รู้จัก Micro Influencer พลังการบอกต่อของคนเล็กๆ ที่แบรนด์ต้องจับตามอง

มาทำความรู้จัก Micro Influencer หนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายแบรนด์เลือกใช้ในการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ คุ้มค่ากว่าการใช้ Macro Influencer หรือเซเลบริตี้ตัวใหญ่ๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า

สรุป 9 เรื่องที่ต้องรู้ในการทำ Micro Influencer Marketing

จริงๆ Influencer Marketing มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว เป็นการให้ผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ เซเลบริตี้ เน็ตไอดอลทำคอนเทนต์โปรโมทสินค้า และบริการ เรทราคาก็ขึ้นอยู่กับความดังของแต่ละคน

เมื่อมีการใช้กันมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีการตอบรับที่ไม่ดีเท่าไหร่กับการตลาดรูปแบบนี้ เพราะมองว่าไม่ได้ Influencer ไม่ได้ใช้สินค้านั้นจริงๆ

จึงเกิดเป็นเทรนด์ของการใช้ Micro Influencer ขึ้น เป็นการที่คนธรรมดาทั่วไปทำคอนเทนต์รีวิวสินค้า เหมือนเป็นการบอกต่อแบบเพื่อนบอกเพื่อน จึงทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือคอนเทนต์แบบนี้ หลายแบรนด์จึงสนใจทำ Micro Influencer มากขึ้น

สุวิตา จรัญวงศ์ Co-Founder and Chief Executive Officer, Tellscore ได้อธิบายถึงการทำ Micro Influencer ว่ามีความสำคัญต่างจากการใช้ Macro Influencer อย่างไร ทำไมหลายแบรนด์ถึงหันมาให้ความสำคัญกับ Micro Influencer มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

1. Influencer ในไทยมีหลายกลุ่ม แบ่งหลักๆ ได้ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. Everyday Influencer อินฟูลเอ็นเซอร์หลายสาขา เป็นสายบิวตี้ สายสุขภาพก็ได้ 2. Professional ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาย อาจจะเป็นไลฟ์โค้ช 3. Lifestyle สายกิน สายเที่ยว 4. Public Figure เซเลบริตี้ หรือดาราที่มีชื่อเสียง 5. Creator ผู้ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ทำเพจ หรือในอินสตาแกรมก็ได้ 6. Channel เป็นช่องๆ หนึ่ง อาจจะเป็นการนำข่าวแล้วมาตีความในมุมของตัวเอง

2. เหตุผลที่ทำให้ Micro Influencer เป็นที่นิยม ส่วนหนึ่งมาจาก Reach หรือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คนที่มีคนติดตามน้อยจะมีเอ็นเกจเมนต์สูงกว่า เพราะแพลตฟอร์มต้องการกระตุ้นให้คนดังบูทโพสต์มากขึ้น

3. Micro influencer ช่วยให้ส่งเข้าสู่การขาย มีวิธีขายชัด เข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงเชื้อชาติ วัฒนธรรมได้ดีกว่า ส่วน Macro Influencer หรือเซเลบริตี้ใช้สร้าง Awareness

4. ในการทำคอนเทนต์โปรโมทสินค้า เซเลบริตี้จะพูดถึงสินค้า 30% อีก 60% ใช้ความดังเพื่อให้เกิดเอ็นเกจเมนต์ ให้เกิดอแวร์เนส และอีก 10% เป็น Call to Action นำไปสู่การซื้อ

5. ส่วน Micro influencer จะทำคอนเทนต์ที่พูดถึงสินค้า 40% Personality 40% ไม่ใช้ความดัง แต่คนรอดูคอนเทนต์สนุกๆ ไม่ต้องอาศัยความดังเหมือนดารา ส่วนอีก 20% คือ Call to action สามารถพูดถึงสินค้า และขายได้มากกว่า

6. จำนวน Follower ที่ต่ำกว่า 200,000 คน จะถือว่าเป็น Micro influencer บทบาทอยู่ตรงปลายทาง กระตุ้นให้เกิดการซื้อ เมื่อมีการส่งมีเดีย ดาราตัวใหญ่ออกมาพูด คนทั่วไปจะรู้แล้วว่ามีสินค้าตัวนี้ แต่ Micro influencer จะพาไปปิดการขาย มีหน้าที่หนักพาไปถึงปลายทาง

7. การใช้เงินคุ้มค่ากว่า ถ้าใช้ Micro influencer ล้วนทั้งหมด 100 คน แต่ละคนมีคนติดตาม 5,000 คน จะมี CPE (Cost per Engagement) เฉลี่ย 4 บาท/คน แต่ถ้าใช้ Influencer ตัวใหญ่อย่างเดียว 10 คน แต่ละคนมีคนติดตาม 300,000 คนขึ้นไป มี CPE เฉลี่ย 7.35 บาท แต่ถ้ารวมทั้ง 2 กลุ่ม เซเลบริตี้ 2 คน ระดับกลาง 5 คน และ Micro influencer 50 คน จะมี CPE เฉลี่ย 4.7 บาท

8. คอนเทนต์ของ Micro Influencer ที่ประสบความสำเร็จนั้นจะเป็นคอนเทนต์ที่ดูเรียล มองไม่ออกว่าเป็นแคมเปญ หรือไวรัลจริงๆ เป็นการทำคอนเทนต์เหมือนคุยกับเพื่อน ซึ่งจะตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า

9. ในปัจจุบันหลายๆ แบรนด์เลือกใช้ Micro Influencer เฉพาะในช่วงของการเปิดแคมเปญใหม่ๆ เพื่อสร้างกระแส แต่ควรทำในรูปแบบต่อเนื่องจึงจะให้ความคุ้มค่ามากที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา