“มิตรผล” กับการเดินเกมมาตรฐาน Bonsucro รายเดียวในไทย ที่ทำให้น้ำตาลไม่ได้มีแค่ความหวาน

Bonsucro คือมาตรฐานกลางที่คนในวงการน้ำตาลทั่วโลกต่างยอมรับ เพราะเป็นการผลิตน้ำตาลอย่างยั่งยืน หรือควบคุมการผลิตตั้งแต่ชาวไร่ จนไปถึงผู้ซื้อ และจุดนี้เอง “มิตรผล” ยักษ์น้ำตาลไทย ก็เดินเรื่องนี้เต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรไทยโตไปด้วยกัน

พัฒนาจาก 4 หมื่น สู่ 4 แสนไร่

การได้มาซึ่ง Bonsucro นั้นไม่ง่ายๆ เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 470 ราย ใน 42 ประเทศ ผ่านมาตรฐานนี้เท่านั้น เพราะมีการตรวจคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และคำว่าคุณภาพนั้นไม่ได้หมายถึงแค่สินค้า แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้เกี่ยวของในแง่มุมต่างๆ เช่นเกษตรกร และองค์กรที่ซื้อน้ำตาลไปใช้งานด้วย

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มมิตรผล เล่าให้ฟังว่า หลังจากเดินกลยุทธ์เกษตรกรยั่งยืนมากว่า 60 ปี ด้วยมุมมองของบริษัทเอง ทำให้บางเรื่องอาจดูไม่ถูกต้อง หรือไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในระดับสากล ทำให้ต้องมี Benchmark กลางเข้ามาช่วยจัดระเบียบ และ Bonsucro ก็เป็นหนึ่งในมาตรฐานกลางที่เชื่อถือจากทั่วโลก

“การผ่านมาตรฐาน Bonsucro ทำให้เราทัดเทียมกับคู่แข่งต่างประเทศ และส่งออกไปยังลูกค้าที่ต้องการสินค้ามาตรฐานสูงได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีไร่อ้อยกว่า 40,000 ไร่ที่ผ่านมาตรฐาน จากที่เรามีทั้งหมด 2 ล้านกว่าไร่ และจำนวนนี้มันจะเพิ่มขึ้นแน่ โดยตั้งเป้าไว้ภายในปี 2564 ต้องมีตัวเลขแตะ 4 แสนไร่ทั่วประเทศ และเป็นรายเดียวในไทยที่ได้มาตรฐานนี้”

แม้ระยะแรกลงทุนสูง แต่ยาวๆ คุ้มค่า

อย่างไรก็ตามการจะได้มาซึ่ง Bonsucro นั้น ในระยะแรกต้องมีการลงทุนที่สูง เช่นการลงทุนเรื่องการดูแลโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และการไถกลบ รวมถึงการให้ความรู้เรื่องเกษตรเพิ่มเติมแก่กสิกรด้วย แต่เมื่อมองระยะยาวนั้น การลงทุนครั้งนี้จะเริ่มคุ้มค่า เพราะเมื่อมีไร่ที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวมากขึ้น ต้นทุนก็จะลดต่ำลงอัตโนมัติ

ขณะเดียวกันด้วยผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ตัว Bonsucro ก็จะมีบทบาทในการเลือกซื้อสินค้าเช่นเดียวกัน แต่มุมนี้อาจไม่โดดเด่นเท่าไรนัก เพราะฝั่ง B2B หรือการขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ จะเห็นภาพชัดกว่า เพราะคู่ค้าสามารถนำมาตรฐานนี้ไปต่อยอดกับสินค้าต่างๆ ได้

ล่าสุดทางมิตรผลได้มีคู่ค้าบริษัท คอร์เบียน (พูแรค) ประเทศไทย ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ก็ซื้อน้ำตาลที่ได้จากการผลิตตามมาตรฐาน Bonsucro เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าของบริษัท ทำให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เต็มรูปแบบ และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้เช่นกัน

สรุป

ตอนนี้กระแสธุรกิจที่มีความยั่งยืนกำลังเป็นที่จับตามองของหลายภาคส่วน และหากใครเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นได้ก็คงได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่มากก็น้อย แต่ต้องอย่าลืมว่าการจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีมาตรฐานกลางมาช่วยอ้างอิง มิฉะนั้นจะเป็นการยั่งยืนขึ้นมาแบบลอยๆ ไม่มีอะไรรับรอง เหมือนที่หลายธุรกิจเป็นอยู่ในทุกวันนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา