Minor พร้อมลุยตลาดหลังโควิด สร้างครัวกลาง ทยอยเปิดร้าน ปรับเมนูใหม่เอาใจผู้บริโภค

ธุรกิจอาหารนับว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรงที่สุดธุรกิจหนึ่ง ผู้ประกอบการแต่ละรายจำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนไปให้ได้

เช่นเดียวกับ Minor Food ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักในทวีปเอเชีย และในประเทศไทย เช่น The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, Dairy Queen, Burger King และ Bonchon โดยในปัจจุบัน Minor Food มีร้านอาหารภายในเครือ 2,200 ร้าน ใน 26 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Minor Food ได้รับผลกระทบ และจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอดในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน

ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าว่า Minor Food ได้เรียนรู้สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศจีนก่อน ทำให้ร้านอาหารของ Minor Food ในประเทศจีนต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกลับมาเปิดได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้ Minor มีประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์โควิด-19 ในไทยได้

นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา Minor Food ยังมีการ Digital Transformation ภายในองค์กร โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้าดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะ Platform Food Delivery ของตัวเอง ที่กลายเป็นสิ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ดิลลิป ราชากาเรีย เล่าว่า ในขณะนี้ร้านอาหารในเครือ Minor Food ในประเทศไทย สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้วกว่า 95% ยกเว้นร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่ยังคงปิดอยู่อีกประมาณ 15 แห่ง โดย Minor Food ต้องใช้ความระมัดระวัง และพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเปิดร้านอาหารแต่ละแห่ง รวมถึงต้องระมัดระวังการลงทุนด้วย โดยจะเน้นไปที่การลงทุนที่ได้ผลในระยะยาว เช่น ระบบ Digital

โดยในขณะนี้ยอดขายของร้านอาหารกลับมาอยู่ในระดับ 60-70% ของช่วงสถานการณ์ปกติแล้ว และได้ผ่านจุดต่ำสุดไปตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งคาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับปกติเหมือนก่อนช่วงโควิด-19 ภายในช่วงปลายปีนี้

กลยุทธ์ Minor Food ช่วงวิกฤตโควิด-19

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ ของ Minor Food ได้เล่าถึงกลยุทธ์ที่ใช้ในการปรับตัว ทั้งช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยอดขายจากบริการเดลิเวอรีเติบโตขึ้น 3 เท่า โดย Minor จะเน้นการการสร้าง Platform ของ Minor เอง โดยในปัจจุบันสัดส่วนของบริการเดลิเวอรี่ แบ่งออกเป็นผ่านช่องทางของตัวเอง 60-70% และแอปพลิเคชันเดลิเวอรีต่างๆ อีก 30-40% ขึ้นอยู่กับแบรนด์ของร้านอาหาร

ในอนาคต Minor Food วางแผนจะสร้าง Royalty Program เพื่อสะสมแต้มจากการรับประทานอาหารของร้านอาหารภายในเครือ โดยผู้บริโภคสามารถใช้แต้มข้ามร้านอาหารได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีการ

เมนูอาหารต้องตอบรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

เมื่อสถานการณ์บังคับให้ธุรกิจร้านอาหาร ต้องอาศัยรายได้หลักจากบริการเดลิเวอรี Minor Food จึงต้องปรับเมนูอาหาร ให้ตอบโจทย์การเดลิเวอรีมากที่สุด ทุกเมนูต้องสั่งผ่านบริการเดลิเวอรีเพื่อนำกลับไปทานที่บ้านได้ รวมถึงต้องปรับเมนูให้ตอบกับความต้องการของคนไทยมากที่สุด ประพัฒน์ยกตัวอย่างร้าน Swensen’s ว่า ได้นำเอาเมนูไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวานมาตอบโจทย์คนไทย แทนที่จะขายแค่ไอศกรีมรสชาติเดิมๆ ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ

เปลี่ยนรูปแบบร้านอาหาร ปรับตัวรับความต้องการใหม่ๆ

Sizzler เป็นร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะสาขาทั้งหมดของ Sizzler ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ทำให้เมื่อมีการล็อคดาวน์ Sizzler ก็ต้องปิดร้านตามไปด้วย เพราะห้างสรรพสินค้าปิดให้บริการ Sizzler To Go จึงกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ Minor Food นำมาใช้ โดยเน้นตั้งร้านในรูปแบบคีออสกลางเมือง เพราะเมนูอาหารของ Sizzler ยากต่อการส่งเดลิเวอรี

นอกจากนี้ยังมี Cloud Kitchen ครัวกลางที่รวบรวมเอาร้านอาหารหลายๆ แบรนด์เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายแบรนด์ในออเดอร์เดียว

ส่วนการจ้างงานของพนักงาน เนื่องจาก Minor เป็นบริษัทที่มีธุรกิจในเครือหลายอย่าง จึงสามารถสลับให้พนักงานเข้าทำงานในร้านอาหารอื่นๆ ก็ได้ โดยประพัฒน์ ยกตัวอย่างว่าพนักงานในร้านอาหารที่ภูเก็ตที่ปิดตัวลง ก็สามารถเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แทนได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา