“ไมเนอร์” ประกาศจุดยืน! มีประสบการณ์/คุณสมบัติครบ ชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ

ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ หลังยืนซองประมูลแล้วถูกปรับสอบตก ทอท.อ้างว่าขาดประสบการณ์คุณสมบัติไม่ครบ

ยืนยันคุณสมบัติไม่บกพร่อง ธุรกิจครอบคุลมอาหาร ค้าปลีก โรงแรม

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงกับดราม่าการประมูลดิวตี้ฟรีที่ถึงแม้จะใกล้ถึงเวลาตัดสินแล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อีกทั้งยังส่อแววเอื้อผู้ประกอบการรายเดิมอีกด้วย

ซึ่งล่าสุดทางไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ได้ซื้อซองประมูล TOR ร่วมประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อบริหารจัดการพื้นที่รีเทลต่างๆ

ทางไมเนอร์ฯได้ยื่นซองประมูลไปเมื่อวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่ทางทอท.กลับให้ทางไมเนอร์สอบตกบอกว่าขาดคุณสมบัติ โดยที่ยังไม่ได้เปิดซองประมูลเลยด้วยซ้ำ ทำให้ทางไมเนอร์ฯ ต้องยื่นจดหมายอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลาง และวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นนอล จำกัด (มหาชน)

ทำให้ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลาง และวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นนอล จำกัด (มหาชน) ต้องออกโรงประกาศถึงจุดยืน พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จริงถึงสาเหตุที่ทางทอท.กล่าวอ้างในการปรับตกการประมูลในครั้งนี้

เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอสรุปเหตุการณ์ดังนี้

  • ทางไมเนอร์ฯ ยื่นซองประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิแห่งเดียว เป็นการบริหารร้านค้า ร้านอาหารที่อยู่ในสนามบิน พร้อมกับไปยื่นซองประมูลเมื่อวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยที่ภายในได้ระบุถึงแผนงานการบริหารต่างๆ
  • ไมเนอร์ฯ ซื้อซองประมูลในนามของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นนอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่บริหารบริษัทในเครือ
    1.
    บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจประเภทร้านอาหาร
    2.
    บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายสินค้าด้านแฟชั่น และไลฟ์สไตล์
    3.
    บริษัท รอยัล การ์เด้น พลาซ่า จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ศูนย์การค้า รอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา และ ศูนย์การค้า เทอร์เทิล วิลเลจ พลาซ่า
    4.
    บริษัท เจ้าพระยา รีซอร์ท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ศูนย์การค้า ริเวอร์ไซด์ พลาซ่า
minor food
ธุรกิจร้านอาหาร
  • ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นนอลถือหุ้นใหญ่ในบริษัทในเครือ 80-90% มีอำนาจในการบริหาร และกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ
  • แต่ทางทอท.ปรับให้ไมเนอร์ฯ สอบตก พร้อมกับบอกว่าขาดคุณสมบัติ ขาดประสบการณ์ ตามที่ระบุในข้อ 3 และข้อ 5 ของประกาศ ทอท. ระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องประสบการณ์ในการบริหารศูนย์การค้าที่มีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร และมีประสบการณ์ในบริหารร้านค้า และเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้าไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตรไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ทางทอท.มองว่าไมเนอร์ฯ ได้เอาประสบการณ์ของบริษัทอื่นไปยื่น อย่างไมเนอร์ ฟู้ด แต่จริงๆ แล้วไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจในบริษัทย่อย มีอำนาจควบคุมการดำเนินการธุรกิจอาหาร โรงแรม มีการส่งวาระการประชุมให้ทางทอท.ด้วย

  • ไมเนอร์ฯ มีการบริหารธุรกิจมาหลาย 10 ปี มีร้านอาหารในเครือรวมกว่า 1,000 สาขาในประเทศไทย แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ และยังมีธุรกิจโรงแรมอีกกว่า 60 ประเทศ
  • ชัยพัฒน์บอกว่าไมเนอร์ฯ มีประสบการณ์ทำธุรกิจมาหลายสิบปี เหตุผลว่าขาดประสบการณ์คงไม่ใช่ ยืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน เรียกร้องให้ท่าอากาศยานทบทวน และพิจารณาว่าคุณสมบัติเพียงพอเข้าไปแข่งขัน ต้องการทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดีขึ้น การมีการแข่งขันที่สมบูรณ์จะดีต่อประเทศชาติ แทนที่จะมีผู้เล่นรายเดียว
  • แผนยังอยู่ในซอง ทางทอท.ยังไม่เปิดด้วยซ้ำไป เราคิดว่าเรามีครบทุกอย่าง ทางเขาไม่แม้กระทั่งเปิดซองดูแผนธุรกิจว่าเรามีศักยภาพ

ทั้งนี้การประมูลธุรกิจ Duty Free ในสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้ซื้อซอง TOR รวม 4 ราย ได้แก่ เซ็นทรัล, คิง เพาเวอร์, บางกอกแอร์เวย์ และไมเนอร์ฯ แต่ทางไมเนอร์สละสิทธิ์ไม่ยื่นซองประมูลเสนอแผนธุรกิจ

ส่วนของการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้ซื้อซอง TOR 4 ราย ได้แก่ ไมเนอร์ฯ, เซ็นทรัล, คิงเพาเวอร์ และกลุ่มเดอะมอลล์ แต่ทางเดอะมอลล์สละสิทธิ์ไม่มายื่นซองประมูล อีกทั้งไมเนอร์ยังถูกปรับสิทธิ์ตก เท่ากับว่าตอนนี้เหลือ 2 รายเท่านั้น

เท่ากับว่าตอนนี้ต้องรอให้ทางทอท.พิจารณาข้อเสนอของไมเนอร์ฯ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเหลือเพียงแค่วันอังคารที่ 28 เพียงแค่วันเดียว เพราะจะเปิดให้เข้านำเสนอแผนธุรกิจในวันพุธที่ 29 พฤษภาคมนี้แล้ว

สรุป

ยังไม่อาจทราบได้ว่าที่จริงแล้วเจตนาของทอท.ต้องการให้การประมูลธุรกิจดิวตี้ ฟรีในครั้งนี้ออกมาอย่างไร จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายเดิมหรือไม่ การตีความหลายๆ อย่างจะเป็นการตีความแบบศรีธนญชัยหรือเปล่า แล้วสุดท้ายประเทศชาติจะได้ผลประโยชน์ หรือเสียผลประโยชน์จากการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ ต้องติดตามกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา