ยักษ์ขยับ! “ไมเนอร์ กรุ๊ป” หนุน Food Tech ไทย รับไอเดียสดใหม่จากสตาร์ทอัพ

ไมเนอร์ กรุ๊ป ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน Hackathon Food and Dining Tech 2018 เพื่อร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ Food and Dining Tech หวังนำไอเดียต่อยอดธุรกิจใจอนาคต

แบรนด์ใหญ่ ยังต้องอาศัยไอเดียสดใหม่จากสตาร์ทอัพ

ใครว่าธุรกิจอาหารจะไม่ถูก Digital Disruption ในยุคนี้เทคโนโลยีสามารถทำให้เกิดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ธุรกิจอาหารที่หลายคนมองว่าอย่างไรแล้วก็คงไม่ถูกดิจิทัลเข้ามาเข้ามากลืนกินเท่านัก แต่ก็ยังมีอิทธิพลมากอยู่ไม่น้อย

ทำให้ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” เองก็ต้องรับมือกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการร้านอาหาร เป็นผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านอาหารต่างประทเศมากมาย แต่ก็อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจ

ในยุคนี้เป็นยุคของ “สตาร์ทอัพ” คิดเร็ว ทำเร็ว มีไอเดียสดใหม่ หลายองค์กรได้หันมาทำการสนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อนำเอาไอเดียมาต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้

ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของไมเนอร์เช่นกัน จึงได้ทำการเปิดตัว “Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” เป็นการจับมือร่วมกับพันธมิตร ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ และ 500 TukTuks ในการประกาศรับสมัครสตาร์ทอัพทางด้าน Food and Dining Tech

ไมเนอร์ต้องการไอเดียที่สดใหม่ของเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพเพื่อมาร่วมเปลี่ยนภาพธุรกิจอาหาร และธุรกิจค้าปลีกอาหาร เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารของคนไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า

วิลเลี่ยม ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 ปีที่แล้ว จึงต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับ Disruptor ที่จะเข้ามามีผลกระทบกับธุรกิจของเรารวมถึงยังมีการจับมือกับนักพัฒนานวัตกรรมและดิสรัปท์เทอร์ เพื่อค้นหาแนวทางในการช่วยสร้างการเจริญเติบโตและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของเรา

การทำธุรกิจในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การแข่งขันระหว่างบริษัทอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งขันกันในด้านของนโยบาย และระบบความสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อม จึงเชื่อว่าธุรกิจที่จะอยู่รอดจะต้องมีนวัตกรรมที่ดีและปรับตัวได้เร็วที่สุด ไมเนอร์กรุ๊ปจึงได้เปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ นักพัฒนานวัตกรรม และดิสรัปท์เทอร์ที่มีมุมมองสดใหม่ พ่วงด้วยความคิดแหวกแนว เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์”

จับตา Food Tech เติบโตกระฉูด

ทางด้าน กระทิง พูลผล Managing Partner  ของ 500 TukTuks และผู้ก่อตั้งดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ กล่าวว่า

“โลกของเรากำลังก้าวเปลี่ยนผ่านจากยุค Digital Disruption เข้าสู่ยุค Deep Tech Disruption โดยเทคโนโลยีดีพเทคนั้น เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อโลกในยุคปัจจุบัน ในส่วนของระบบดีพเทคนั้น Food Tech เป็นหนึ่งในส่วนที่มีความน่าตื่นเต้นที่สุด โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโต 20% ต่อปี ภายในปี 2022

อีกทั้งในไทยยังขึ้นชื่อว่าเป็น “ครัวโลก” หรือเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของธุรกิจค้าปลีกอาหารและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพเป็นอย่างสูงในการช่วยสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทย ทำให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตสูงในอนาคต”

6 Food Tech แบบไหนที่ไมเนอร์สนใจ

6 หัวข้อหลักในงาน “Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” ที่ไมเนอร์สนใจร่วมลงทุนนั้นมีอะไรบ้าง

  1. Future of Food Retail Service

ร้านอาหารที่ได้รับความนิยมในอนาคต จะเป็นมากกว่าร้านขายอาหารธรรมดา แต่จะเป็นที่ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ดี พร้อมความสะดวกสบายรวดเร็ว และสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ ร้านค้าปลีกและร้านอาหารต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างเป็นจุดขาย แก้ไขปัญหาที่ลูกค้ามักพบเจอในร้านอาหาร

นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถเข้าใจพฤติกรรม และความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นรวมถึงการสร้างประสบการณ์ล้ำสมัยเพื่อดึงดูดลูกค้า ตัวอย่างเช่น ระบบ AI ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมสำหรับ Royalty Program,Touch Board อัจฉริยะเพื่อการสั่งอาหารแบบไร้คิว, หุ่นยนต์ทำอาหาร,Chatbot รับออเดอร์อาหารออนไลน์, ระบบ Facial Recognition ที่ตรวจจับสีหน้าลูกค้า,การรับ Feedback จากลูกค้าอย่างรวดเร็ว หรือเมนูอาหารใน VR

Photo : Shutterstock
  1. Future of Franchise

ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มาพร้อมการบริหารธุรกิจจากสมาร์ทโฟนระยะไกลเป็นตัวอย่างของระบบที่ช่วยปรับปรุงการดำเนินงานช่วยให้สามารถจัดการแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านที่มีความแม่นยำมากขึ้นทั้งในแง่ของการนำเสนอผลิตภัณฑ์,การตลาด, การบริหารธุรกิจ

ในทางกลับกันก็มีสตาร์ทอัพที่สร้างบริการเฉพาะขึ้นมาสำหรับแฟรนไชส์ เช่นแอพพลิเคชันการจัดการร้านอาหารแฟรนไชส์บนมือถือที่ช่วยให้แฟรนไชส์สามารถจัดการร้านอาหารของตนได้จากระยะไกล หรือการตรวจสอบร้านออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้จัดการระดับภูมิภาคสามารถตรวจสอบดูแลร้านค้าได้ง่ายขึ้น คาดว่าเทคโนโลยีจะยังคงมีผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแฟรนไชส์นี้

  1. Dining for Aging Society

กลุ่มคนผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะมีอิทธิพลในอนาคต เนื่องจากโลกก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเข้าไปทุกที ทั้งในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เองส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งตัวสังคมเองและวงการธุรกิจ จะเห็นได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง

สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยสำหรับกลุ่มคนผู้สูงอายุ คือ อาหาร ซึ่งแปรผันโดยตรงต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ผักที่มีคุณค่าทางโปรตีนสูง และ Plant-Based Foods เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพ

การประสบปัญหาการเคี้ยวและกลืนลำบากในคนสูงวัย ถูกปฏิรูปด้วยเทคโนโลยีจากการเข้ามาของ Jelly-Type Meal ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและยังคงความน่ารับประทาน ในเรื่องของการบริการของร้านค้า อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้เข้าถึงและตอบโจทย์กับกลุ่มคนกลุ่มใหม่นี้ที่จะมีอิทธิพลในอนาคต เช่น การบริการด้วยตนเองที่ง่ายและสะดวกสบายขึ้น หรือการออกแบบการจัดพื้นที่รูปแบบใหม่ ๆ  เพื่อรองรับกับเก้าอี้/รถเข็น หรือกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุในอนาคต ในร้านเฟรนไชส์ต่างๆ

  1. Digitization of Restaurants

ปัจจุบันบางร้านอาหารเริ่มจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น อย่างระบบการจองคิวร้านอาหาร หรือการสั่งเมนูได้เองจากที่โต๊ะ เทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงร้านอาหารได้ทุกจุด หรือเรียกได้ว่าสามารถส่งผลได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มากกว่าแค่ให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้า แต่ยังสามารถเข้ามาทำให้การบริหารจัดการร้านอาหารนั้นเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้นด้วย เช่นการสั่งวัตถุดิบ, การเช็ค/นับสต็อควัตถุดิบ,การจัดการคลังสินค้า, การบริหารและควบคุมต้นทุน, การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาด, การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า, การจัดการพนักงาน, การควบคุมคุณภาพสินค้า เป็นต้น

Photo : Shutterstock
  1. Future of Dining for the Hyper Millennials

กลุ่มคน Millennials มีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างแตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ เนื่องจากเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ให้ความสะดวกสบาย คนวัยนี้จึงชอบการบริการที่มีความสะดวกรวดเร็วโดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ร้าน ที่จะต้องเลือกและตัดสินใจจากประสบการณ์หรือเรื่องราวที่ทางร้านมอบให้ดังนั้น การทำความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ ตั้งแต่การค้นหาร้านอาหาร การรีวิว การแชร์ใน Social Media รวมถึงการทำการตลาดไปจนการบริการที่แตกต่างและมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับกลุ่มคน Millenials

  1. Delivery 4.0 and Beyond

อัตราการการสั่งและส่งอาหารแบบ Delivery เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องถึงปีละ 21.1% โดยเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุด คือการส่งอาหารจากร้านอาหารถึงลูกค้าโดยตรงสิ่งสำคัญในการให้บริการในธุรกิจนี้ คือการตรวจสอบราคาอาหารล่วงหน้าเช็คเวลา ราคาค่าส่งการหาผู้ส่งอาหารและผู้ให้บริการเข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมคุณภาพผู้ให้บริการรวมถึงการสร้างครัวที่เป็นจุดส่งอาหารขนาดเล็กหรือเป็น Shared Kitchen ขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้นช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งอาหารให้กับลูกค้าและย่นเวลาในการส่งอาหารอีกด้วย

“Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” ประกาศรับสมัครนักพัฒนานวัตกรรมทั่วประเทศ ร่วมประชันไอเดียในงาน แฮกกาธอน(Hackathon) ทางด้านอาหารและธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่วันนี้ ถึง 9 พฤศจิกายน 2561ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 ธันวาคมนี้

โดยทีมที่ได้รับคัดเลือกให้จะได้มีโอกาสเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษามืออาชีพ ได้แก่ วิลเลี่ยม ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, กระทิง พูนผล Managing Partner ของ 500 TukTuksและ Founder ของ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์, ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด (Wongnai) และณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee)

สำหรับทีมผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท โดยรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และที่ 2 จะได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ ยังจะได้รับโอกาสการสนับสนุนในระยะยาวจากไมเนอร์กรุ๊ป และ 500 TukTuks เพื่อร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ Food and Dining Tech

สรุป

ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของไมเนอร์ กรุ๊ปในการเข้าสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพราะในยุคนี้ไม่สามารถคิดได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ และไอเดียจากคนนอกเพื่อต่อยอดธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่าแม้จะเป็นองคืกรใหญ่ ก็ยังต้องปรับตัว มองหาโมเดลใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา