ตะวันออกกลางกำลังจะกลายเป็นฮับทางการแพทย์แห่งใหม่ ความท้าทายของไทยในอนาคต

เมื่อตะวันออกกลางกำลังจะเป็นแหล่ง Medical Hub ที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศกาตาร์ หรือแม้แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แล้วกลุ่มการแพทย์ไทยที่เน้นลูกค้ากลุ่มนี้จะทำอย่างไรต่อไป

ภาพจาก Pixabay

ในอดีตเราอาจเห็นชาวต่างชาติมารักษาตัวในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ โดยเฉพาะลูกค้าชาวตะวันออกกลาง แม้แต่ชาวจีนที่ในช่วงหลังนั้นนิยมมารักษาตัวในประเทศไทยมากขึ้น เราเลยได้เห็นการลงทุนในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น การจ้างล่ามแปลภาษาต่างๆ การพาชาวต่างชาติจากสนามบินไปยังสถานพยาบาล ฯลฯ 

ประเทศต่างๆ ในเอเชียล้วนมีจุดเด่นในการรับลูกค้าชาวต่างชาติ ในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย ที่เน้นการพักผ่อนฟื้นฟูของคนไข้ สิงคโปร์ ที่เชี่ยวชาญศัลยกรรมหรือรักษาโรคยากๆ หรือแม้แต่เกาหลีใต้ ที่เน้นหนักในด้านศัลยกรรมโดยเฉพาะ

สำหรับมูลค่าของการท่องเที่ยวสุขภาพ หรือ Medical Tourism ในแต่ละปีมีมูลค่าอยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

จากลูกค้ากลายเป็นผู้ให้บริการ

ในอนาคตอันใกล้นี้ ตะวันออกกลางกำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพแหล่งใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนจากลูกค้ามาเป็นผู้ให้บริการ  ยกตัวอย่างเช่น ประเทศกาตาร์ ที่ล่าสุดได้เปิดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ หลังจากที่ประเทศประสบปัญหาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงประเทศในกลุ่มอ่าวเปอร์เซีย อย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ที่ได้ตัดสัมพันธุ์ทางการทูตกับกาตาร์ 

ยังรวมไปถึงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้เปิด Health Care Free Zone ในเมืองดูไบ ทำให้โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่างๆ เริ่มสนใจเข้าไปดำเนินกิจการ เนื่องจากอัตราภาษีที่เย้ายวนใจ เวลาการเดินทางของแพทย์ไม่ใช้เวลานานเหมือนมาเอเชียอีกด้วย ปัจจุบันมีศูนย์การแพทย์ใน Free Zone มากถึง 90 แห่ง

ลูกค้าชาวตะวันออกกลางลดลงจากนโยบายการส่งเสริมในการรักษาตัวในประเทศ ซึ่งทำให้ชาวตะวันออกกลางไม่ต้องบินมาถึงไทย หรือในอาเซียนเพื่อรักษาตัวอีกต่อไป แต่ได้รับมาตรฐานการรักษาที่ดีเท่ากัน ยังรวมไปถึงความต้องการที่จะเป็นศูนย์การแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าตะวันตกด้วย

ภาพโดย By Ctny (Own work) [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

ลูกค้าจีนเริ่มสนใจตะวันออกกลาง

สำหรับชาวจีนที่ต้องออกมารักษาทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ นั้น เนื่องจากความแตกต่างในเรื่องมาตรฐานการรักษา แน่นอนว่าเมืองใหญ่ๆ อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ มาตรฐานย่อมสูงกว่าเมืองรองๆ ลงไปแน่นอน ยังไม่นับไปถึงเรื่องของจำนวนคนไข้มหาศาลในประเทศจีนอีก อาจทำให้ใช้เวลานานกว่าจะได้รักษาตัว

การที่ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเริ่มรุกเข้าหาศูนย์การแพทย์ในประเทศจีน เช่น กลุ่มการแพทย์ในดูไบจับมือกับศูนย์การแพทย์ในมาเก๊าเพื่อพานักท่องเที่ยวชาวจีนมารักษาตัว หรือแม้แต่คู่แข่งอย่างกาตาร์ ที่มี Sidra Medicine ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Qatar Foundation และ Weill Cornell Medical College ที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าชาวจีนเพิ่มมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามารักษาสูงกว่าเดิมถึง 30% ด้วย

ซึ่งการบินไปรักษาตัวในตะวันออกกลางถือว่าเป็นราคาที่แพงกว่าในเอเชีย แต่ว่าถูกกว่าการบินไปรักษาในยุโรป ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลย ถ้าหากต้องการการรักษาแบบเร่งด่วน

ข้อมูลจาก – ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ความท้าทายโรงพยาบาลไทย

รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ลูกค้าชาวต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากราคาหุ้นของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น โรงพยายาลบำรุงราษฏร์ หรือ BH กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ BDMS มีราคาหุ้นที่สูงขึ้นตามจำนวนลูกค้าชาวต่างชาติ

จากบทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสำหรับโรงพยาบาลเอกชนไทยที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้รวมกันคิดเป็นประมาณ 65-70% ของรายได้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถมองเห็นอนาคตของกลุ่มโรงพยาบาลในไทยได้คร่าวๆ

ในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลางที่หายไป จากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันที่ลดลง และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นอย่าง การเปิดศูนย์การแพทย์ในตะวันออกกลาง ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ขึ้นกับโรงพยาบาลไทย

อย่างไรก็ดีการเน้นรับลูกค้าชาวจีน ไทยอาจพบกับคู่แข่งที่ไม่ธรรมดาอย่างประเทศในตะวันออกกลาง ที่จากลูกค้ากลายเป็นคู่แข่ง เป็นความท้าทายเรื่องใหม่ของกลุ่มการแพทย์ไทยไม่น้อยเลย

ที่มาSouth China Morning Post, บทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ