ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2563 และ 6 เดือนแรกของปี 2563 ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) พบว่า รายได้จากการดำเนินงาน 6,682 ล้านบาทในไตรมาส 2 ลดลง 79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความท้าทายทั้งสามธุรกิจในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินมาตรการประหยัดค่าใช้ในทุกหน่ววยธุรกิจทั่วทุกภูมิภาค ค่าใช้จ่ายลดลง 50% เทียบกับปีก่อนหน้า
ผลการดำเนินงานจำแนกรายธุรกิจ
ธุรกิจร้านอาหาร ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 2,363 สาขา มีทั้งบริษัทลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์ แบ่งเป็นสาขาในไทย 1,582 สาขา คิดเป็น 67% และสาขาในต่างประเทส 781 สาขา คิดเป็น 33% ในอีก 25 ประเทศทั่วทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก
ร้านอาหารหารจำแนกตามแบรนด์ดังนี้ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ไทย เอ็กซ์เพรส, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, บอนชอน อื่นๆ (ร้านที่อยู่ในสนามบิน)
ผลประกอบการตามกลุ่มร้านอาหาร ไตรมาส 2 ปี 2563 ยอดขายรวมทุกสาขา รวมทั้งแฟรนไชส์ ลดลง 36.8% สาเหตุหลักมาจากการปิดให้บริการร้านอาหารและการปิดให้บริการนั่งทานในร้านอาหารชั่วคราวทั้งในไทยและออสเตรเลียท่ามกลางโควิด-19 ระบาด
ยอดขายผ่านช่องทางบริการจัดส่งอาหารและซื้อกลับบ้านเพิ่มขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงจากการนั่งทานภายในร้านได้บางส่วน ส่งผลให้ยอดขายต่อร้านเดิมลดลงราว 23.0%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบในอัตราที่น้อยกว่ายอดขายโดยรวมทุกสาขาเพียงเล็กน้อย อาทิ ซิซซ์เลอร์ -3% แดรี่ ควีน -11% เดอะ คอฟฟี่ คลับ -4% ไทย เอ็กซ์เพรส -5% เบนิฮานา -2% อื่นๆ (ร้านในสนามบิน) -1% และปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมิถุนายน เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่กลับมาเปิดให้บริการ
แม้ว่ากลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจะมียอดขายโดยรวมทุกสาขาลดลง 21.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 2 ปี 2563 แต่ยอดขายโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในแต่ละเดือนตลอดทั้งไตรมาส นอกจากนี้ กลยุทธ์ขยายเวลาแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ของเดอะพิซซ่า คอมปะนี ทำให้มียอดขายเติบโต 24.7%
สำหรับครึ่งปีหลัง 2563 คาดว่าทุกกลุ่มธุรกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไทยและจีน ซึ่งมียอดขายในระดับที่ใกล้เคียงยอดขายก่อนวิกฤต
ธุรกิจโรงแรม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี2563 บริษัทมีโรงแรมที่ลงทุนเอง 373 แห่ง มีโรงแรมและเซอร์วิส สวีทที่รับจ้างบริหาร 153 แห่ง ใน 55 ประเทศ มีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 75,187 ห้อง เป็นห้องที่บริษัทลงทุนเอง 56,299 ห้อง และห้องที่บริษัทรับจ้างบริหารจำนวน 18,888 ห้อง
ภายใต้แบรนด์อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช, คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว และเอเลวาน่า คอลเลคชั่น แบ่งเป็นห้องพักในไทย 4,782 ห้อง คิดเป็น 6% และเป็นห้องพักในต่างประเทศ 70,405 ห้อง คิดเป็น 94% ในอีก 54 ประเทศ ครอบคลุมทั่วทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา
ผลประกอบการตามประเภทการลงทุน โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเองและเช่าบริหาร กลุ่มโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเองและเช่าบริหาร มีสัดส่วน 66% ของรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมและโรงแรมทั้งหมดลดลง 95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โรงแรมในยุโรปและลาตินอเมริกามีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมที่บริษัทเป็นเจ้าของและเช่าบริหารลดลง 95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กลุ่มโรงแรมภายใต้สิทธิบริหารจัดการห้องชุด สัดส่วนรายได้คิดเป็น 21% ของรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนลดลง 69% YoY
โรงแรมภายใต้สัญญารับจ้างบริหาร คิดเป็น 9% ของรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมที่บริษัทรับจ้างบริหารลดลง 82% YoY
ภาพรวมของโรงแรมทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมและโรงแรมทั้งหมดลดลง 91% YoY อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักเฉลี่ยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าผลกระทบเชิงลบจากการระบาดของโควิด-19 จะปรับลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค
ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า ไตรมาส 2 ปี 2563 มีร้านค้าและจุดจำหน่ายจำนวน 466 แห่ง ลดลง 30 แห่ง จาก 496 แห่ง เป็นผลมาจากการปิดแบรนด์เซฟ มาย แบค และบางสาขาของร้านอเนลโล่
โดย 82% ของจำนวนร้านค้าและจุดจำหน่ายทั้งหมด 466 แห่ง เป็นของกลุ่มแฟชั่นภายใต้แบรนด์ อเนลโล่, บอสสินี่, บรูคส์ บราเธอร์ส, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โอวีเอส และแรทลีย์ ขณะที่ 18% เป็นของกลุ่มเครื่องใช้ในบ้านและครัวเรือน ภายใต้แบรนด์โจเซฟ โจเซฟ, สวิลลิ่ง เจ.เอ. เฮ็งเคิลส์ และโบเดิ้ม
การปิดสาขาส่วนใหญ่เป็นการชั่วคราวและสภาพแวดล้อมการค้าปลีกที่ชะลอตัวท่ามกลางมาตรการการปิดประเทศจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตลดลง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 2 ปี 2563 อย่างไรก็ตาม มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือนจากการกลับมาเปิดสาขากลางเดือนพฤษภาคม
แนวโน้มในอนาคต ก่อนที่มีการระบาดของโควิด-19 บริษัทได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรในทุกหน่วยธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวครอบคลุมกลยุทธ์ทางธุรกิจ โครงสร้างองค์กร ความเป้นผู้นำ และบุคลากร กระบวนการและประสิทธิภาพ ดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร การระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่วยเร่งให้กระบวนการดังกล่าวเร็วยิ่งขึ้นและเปลี่ยนให้บริษัทกลายเป็นองค์กรที่มีความว่องไวในการปฎิบัติงานมากขึ้น
รวมทั้งผลการประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ทำให้การบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสด และจัดการงบดุลอย่างรวดเร็ว
โรงแรมกลับมาเปิดให้บริการแล้วมากกว่า 70% ร้านอาหารมากกว่า 90% ไมเนอร์ โฮเทลส์ได้ดำเนินตามแผนกลยุทธ์ในการกลับมาเปิดให้บริการอย่างรอบคอบ มุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
ส่วนไมเนอร์ ฟู้ด ช่วงที่เหลือของปี 2563 จะให้ความสำคัญในระยะสั้นในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ผ่านการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจ และการขยายสาขาใรูปแบบที่เหมาะสมจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับการเติบโตของรายได้ ทั้งนี้ ไมเนอร์ ฟู้ดจะเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน
ด้านไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ ยังมุ่งเน้นสร้างรายได้ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซด้วยตลาดและแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่มากขึ้น
ที่มา – SET
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา