อีกหนึ่งปัญหา WFH: หัวหน้าจับตา-ให้เฝ้าจอตลอดเวลา กลัวพนักงานขี้เกียจทำงาน

ปัญหาใหญ่อีกอย่างของ Work From Home คือ “ความไม่ไว้ใจ” หัวหน้าควบคุมใกล้ชิด พนักงานต้องรายงานทุกอย่าง เพราะไม่เชื่อว่าพนักงานจะทำงานอย่างเต็มที่หากไม่จับตา

ความไม่ไว้ใจ อีกปัญหาใหญ่ของการ Work From Home

ปัญหาใหญ่อีกหนึ่งอย่างที่เราค้นพบหลังจาก Work From Home กันมาเกือบ 2 ปี คือ “ความไม่ไว้ใจ” หัวหน้าควบคุมใกล้ชิด พนักงานต้องรายงานทุกอย่าง สถานะในโปรแกรมแชทสำหรับทำงานต้อง Active ตลอดเวลา เพราะไม่เชื่อว่าพนักงานจะทำงานอย่างเต็มที่ด้วยตัวเองหากไม่คอยจับตาหรือจ้ำจี้จ้ำไช

งานวิจัยจาก Harvard ระบุชัดว่า ผู้จัดการจำนวนมากกำลังประสบปัญหาเรื่องการจัดการในช่วง Work From Home เป็นจำนวนมาก เพราะภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานแบบใหม่ พนักงานไม่ได้อยู่ในสายตาแบบเดิม จึงต้องใช้การจับตาดูพนักงานอย่างใกล้ชิด

และเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาว่าพนักงานรู้สึกว่าหัวหน้า “ไม่ไว้ใจในวิจารณญาณของตน” ซึ่งนี่ไม่ใช่บรรยากาศที่ดีของการอยู่ร่วมกัน และการสร้างสรรค์งานต่างๆ ออกมาแน่ๆ แถมยังกลายเป็นการสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียดขึ้น

เรามีตัวอย่างกรณีที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าประสบการณ์ด้านลบที่เกิดจากความไม่ไว้วางใจพนักงานอาจส่งผลให้พนักงานถึงขั้นลาออกจากงานแม้ว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน เช่น

มีพนักงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ วัย 31 ปี ผู้ไม่ประสงค์ที่จะออกนามระบุว่า เธอตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงานถึง 2 หน ในรอบ 18 เดือน เนื่องจากบริษัทแทบจะไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานแม้แต่น้อย 

เธอเล่าต่อว่าหัวหน้าของเธอจดจ่ออยู่กับการเฝ้าดูว่าสถานะใน Microsoft Teams ของพนักงานคนไหนเปลี่ยนจากสีเขียว (online) เป็นสีแดง (inactive) บ้าง แถมในการประชุมครั้งหนึ่งผู้จัดการอวุโสคนหนึ่งถึงกับพูดออกมาว่า “เรารู้ว่าทุกคนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว แถมยังว่างเอามากๆ”

พนักงานไม่ได้ขี้เกียจ: ทำงานมากขึ้น-แบกรับความตึงเครียดมากขึ้น

แน่นอนว่า การที่พนักงานแต่ละคนต้องมาสนใจเรื่องยิบย่อย จาก Micromanagement ของหัวหน้า เช่น การทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองออนไลน์ การเตรียมพร้อมรายงานหัวหน้าตลอดเวลา หรือการทำรายงานเกินความจำเป็น เมื่อผนวกกับการทำงานที่หนักขึ้นในช่วง WFH อาจส่งผลให้สุขภาพจิตพนักงานย่ำแย่ลง

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คนทำงานใช้เวลาในการทำงานแต่ละวันเพิ่มขึ้น ทั้งจากการสื่อสารนอกเวลา การทำงานในช่วงเวลาที่ปกติใช้ในการเดินทาง และการทำงานแบบไม่มีเส้นแบ่งชีวิต-การทำงาน โดยมีงานวิจัยระบุอีกว่าในปี 2020 เราทำงานล่วงเวลากันเกือบ 6 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีก่อนหน้า

ลองนึกภาพตามว่าหัวหน้าไม่ไว้ใจว่าพนักงานจะทำงาน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพนักงานต่างแบกรับภาระและความตึงเครียดจากการ Work From Home มากขึ้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไม Work From Home ถึงสร้างบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียดขึ้นระหว่างหัวหน้าและพนักงานซึ่งแน่นอนว่าอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้

เชื่อมั่นอีกฝ่ายในศักยภาพของอีกฝ่ายคือทางออกของ ปัญหาความไม่ไว้วางใจ

เมื่อการ Work From Home จะยังคงอยู่กับเราในอนาคตต่อไป วงการการทำงานยังต้องร่วมกันหาคำตอบต่อไปว่าทำอย่างไรการทำงานทางไกลถึงจะลดปัญหาความไม่ไว้วางใจลงได้ 

ภาพจาก Getty Image

Joanna Bilewicz-Porzycka รองประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และการสื่อสารของ Electrolux Asia-Pacific แนะนำว่า “ฝ่ายบริหารควรตระหนักได้ว่า พนักงานต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพื่อพักเติมพลังให้กับตนเอง สิ่งเล็กๆ ที่จะช่วยสร้างความแตกต่างคือการมอบพื้นที่ให้พวกเขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น การเลือกได้ว่าจะเข้าประชุม หรือ โฟกัสกับอย่างอื่น”

เพราะแน่นอนพนักงานคือคนที่รู้ workload และเงื่อนไขแวดล้อมของตัวเองดีที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานอีกท่านหนึ่งก็มองเรื่องนี้ไม่ต่างกัน Dr Michael Heng ผู้อำนวยการ People Worldwide Consulting บริษัทโซลูชั่นด้านทรัพยากรมนุษย์กล่าวว่า “การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและได้รับการให้เกียรติคือกุญแจในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีให้กับบริษัทหนึ่งๆ”

ที่มา – CNA, Harvard Business Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน