หลายคนคงจะคุ้นเคยกับร้านที่ติดดาวโดย Michelin เพราะการันตีถึงความอร่อย และยิ่งไปเที่ยวต่างประเทศ หนึ่งในเป้าหมายก็ต้องลองไปลิ้มลองรสชาติร้านติดดาวดูซักครั้ง แต่ไม่ต้องเสียเวลาอีกต่อไป หลัง Michelin เข้ามาติดดาวร้านอาหารในไทยแล้ว
ยกระดับวงการร้านอาหารในไทย
ธุรกิจร้านอาหารหลังจากนี้น่าจะคึกคักกันพอสมควร เพราะทาง Michelin ยักษ์ใหญ่ธุรกิจยางรถยนต์ได้ประกาศจัดทำ Michelin Guide หรือสมุดปกแดงที่รวบรวมร้านอาหารชั้นยอดในประเทศไทย ผ่านการส่งทีมงานตรวจสอบร้านอาหาร และที่พักที่มีความน่าสนใจ พร้อมกับให้คะแนน หรือติดดาวให้กับร้าน และที่พักเหล่านั้น
โดยในการสำรวจครั้งนี้ทาง Michelin ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการเป็นพาร์ทเนอร์หลักเพื่อสนับสนุนเงินทุนกว่า 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 140 ล้านบาท) ผ่านสัญญาระยะเวลา 5 ปี เพื่อทำการสำรวจร้านอาหาร และที่พัก เริ่มต้นในกรุงเทพก่อนในปีแรก จากนั้นจะทยอยขยายการสำรวจออกไปในจังหวัดต่างๆ
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ 29 ของโลกที่บริษัทยางยักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาทำ Michelin Guide หลังจากเริ่มต้นเมื่อปี 2443 ผ่านแนวคิดของผู้ก่อตั้ง Michelin ที่ต้องการทำหนังสือให้ข้อมูลต่างๆ ในการเดินทางด้วยรถยนต์ และถ้ามองแค่ในเอเขีย ไทยเป็นประเทศที่ 6 หลังจากติดดาวร้านอาหารและที่พักในญี่ปุ่น กับฮ่องกง ไปก่อนหน้านี้ และเป็นประเทศที่ 2 ต่อ จากสิงคโปร์ หากนับแค่ภูมิภาคอาเซียน
ไม่ได้เน้นแค่อาหารท้องถิ่น เพราะดูทุกอย่าง
เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ รองประธานบริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย กลุ่มบริษัทมิชลิน และผู้บริหารมิชลินไกด์ กรุงเทพ เล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ทำตลาดในประเทศไทยมา 30 ปี ทางสาขาก็หารือกับบริษัทแม่ในฝรั่งเศสเพื่อดึง Michelin Guide มาสำรวจที่นี่ตลอด และในที่สุดทาง Michelin Guide ก็เริ่มมาลงพื้นที่เมื่อ 3 ปีก่อน และประกาศสำรวจเต็มตัวในปีนี้
“ทาง Michelin Guide มีการตั้งทีมสำรวจอาหารไทยโดยเฉพาะขึ้นมา เพราะความไม่เหมือนใครในเรื่องรสชาติ ทำให้การมีทีมเฉพาะน่าจะดีกว่า โดยในไทยเราจะสำรวจตั้งแต่ Street Food จนไปถึงร้านหรู และสำรวจร้านอาหารทุกชาติอีกด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ดีที่สุดแก่ผู้ครอบครอง Michelin Guide ส่วนเรื่องการให้ดาวก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ต้องรอให้หนังสือออกสิ้นปีนี้”
เพิ่มดีกรีการท่องเที่ยวสะพัดในประเทศ
ขณะเดียวกัน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เชื่อว่า การเข้ามาของ Michelin Guide จะช่วยให้การจับจ่ายของนักท่องเที่ยว จาก 5,000 บาท/คน/วัน ซึ่ง 10% ของเงินจำนวนนี้เป็นค่าอาหาร จะเพิ่มเป็น 15-20% ได้ พร้อมกับเพิ่มจำนวนการจับจ่ายโดยรวม และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ทาง Micheline Guide ไม่ได้มีแค่การให้ดาวเท่านั้นยังมีการให้รางวัลอื่นๆ นอกจากดาวมิชลิน เช่น Bib Gourmand (บิบ กูร์มอนด์) หรือรางวัลร้านอาหารที่อร่อยในราคาสมเหตุสมผล ผ่านสัญลักษณ์ Michelin Man เลียปาก แสดงให้เห็นถึงความอร่อยที่เอื้อมถึงได้
สรุป
จากที่เมืองไทยเริ่มต้นให้คะแนนร้านที่แม่ช้อยนางรำ หรือเชลล์ชวนชิม ในที่สุดก็มีมาตรฐานระดับโลกอย่าง Michelin เข้ามาติดดาวให้กับร้านอาหารในไทยแล้ว ดังนั้นการแข่งขันของธุรกิจนี้คงจะสูงกว่าเดิมแน่ เพราะร้านไหนที่ติดดาว โอกาสที่คนท้องที่ และนักท่องเที่ยวจะเข้าไปรับประทานก็มีสูง และหากร้านเหล่านั้นได้ดาว ก็ต้องเพิ่มดีกรีในการรักษามาตรฐานเอาไว้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Michelin ไม่เปิดเผยถึงตัวเลขนักสำรวจว่ามีทั้งหมดกี่คน บอกเพียงนักสำรวจเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วโลก ชิมอาหาร 250 มื้อ/ปี และมีผู้เกี่ยวข้องในการทำ Michelin Guide ราว 500 คน ทุกครั้งที่ไปชิมจะไม่มีการแจ้ง ร้านอาหารจะรู้ก็ต่อเมื่อเชิญมารับรางวัลเท่านั้น ปัจจุบันตัวหนังสือได้รวบรวมข้อมูลที่พัก และร้านอาหารไว้มากกว่า 35,000 แห่งทั่วโลก
แถมท้าย ทำอย่างไรให้ได้ติดดาวโดย Michelin คลิกไปอ่านที่นี่ https://brandinside.asia/5-ways-to-get-michelin-star/
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา