เตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ วัยแห่งความเจ็บปวด: ทั้ง Midlife Crisis ทั้งการเงินแบบแซนวิช

ถ้าพูดถึงประเด็น Midlife Crisis มีทั้งคนที่เห็นภาพชัดเจนและคนที่ยังจินตนาการไม่ออก แต่ถ้านับงานศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้ มีทั้งการพูดถึงช่วงวัยที่มีความสุขที่สุดของคนจะอยู่ที่ราวๆ 47 ปีขึ้นไป 

หลายงานศึกษาระบุว่า Midlife Crisis นี้ เป็นช่วงวัยที่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่นอนไม่ค่อยพอในแต่ละคืน มีความอ่อนล้า มีความหดหู่ เศร้าใจ และมีปัญหาเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ งานศึกษาจากสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าช่วงวัยดังกล่าว ระหว่างอายุ 35 ปี – 64 ปี ยังมีการเสียชีวิตจากความสิ้นหวัง มีการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอลล์อย่างหนักจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายด้วย ปัญหาดังกล่าวสอดคล้องกับสถานภาพทางการเงิน ความทุกข์ และความเครียดสั่งสม

ช่วงชีวิตของคนแต่ละช่วงวัยมีความยาก-ง่ายในการใช้ชีวิตแตกต่างกัน ถ้าเป็นช่วงเด็กและวัยรุ่น ปัญหาเรื่องการค้นหาตัวเองให้เจออาจเป็นเรื่องยากอันดับต้นๆ ไหนจะแรงกดทับจากอำนาจเบื้องบนทั้งคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติมิตรทั้งหลายที่ไม่ได้ผลักดันให้เด็กถนัดหรือเชี่ยวชาญตามแนวทางที่เขาสนใจ 

แต่ละวัยก็จะมีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแตกต่างกัน ช่วงพ้นวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็สาหัสไม่แพ้ช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะช่วงชีวิตที่มีสิ่งกดดันรอบทิศทาง ทั้งด้านบน ด้านข้าง และด้านหลัง 

หลากปัจจัยถาโถม: การเข้าสู่ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไม่ง่าย แถมปัญหายังรุมเร้า

เมื่อแบ่งแยกปัจจัยแวดล้อมชีวิตออกเป็นด้านบน ด้านข้าง และด้านหลัง อาจแบ่งได้ ดังนี้ ปัจจัยกดดันด้านบน อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวโขน ตำแหน่งหนที่ทางการงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ ด้านข้าง อาจเป็นคู่ชีวิต เพื่อนร่วมงาน คนให้คำปรึกษา ด้านหลังคือครอบครัว ลูก พ่อแม่ และญาติมิตร แต่ละบุคคลที่แวดล้อมคนแต่ละคนย่อมมีความสำคัญและบทบาทแตกต่างกัน 

ในที่นี้เรากำลังสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตมนุษย์เงินเดือน ชีวิตมนุษย์ผู้ประกอบการ ชีวิตของคนที่มีภาระการเงินรอบทิศทาง และแรงกดดันมหาศาลจากปัจจัยรอบนอก อาทิ วิกฤตทั้งจากโรคระบาดรุมเร้า เศรษฐกิจย่ำแย่ การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ล้วนสร้างผลกระทบทั้งสิ้น 

ภาพจาก Shutterstock

ขณะที่ปัจจัยภายในมีทั้งเรื่องสุขภาพจิตที่ต้องโอบกอดตัวเองในแต่ละวันให้ผ่านพ้นไปได้ สุขภาพการเงินที่ต้องพยายามจัดการทุกปัญหาและความรับผิดชอบที่ถาโถมเข้ามาหลากมิติ ไหนจะถูกลดเงินเดือน ปลดออกจากการทำงาน ตกงาน ว่างงาน หางานทำไม่ได้ หนี้ก็ต้องใช้ ค่าใช้จ่ายก็ต้องมี หรือสุขภาพกายที่ต้องรับมือป้องกันโรคระบาดตลอดเวลา รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งเพื่อให้ตัวเองไม่เจ็บ ไม่ป่วย จนภาระสุมตัวต้องมีค่ารักษาทางการแพทย์ ค่ายา ไปจนถึงค่าขอคำปรึกษาจากหมอทั้งหลาย เป็นต้น 

กรณีตัวอย่างที่เราเห็นกันชัดเจนล่าสุด คือประเด็นที่เป็นข่าวดังเรื่องดารา ผู้เป็นพ่อขอสิทธิ์ในการปกครองบุตร แม่ไม่ให้สิทธิ์และอ้างเรื่องการลดคุณภาพชีวิตลูก ฯลฯ เราจะเห็นรายละเอียดสิ่งที่คนเป็นพ่อแจกแจงค่าใช้จ่ายสารพัดรวมทั้งรายได้หดในช่วงที่โควิดระบาด เหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายประเด็นที่มีการเงินแบบแซนวิช เพราะต้องใช้จ่ายทั้งในฐานะผู้ประกอบการ จ่ายเงินให้พนักงานในบริษัท จ่ายเงินเลี้ยงดูลูก ดูแลตัวเอง นี่ยังไม่นับรวมว่าเขายังมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวในส่วนของพ่อ-แม่หรือไม่ (ซึ่งไม่ได้ระบุรายละเอียด)

Photo by Hunter Moranville on Unsplash

ชีวิตพ่อลูกอ่อนวัยหนุ่มก้าวสู่วัยผู้ใหญ่: ตัวอย่างภาระการเงินและความกดดันรอบทิศทาง

นอกจากประเด็นข่าวดาราพ่อลูกอ่อนที่ต้องมีภาระการเงินรอบทิศทาง เรามีอีก 2 ตัวอย่างที่จะหยิบยกให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น พิชญะ พูนพิริยะ อายุ 32 ปี โปรดิวเซอร์หนุ่มจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เล่าว่า เขาแต่งงานมีลูกคนแรกตั้งแต่อายุ 26 ปี ค่าใช้จ่ายมะรุมมะตุ้มมากขึ้นเพราะต้องใช้จ่ายหลายส่วน ในส่วนของลูก มีทั้งค่าผ้าอ้อม ค่านม ราว 4-5,000 บาทต่อเดือน โชคดีที่เขามีพ่อแม่ช่วยแบ่งเบาภาระบางส่วนและช่วยเลี้ยงลูกด้วย ไม่ต้องคิดเลยว่าถ้าอยู่กันลำพังเฉพาะพ่อแม่ หากไม่มีปู่ย่าตายายหรือพี่เลี้ยงคอยช่วยเลี้ยงลูก ชีวิตจะสาหัสขนาดไหน 

ลูกของเขาเมื่อโตขึ้นก็มีค่าประกันสุขภาพและประกันชีวิตรายปีอย่างน้อยราว 50,000 บาท ซึ่งก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด อย่างไรก็ต้องจ่ายเองบางส่วนด้วย ถัดจากนั้น 1 ปีเขาก็มีลูกคนที่สองถ้านับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ช่วงคลอดก็อยู่ที่ 4-50,000 บาท ระหว่างนั้นก็มีค่าหาหมอก่อนที่จะคลอด พบแพทย์บ่อยครั้งในช่วงใกล้คลอด ซึ่งก็จะเสียค่าใช้จ่ายราวครั้งละ 1,500 บาท (ค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็เป็นแบบเดียวกับลูกคนแรก)

พอลูกเริ่มเข้าโรงเรียน ก็ต้องมีค่าเทอมอย่างน้อยคนละ 27,000 บาท จากนั้น เขาก็เริ่มคิดขยับขยายพื้นที่ให้อยู่แบบส่วนตัวมากขึ้น เขาซื้อบ้าน ผ่อนจ่ายอย่างน้อยเดือนละหมื่นกว่าบาท ผ่อนรถด้วย หลังจากที่ใช้ชีวิตในบ้านใหม่แล้วก็พบว่า ชีวิตแบบเดิมดีกว่า เพราะบ้านใหม่อยู่ไกลโรงเรียนลูก ขณะเดียวกันบ้านใหม่ก็ไร้ซึ่งคนช่วยดูแล อีกทั้งเป็นช่วงที่งานรัดตัวมาก จนทำให้ไม่มีเวลากลับเข้าไปพักอาศัยบ้านที่ซื้อไว้ เขาจึงค่อยๆ ปลดภาระด้วยการปล่อยบ้านให้เช่าในอัตราหมื่นต้นๆ ต่อเดือน แต่ก็ยังมีส่วนต่างสำหรับการผ่อนจ่ายอยู่บ้าง

พิชญะให้ข้อคิดว่าสำหรับการเงินในวัยนี้ ยุคนี้ ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ถ้ามีโอกาสหารายได้เพิ่มก็ควรทำ ควรมีสองอาชีพรองรับ อย่างแรกคืองานที่เราต้องทำ กับอีกอย่างหนึ่งคืองานที่เรารัก ในเรื่องการใช้จ่าย เขาพยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดและให้ความสุขกับตัวเอง เช่น การใช้จ่ายอะไรเพื่อตัวเองบ้างโดยที่ครอบครัวก็ไม่เดือดร้อน และมองว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญ 

หัวอกผู้ประกอบการ: ต้องดูแลลูกน้อง รับใช้ลูกค้า และไม่ลืมให้ความสำคัญกับลูกและพ่อ-แม่ตัวเอง

ศศิมณฒ์ บัวเผื่อน อายุ 40 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว มีลูกสองคน ศศิมณฒ์เล่าว่า เธอเริ่มทำธุรกิจรับเหมาปี 2556 เริ่มวิ่งหาลูกค้า ช่วงที่ยังไม่มีผลงานก็ต้องเก็บผลงานไปเรื่อยๆ และค่อยๆ สร้าง profile ได้ จากนั้น ก็เริ่มมีลูกค้ารายใหญ่ งานป้อนเข้ามาเรื่อยๆ แต่เมื่อถึงจุดที่ซัพพลายเออร์เยอะขึ้น ตัวเลือกเยอะขึ้น การประมูลงานมีการแข่งขันสูง ทำให้ต้องกดราคาลงมาเพื่อที่จะได้งาน แต่รายได้ก็ลดลง แต่ก็เป็นไปเพื่อให้บริษัทอยู่รอด  

กลางปี 2562 เศรษฐกิจค่อยๆ แย่ลง ลูกค้าค่อยๆ ปิดตัว แต่เธอก็ค่อยๆ ประคับประคองตัวเอง เมื่องานหด ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม เธอก็หาทางลดต้นทุน ประหยัดมากขึ้น หางานอย่างอื่นทำเพิ่ม 

ศศิมณฒ์มีลูกสองคน เธอเล่าถึงค่าใช้จ่ายของลูก เฉพาะลูกคนแรก มีทั้งค่าเรียนพิเศษ 1 เทอม อยู่ที่ราวๆ 20,000 บาท ค่าเทอมของทั้งสองคนอยู่ที่ 30,000 และ 40,000 บาท ในเรื่องเรียนพิเศษ ก็ดูความต้องการของลูกเป็นหลัก ถ้าพ่อแม่ตกลงกันแล้วแต่ลูกไม่ต้องการก็ไม่ต้องเรียน

ค่าผ่อนบ้านและค่าผ่อนออฟฟิศ เดือนละ 30,000 บาท ค่าผ่อนรถ 2 คัน ราว 33,000 บาท ต่อเดือน ค่าผ่อนรถออฟฟิศ 2 คัน ราว 20,000 บาท ต่อเดือน และยังมีค่าประกันสุขภาพและประกันชีวิต 40,000 บาทต่อปี เธอให้ความดูแลพ่อแม่บ้าง โชคดีที่แม่ประกอบธุรกิจส่วนตัวเหมือนกันจึงอาจไม่มีการเงินบีบรัดตัวเธอมากเหมือนครอบครัวอื่นๆ 

Photo by Dan Freeman on Unsplash

เธอเล่าว่า ถ้ามีปัญหาทางการเงิน ก็กู้ธนาคารบ้าง รีไฟแนนซ์รถและบ้านบ้าง ถ้าธนาคารมีโครงการอะไร ก็เข้าไปดูรายละเอียดเพื่อทำเรื่องกู้บ้าง ช่วงที่โควิด-19 ระบาด เธอเลือกช่องทางพักชำระหนี้หมดทุกอย่าง ทั้งบ้าน ทั้งรถ แต่ในส่วนของพนักงานก็ได้รับเงินเดือนเหมือนเดิม เท่าเดิม แต่ปริมาณงานอาจจะลดลง 

หลักในการใช้เงินของเธอช่วงที่วิกฤตรุมเร้า เธอเรียงตามลำดับความสำคัญ เธอเลือกว่าค่าใช้จ่ายไหนต้องชำระก่อน เป็นเรื่องที่รอได้หรือรอไม่ได้ เช่น ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้านเพราะดอกเบี้ยสูง ค่ารถถ้ารอได้ก็รอก่อน อย่าปล่อยให้เลย 3 เดือน เพราะอาจจะเข้าสู่กระบวนการยึดรถได้ แต่เราก็สามารถเจรจาได้กับฝ่ายการเงินของธนาคาร

ในแง่ของเจ้าของธุรกิจ เธอบอกว่า เธอต้องให้กำลังใจตัวเองทุกวัน ในช่วงที่มีโควิดหนักหน่วงก็มีการเจรจา เช่น ถ้าต้องมีการวางบิลเดือนนี้ ลูกค้าจะขอเลื่อนจ่ายช้าหน่อย แต่ปัญหาหลังบ้านคือจะต้องมีเงินหมุน ทั้งค่าเงินเดือนพนักงาน ของที่ลงทุนเพราะถึงดีลที่ต้องจ่าย ซึ่งถ้ามีเจ้าหนี้ที่ไกล่เกลี่ยกันได้ก็พอจะช่วยบรรเทาภาระได้บ้าง

แต่เมื่อเจอโควิด-19 โชคดีที่มีโครงการพักชำระหนี้ช่วยได้บ้าง และลูกปิดเทอมพอดี ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ค่าออฟฟิศ ค่าล่วงเวลาก็หยุดจ่าย ค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่ ก็ไว้มาจ่ายตอนที่สถานการณ์ดีขึ้น

Photo by Robert Eklund on Unsplash

สำหรับตอนนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ลูกค้าเก่าเริ่มทยอยจ่ายเงิน งานใหม่เริ่มเข้ามา ทุกอย่างยังรัดเข็มขัดอยู่ เพราะลูกค้าวางเครดิตไม่ได้จ่ายสดทั้งหมดทันที เธอมองว่าไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะเริ่มดีขึ้นอีก เรื่องการเงินนั้น เธอใช้วิธีวางแผนทำบัญชีล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งบางครั้งก็ไม่เป็นไปตามนั้น เช่น งานทำสัญญาไปแล้ว แต่ยกเลิก ก็ต้องมีแผนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

สำหรับคนที่กำลังหางานอยู่ ศศิมณฒ์ให้ข้อคิดว่าอยากให้อดทน ค่อยๆ หาประสบการณ์ เพราะยุคนี้มีการแข่งขันสูง

สรุป

ทั้งสองกรณีตัวอย่างที่เล่ามา ยังถือว่าไม่หนักหนาสาหัสนัก หากเทียบกับครอบครัวที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ ลูกตัวเอง และลูกค้าไปพร้อมๆ กันย่อมมีภาระหนักอึ้งกว่านี้หลายเท่านัก แต่ก็ถือว่าหนักเอาการเพราะต้องมีเงินหมุนเวียนให้คล่อง พร้อมใช้จ่ายตลอดเวลา หากไม่ได้วางแผนล่วงหน้า อีกทั้ง หากเจอเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้จ่ายบ่อยๆ อาจทำให้เกิดวิกฤตได้ 

อย่างไรก็ดี การวางแผนสำรองเสมอ การบริหารเงินให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายย่อมทำให้บรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง และการติดตามโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนบ้าง ขณะเดียวกัน หาช่องทางอื่นที่จะเพิ่มรายได้ให้ตัวเองบ้าง โดยที่ไม่ต้องทำงานแบกรับภาระจนหักโหมมากเกินไป และหาทางพูดคุยสื่อสารกับคนที่เราต้องดูแลทางการเงินให้มากเพื่อให้เขาเข้าใจสถานการณ์ที่เราแบกรับอยู่ ย่อมเป็นทางเลือกที่ช่วยให้รอดพ้นวิกฤตได้บ้างไม่มากก็น้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา