แทนที่จะอยากไปช็อปปิ้งให้ใจฟู ผู้บริโภคกลับมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่ช่วยให้สะดวกสบาย สร้างคุณภาพชีวิตให้ไลฟ์สไตล์ดีขึ้น แทนที่จะมองหาสินค้าฟุ่มเฟือบกลับมองหาแบรนด์ที่ตอบโจทย์ชีวิตแทน
Mintel บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคระดับโลกเผยคาดการณ์เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกในช่วง 10 ปีนับจากนี้จนถึงปี 2030 ในภาพรวมพบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น
สาเหตุมาจากการที่กิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด-19 ที่บั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหนื่อยมากเกินกว่าขีดจำกัดปกติ (Hyper Fatigue) ทั้งจากความไม่แน่นอน ความเครียด ปัญหาทางการเงิน การใช้เทคโนโลยีที่กินเวลาชีวิตมากยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้บริโภคด้วย แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้ผู้คนมีโอกาสใช้ชีวิตช้าลงและมีเวลาหาความหมายของชีวิตและตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง
ตัวอย่างผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร 71% กล่าวว่า การควบคุมเรื่องอาหารและการออกกำลังกายสำคัญต่อการจัดการความเครียด ขณะที่ 55% กล่าววา พวกเขาใช้เวลาข้างนอกบ้านเพื่อจัดการกับความเครียด
ผลจากความเหนื่อยล้าของโควิด-19 ทำให้แบรนด์จำเป็นต้องปรับตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตและเทคโนโลยีอยู่เหมือนเดิม แต่แบรนด์ก็จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีเข้าถึงผู้บริโภคให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้เสียสุขภาพจิตและมีพื้นที่ให้พักผ่อน รวมทั้งหลายแบรนด์ก็เริ่มมีสินค้าราคาประหยัดมากขึ้น
อย่างเช่นร้านกาแฟในญี่ปุ่นที่ภายในร้านมีพื้นที่ที่เงียบและมืดเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานเครื่องดื่มไปพร้อมกับการทำสมาธิ หรือร้านอาหารในมาเลเซียที่มี ‘เมนูสำหรับเงินเฟ้อ’ (“Nasi Inflas” หรือ “Inflation Rice”) ที่ราคาจานละประมาณ 27-38 บาทเพื่อรองรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นและลดความเครียดจากเรื่องการเงิน
นอกจากนี้ Mintel พบว่า ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าอย่างมีสติ ใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งที่วางแผนไว้แล้วว่าจะซื้อแทนที่จะซื้อสินค้าเพราะอยากลองใช้ ดังนั้นในช่วง 1 ปีจากนี้ จะเป็นพื้นที่แข่งขันที่เข้มข้นสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่จะแข่งกันเสนอโปรโมชันที่คุ้มค่าหรือการตรึงราคาไว้ไม่ปรับขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค
การที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ก็มาจากการใส่ใจกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัย และอนาคตข้างหน้ามากขึ้น Mintel จึงคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะได้เห็นแบรนด์ดำเนินธุรกิจอย่างมีเป้าหมายและมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ผู้บริโภคในประเทศอินเดียเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะผู้บริโภคเกือบครึ่ง (48%) เห็นด้วยว่า บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกได้มากกว่ารัฐบาล ส่วนผู้บริโภคในประเทศเยอรมนี 59 % ก็มองว่าพฤติกรรมการบริโภคของตัวเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อมได้
การอุดหนุนร้านค้าหรือผู้ผลิตในท้องถิ่นก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่จะเห็นในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะสาเหตุทั้งด้านการเงินที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินได้ ด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และด้านจิตวิทยาที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองกำลังตอบแทนสังคม
ผู้บริโภคอาจเห็นเทรนด์การขายสินค้าภายในท้องถิ่นใน 2 ลักษณะ อย่างแรก คือ แบรนด์ท้องถิ่นเองที่โปรโมทสินค้าท้องถิ่นของตัวเอง อย่างแบรนด์เนยของฝรั่งเศสที่โปรโมทว่าทำมาจากนมในแคว้นหนึ่งของฝรั่งเศส กับแบบที่ 2 คือ แบรนด์ระดับโลกพยายามดึงดูดผู้บริโภคด้วยการปรับเปลี่ยนสินค้าหรือเมนูอาหารให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ที่ร้านตั้งอยู่
ที่มา – Mintel
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา