ข้อคิดจากมิตรผล จงเรียนรู้ที่จะอยู่กับชุมชน เพื่อความเจริญร่วมกันทั้งสองฝ่าย

Brand Inside Forum 2020: New Workforce งานสัมมนาเพื่อคนทำงาน ตอบโจทย์การทำงานของคนทุกช่วงวัย จะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคที่ทุกอย่างไม่แน่นอน และการเตรียมพร้อมคือทางออก

ภายใต้หัวข้อ Transformation Management for Sustainability หรือการจัดการเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างยั่งยืน โดย ดร. กำพล ฤทัยวณิช Senior Executive Vice President Human Resources Group, Mitr Phol Group, กรรณิกา ว่องกุศลจิต Vice President – Community Relations Development, Mitr Phol Group ดำเนินรายการโดยธงชัย ชลศิริพงษ์ Content Editor Brand Inside

ความยั่งยืนในความหมายของมิตรผล คืออะไร?

ดร. กำพล ฤทัยวณิช Senior Executive Vice President Human Resources Group, Mitr Phol Group ระบุว่า มิตรผลประกอบธุรกิจมานานกว่า 60 ปีแล้ว มิตรผลมีปรัชญาว่า ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ เรามองในลักษณะขององค์กร stakeholder อยากที่จะอยู่ร่วมกันไปอีก 100 ปี

ดังนั้น Future of Work ในความหมายของมิตรผลนั้น ราว 80-90% แรงงานของเราอยู่ในภาคการผลิต ทั้งน้ำตาล ปุ๋ย ต่อไปก็จะมีสารความหวานอื่นๆ อีก เราต้องเดินเครื่องจักร 24 ชั่วโมง น่าจะมีเรื่องเทคโนโลยีที่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เราน่าจะเป็น hybrid คือ เน้นเรื่องคุณภาพของชีวิตและการทำงาน การทำงาน 3-4 วันต่อสัปดาห์ก็น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต 

ความยั่งยืนที่องค์กรยุคใหม่ต้องทำ เพราะเราอยู่ในโลกแห่งความซับซ้อนจนทำงานลำพังไม่ได้ ภาคเกษตรถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี มิตรผลมองภาพนี้อย่างไร 

กรรณิกา ว่องกุศลจิต Vice President – Community Relations Development, Mitr Phol Group ระบุว่า ความยั่งยืนของเกษตรกร ส่วนใหญ่ชาวไร่อ้อยคือซัพพลายเออร์รายใหญ่ของเรา ถ้าเขาไม่ยั่งยืน ธุรกิจเราก็ไม่ยั่งยืน เรามีโรงงาน 7 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ในภาคกลาง 5 แห่งอยู่ในภาคอีสาน ชาวไร่อ้อยเราแบ่งเป็นรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ 

ชาวไร่ของเรา 80% เป็นรายเล็กมีพื้นที่ไม่ถึง 50 ไร่ ขณะที่รายใหญ่มีพื้นที่เกิน 250 ไร่ เราก็นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำไร่อ้อยให้ทันสมัย ลดต้นทุน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไร่อ้อยรายใหญ่กลุ่มนี้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะที่รายขนาดกลางแม้ทำได้ไม่เท่ารายใหญ่ เราก็สนับสนุนเทคโนโลยีให้เข้ามาปรับใช้ เช่น รถตัด รถไถ ให้ฝ่ายละอย่างและมาหมุนเวียนกันใช้ได้ ขณะที่รายเล็กก็สามารถจ้างรายกลางให้มาช่วยได้ 

โรงงานน้ำตาลมิตรผล

ทุกความเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งคนที่ไม่อยากปรับเปลี่ยน อยากทำเหมือนเดิม ทำอย่างไรกับกรณีนี้

กรรณิกา กล่าวว่า มีทั้งคนที่ไม่อยากเปลี่ยน วิธีที่จะทำให้เขาเปลี่ยนได้ต้องหาคนที่หัวไว ใจสู้ หรือ Early adaptor มาเปลี่ยนก่อน คนอื่นก็จะทำตาม 

เราใช้วิธีแบบไหนในการปรับตัวช่วง Work from home 

ดร. กำพล กล่าวว่า เรามีแผนว่าพนักงานกลุ่มไหนทำงานจากบ้านได้บ้าง เริ่มที่กลุ่มนี้ก่อน กลุ่มอื่นค่อยตามมา พนักงานบางส่วนมีสถานที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะอยู่หอพักบ้าง อยู่ในพื้นที่ไม่สะดวกบ้าง ก็ค่อยๆ ปรับไป บางส่วนก็สามารถทำงานได้ทำได้ตามเป้าหมาย ขายและผลิตได้เหมือนเดิม 

ในเรื่อง Reskill – Upskill เป็นอย่างไร

ดร. กำพล มองว่า ปกติเราให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมคนมามาก เราดึงผู้บริหารระดับสูงให้มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจ จากนั้นก็ทำโปรแกรมออนไลน์ 3 เดือน ตั้งแต่ผู้บริหารถึงพนักงาน เรามีพนักงาน 4,000 กว่าคน มีคนเข้าเรียนจำนวนเยอะมากถึง 95% บางส่วนที่ชอบรูปแบบการเรียนรายวัน ชอบเรียนสั้นๆ เป็นคลิปวิดีโอ เช่น การบริหารเงิน การเรียนรู้ดิจิทัลเบื้องต้น ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร มีคนมาเรียนกว่า 3,000 คน คนเรียนรู้เยอะมาก จนเราคิดว่าจากนี้ไปจะพัฒนาเนื้อหาให้คนได้เรียนรู้ต่อไป

ดร. กำพล ฤทัยวณิช Senior Executive Vice President Human Resources Group, Mitr Phol Group

มิตรผลเลือกพัฒนาทีมในองค์กรขึ้นมาเพื่อคนในองค์กร หรือสมัครคอร์สกับสถาบันนอกองค์กร และผู้บริหารในโลกยุคใหม่เปลี่ยนตัวเองเยอะไหม

ดร. กำพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้ Knowledge management จากภายในค่อนข้างเยอะ เรามีองค์กรภายใต้ HR เรียกว่าสถาบันมิตรผล มีคอร์สให้เรียนรู้ตั้งแต่ระดับผู้นำลงมา สิ่งที่เราคุยกันบ่อยคือเรื่องความเร็ว เพื่อการแข่งขัน เป็นเรื่องที่เราคุยกันเยอะมาก และปรับเข้ามาเป็นวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น 

ขณะที่ กรรณิกา ระบุว่า เกษตรกรอายุมากขึ้น อาชีพเกษตรกรรมก็ไม่ค่อยดึงดูดคนรุ่นใหม่เท่าไร เราเรียกเขาว่า ทายาทเถ้าแก่ไร่อ้อย หรือ Young Smart Farmer หลายคนมาเรียนและไม่อยากกลับเข้าไปทำเกษตร แต่พื้นที่มีให้ดูแลเยอะมาก มิตรผลจึงไปคุยกับรุ่นลูก เขาบอกเงินเดือนไม่ค่อยได้ อิสระไม่ค่อยมี มิตรผลจึงคุยกับพ่อแม่ว่าต้องฟังเขาให้เขาทำในแบบของเขา

จากนั้น เขากลับไปทำงานที่บ้านได้รายได้เยอะกว่ามาทำที่ กทม. เสียอีก อาชีพจึงส่งต่อได้จากรุ่นถึงรุ่น เมื่อเขาเข้า กทม. ก็ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายเยอะ เราก็พยายามสร้างชุมชน ให้เขาทำเกษตรพื้นที่ เช่น การแบ่งพื้นที่เพื่อที่จะปลูกพืชผลอย่างอื่นให้พึ่งตัวเองมากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อ

คนแบบไหนที่มิตรผลจะเลือกให้เข้ามาร่วมทำงานด้วยได้บ้าง

ดร. กำพล กล่าวว่า Mitr มาจาก Mastery, Innovation เรามีความเชื่อในความสามารถ, Trustworthiness เชื่อถือได้ และ Resilience เวลาเรารับคนเข้ามาก็ต้องให้เขาเข้ากับวิถีหรือวัฒนธรรมองค์กรตามนี้ 

กรรณิกา ระบุนอกจากชาวไร่อ้อยแล้ว โรงงานเราอยู่ต่างจังหวัดและมีชุมชนรอบนอก เรามองเขาเป็นเพื่อนบ้าน เราทำพัฒนาชุมชน การจัดการชุมชน เกษตรชุมชน และเศรษฐกิจชุมชน เราพัฒนาคนที่อยู่ในชุมชนให้เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาชุมชนของเขาต่อไป 

องค์กรใหญ่ระดับ 4,000 กว่าคน 60 กว่าปี อยู่มาหลายสิบปี จะเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดแค่ไหน

ดร. กำพล มองว่าถ้าเป็นการผลิต การไม่ตอกบัตรเป็นเรื่องปกติ แต่ใช้สแกนลายนิ้วมือแทน ซึ่งก็อาจจะเพิ่มสแกนม่านตาในอนาคต ต่อไปจะใช้แรงงานคนน้อยลงไปรื่อยๆ เรามีธุรกิจในออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย 

กรรณิกา ระบุว่า วัตถุประสงค์หลักที่เราทำงานกับคนในชุมชน เพื่อทำให้เขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น รอบโรงงานมีหลายชุมชน หลายตำบล พื้นที่แข็งแกร่ง ดูแลตัวเองได้ เราจะขยับขยายไปยังพื้นที่อื่นได้อีก ขณะที่เราพยายามพัฒนาคนให้มี productivity เรายังมีโครงการมิตรอาสา ให้คนในโรงงานมาทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น เพื่อทำให้โรงงานและคนในชุมชนพัฒนากันไปอย่างยั่งยืนได้ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา