวนมาก ล่าสุดคือพนักงานสาววัย 24 ปี ของเอเยนซี่ดังอย่าง Dentsu ที่กระโดดตึกลงมาเสียชีวิต เพราะเครียดจากการทำงานมากเกินไป
และเมื่อความคิดแบบนี้เริ่มใช้ไม่ได้ Mitsubishi Electric จึงเริ่มคิดรูปแบบการทำงานใหม่ ผ่านการกระตุ้นให้พนักงานในบริษัททำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับลดชั่วโมงที่ต้องนั่งอยู่ในสำนักงานให้ได้ ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจในบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้า Takeshi Sugiyama ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้ารายนี้ประกาศกร้าวว่าการทำงานหามรุ่งหามค่ำมันล้าสมัยไปแล้ว และการทำงานแบบ Productivity คือเรื่องที่ต้องจริงจังหลังจากนี้ต่างหาก
สำหรับการจูงใจให้พนักงานลดการทำงานหามรุ่งหามค่ำของ Mitsubishi Electric ก็คือการนำพฤติกรรมการทำงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาคำนวนในการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกคน แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่มีในตอนนี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนมันน่าจะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดน้อยลงในประเทศญี่ปุ่นได้ไม่มากก็น้อย
เพราะเมื่อทำงานกดดัน ความอยากจะมีลูกก็น้อย จนตั้งแต่ปี 2551 ที่ญี่ปุ่นมีประชากร 128 ล้านคนนั้นลดลงมาเรื่อยๆ และหากยังลดในอัตรานี้อยู่ ในปี 2638 ญี่ปุ่นก็จะมีประชากรเหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปัจจุบัน ส่งผลต่ออัตราแรงงานที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
สรุป
การทำงานนั้นควรจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการบริหารจัดการเวลาให้ดี จะได้ไม่เครียดจนเกินไป เพราะหากยังทำไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาสะสมในอนาคต กลายเป็นการทำงานอย่างไม่มีความสุข ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้าญี่ปุ่นยังลดวัฒนธรรมนี้ไปไมได้ ก็อยากที่จะฟื้นขึ้นจากประเทศสังคมผู้สูงอายุ
อ้างอิง // Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา