กฏ MiFID II กับการปรับตัวของของสถาบันการเงินและนักลงทุนทั่วโลก

ช่วงนี้วงการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, ธนาคาร, เริ่มมีการเคลื่อนไหว ต้นเดือนมกราคมปีหน้าที่กำลังจะมาถึง อาจทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, ธนาคาร หรือแม้แต่ Hedge Fund จะต้องเริ่มปรับตัวกับกฏ MiFID II ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ หลังจากเลื่อนการใช้มา 1 ปี ถึงแม้ว่ากฏนี้จะใช้ในสหภาพยุโรป แต่มีผลกระทบต่อวงการการเงินทั่วโลก

กฎ MiFID II คืออะไร
กฎ MiFID II (Markets in Financial Instruments Directive II) ถ้าจะอธิบายได้แบบเข้าใจง่ายๆ คือกฏที่บริษัทหลักทรัพย์, วาณิชธนกิจ จะต้องแยกเรื่องค่า Commission ซื้อขายหลักทรัพย์, ตราสารหนี้, ETF, ค่าเงิน ฯลฯ ออกระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ออกจากกันเพื่อเพิ่มความโปร่งใส เช่นค่าใช้จ่ายในการทำบทวิเคราะห์ ฯลฯ

เป้าหมายของกฏ MiFID II บางข้อ

– มีความโปร่งใสมากขึ้นกว่าเดิม
– ค่า Commission เวลาซื้อหลักทรัพย์จะต้องถูกลง (เพราะได้หักค่าทำบทวิเคราะห์หรืออื่นๆ ออกไปแล้ว)
– ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการข้อมูลหลักทรัพย์ (เช่น ราคาหุ้น, ดัชนี) ลดลง
– แยกค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน

กฎ MiFID II มีขอบเขตขนาดไหน

กฏนี้มีขอบเขตที่ตรงที่การซื้อขายหลักทรัพย์, ตราสารหนี้, ETF, ค่าเงิน ฯลฯ ที่มีธุรกรรมหลักอยู่ในทวีปยุโรป หรือแม้แต่หลักทรัพย์ที่อ้างอิงอยู่ในทวีปยุโรปก็ถือว่าตกอยู่ในกฏนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราจะซื้อ Futures ที่อ้างอิงหุ้นของ ING ในตลาดสหรัฐอเมริกา หรือซื้อ ETF หุ้นทวีปยุโรปของ Lyxor ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ก็ถือว่าอยู่ในเงื่อนไขนี้เช่นกัน

กฎ MiFID II มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนยังไง

ในอดีตค่า Commission จะรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการทำบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์เองด้วย ดังนั้นลูกค้าของสถาบันการเงินที่บรรดาเหล่ากองทุน, Hedge Fund ที่ใช้บริการอยู่จะได้รับบทวิเคราะห์ฟรี แต่หลังจากต้นปีหน้าเป็นต้นไปหลังจากกฏ MiFID II เริ่มใช้สถาบันการเงินที่ต้องใช้บทวิเคราะห์จะต้องซื้อบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์

สถาบันการเงินปรับตัวอย่างไรกับเรื่องบทวิเคราะห์ (เจ้าปัญหา)

ขณะที่เขียนบทความนี้ล่าสุดสถาบันทางการเงินทั่วโลกได้แบ่งแยกเป็นสามฝ่ายคือฝ่ายแรกคือค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อบทวิเคราะห์จะไปหักกับลูกค้า กับอีกกลุ่มคือทางสถาบันจะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง กลุ่มสุดท้ายคือยังไม่แน่ใจหรือไม่ก็ยังงดออกความเห็นให้สื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้

ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อบทวิเคราะห์จะไปหักกับลูกค้า

– BNP Paribas
– Amundi
– Man Group
– Carmignac
– Deka

สถาบันจะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายสำหรับบทวิเคราะห์เอง

– Allianz Global Investors
– Axa Investment Managers
– Aviva Investors
– Deutsche Asset Management
– BlackRock
– Franklin Templeton
– Vanguard
– HSBC Global Asset Management
– T Rowe Price
– Schroders
– PIMCO
– Invesco
– J.P.Morgan Asset Management
– Northern Trust Asset Management
– Aberdeen
– UBS

ยังตัดสินใจไม่ได้ / งดให้ความเห็น

– BNY Mellon
– Lyxor
– Nordea
– Goldman Sachs Asset Management
– Fidelity International
– State Street Global
– Morgan Stanley Asset Management
– Credit Suisse Asset Management

สำหรับกลุ่มแรกที่ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อบทวิเคราะห์จะไปหักกับลูกค้านั้น ล่าสุดนั้นจะเห็นได้ว่าจำนวนได้ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดนกระแสนักลงทุนกดดันและอีกส่วนหนึ่งคือจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ทำกองทุนด้วยกันส่วนใหญ่พร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง ทำให้ต้องสถานการณ์เปลี่ยนอะไรก็ต้องเปลี่ยน

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ หรือแม้แต่บริษัทที่ทำบทวิเคราะห์ก็เริ่มมีท่าทีออกมาแล้วยกตัวอย่างเช่น

– Bank Of America Merrill Lynch ยืนยันค่าบริการบทวิเคราะห์แบบพรีเมี่ยมปีละ 80,000 เหรียญสหรัฐ / คน ให้บริการแบบ Premium โดยสามารถโทรปรึกษานักวิเคราะห์ได้ เข้าร่วมประชุมและสัมมนาที่จัดโดย Bank Of America ได้ หากองค์กรนั้นมีคนที่ต้องใช้บทวิเคราะห์เยอะ ก็จะมีราคาอีกรูปแบบ
– Danske Bank A/S ไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม
– Deutsche Bank คิดค่าบริการบทวิเคราะห์เริ่มต้นที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ หลังจากราคาเริ่มต้นที่ 70,000 เหรียญสหรัฐดูแล้วแพงไป เลยลดราคาลงมา แต่ยังไม่รวมบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่แยกเป็นแพ็คเกจอีกต่างหาก
– Credit Agricole ตอนนี้ได้ลดราคาบทวิเคราะห์ลงมาเริ่มต้นที่ประมาณ 120,000 ยูโร เหลือแค่ 24,000 เหรียญสหรัฐ
– Alliance Bernstein คิดค่าบริการต่อ 1 องค์กรที่ 150,000 เหรียญสหรัฐ สามารถต่อรองได้
J.P. Morgan คิดค่าบริการบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่อปีที่ 10,000 เหรียญสหรัฐ
– ING จะแยกทำเว็บไซต์สำหรับวิเคราะห์เศรษฐกิจไว้ให้ฟรี ชื่อว่า ING Think
Credit Suisse จะให้บริการบทวิเคราะห์ในส่วนตราสารหนี้ฟรี
– BBVA, NatWest, และ Daiwa จะให้บริการบทวิเคราะห์บางส่วนฟรี
– Nomura คิดค่าบริการบทวิเคราะห์สูงสุดปีละ 134,000 เหรียญสหรัฐ และสามารถต่อรองได้ แต่เป็นราคาแค่ตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและบทวิเคราะห์เศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนราคาสำหรับบทวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้นยังไม่มีรายงานออกมา
– Barclays จะแยกบริการส่วนบทวิเคราะห์เป็น 3 แพ็คเกจโดยแพ็คเกจที่แพงที่สุดอยู่ที่ 455,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยได้บทวิเคราะห์ทุกรูปแบบ สามารถพูดคุยกับนักวิเคราะห์ได้ตัวต่อตัว และพบผู้บริหารบริษัทต่างๆ แบบตัวต่อตัวหาก Barclays จัดงานสัมมนาดังกล่าว ส่วนแพ็คเกจถูกสุดอยู่ที่ 39,000 เหรียญสหรัฐ อ่านได้แค่บทวิเคราะห์อย่างเดียว
UBS คิดค่าบริการบทวิเคราะห์เริ่มต้นที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ

จากด้านบนนี่ยังเป็นราคาคร่าวๆ เราอาจต้องรอก่อนปลายปี อาจได้เห็นราคาสุดท้ายจากแต่ละที่ เพราะตอนนี้เหล่าธนาคาร วาณิชธนกิจ ต้องปรับราคากันฝุ่นตลบ จะเห็นได้จาก Deutsche Bank และ Credit Agricole ตัดราคาลงมาแบบมหาศาลมากๆ

หลังจากนี้เกิดอะไรขึ้นต่อ

ผู้บริหารของ Reyl & Cie ซึ่งเป็น Private Bank ที่สวิสเซอร์แลนด์กล่าวไว้ว่าหลังจากกฏ MiFID II ออกมาจะทำให้เมล์บอกซ์ของเค้านั้นโล่งขึ้นเพราะว่าได้เลือกสมัครบริการวิเคราะห์หลักทรัพย์ไว้ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่มัน”เยอะและไม่รู้จะอ่านอันไหน”

บริษัทหลักทรัพย์รายเล็กๆ ในประเทศอังกฤษ กำลังจะประสบปัญหาคือค่า Commission สำหรับเวลาซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง ทำให้กำไรของบริษัทหลักทรัพย์ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก

Jonathan Pruzan Chief Financial Officer ของ Morgan Stanley ได้ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากกฏ MiFID II ออกมา ท้ายที่สุดแล้วเหล่าวาณิชธนกิจเจ้าใหญ่ๆ ก็เป็นผู้ชนะในเกมนี้อยู่ดี เพราะถ้าหากไม่ใช่กองทุนใหญ่ๆ ไม่มีทางที่จะสามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อบทวิเคราะห์ได้เยอะๆ แน่นอน

นักวิเคราะห์ในทวีปยุโรปก็ต้องเริ่มทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้สถาบันที่ทำบทวิเคราะห์นั้นมีความเชื่อถือมากกว่าเดิม ทำให้ลูกค้าอย่างกองทุนมาซื้อบทวิเคราะห์ไป ซึ่งปัญหาของกองทุนก่อนที่จะมี Mifid II คือพบว่าบทวิเคราะห์มีมากเกินไป

ปัญหาต่อมาที่เราจะเริ่มได้เห็นคือนักวิเคราะห์ดังๆ ที่วิเคราะห์หลักทรัพย์เก่งๆ ในยุโรปหลายๆ คนหันออกมาเปิดบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือตราสารหนี้เอง ยกตัวอย่างเช่นนักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มการบิน ของ Barclays ได้ลาออกมาเปิดบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอง คิดค่าบริการที่ปีละ 160,000 เหรียญสหรัฐ

แล้วนักลงทุนหรือสถาบันการเงินไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่

สำหรับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยบ้านเราในกรณีที่แย่ที่สุดอาจแค่เสียค่าธรรมเนียมกองทุนหุ้นยุโรปมากขึ้นเพียงแค่เล็กน้อย ถ้าหากกองทุนที่ท่านลงทุนนั้นอยู่ในกลุ่มแรกที่ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อบทวิเคราะห์นั้นไปหักเพิ่มที่ลูกค้า แต่แนะนำให้ติดตามดูกองทุนที่ท่านลงทุนอยู่ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า

ส่วนสถาบันการเงินไทยหากรับบทวิเคราะห์ต่างๆ จากธนาคารหรือวาณิชธนกิจในทวีปยุโรป ก็อาจต้องมาคำนวณหาต้นทุนเพิ่มว่าควรจะรับบทวิเคราะห์กับธนาคารหรือวาณิชธนกิจรายไหนในทวีปยุโรป อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่สามารถจ่ายได้

ที่มา – Bloomberg [1], [2]
Financial Times [1], [2], [3]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ