เหมา-เหมา อีคอมเมิร์ซรวมแบรนด์และผู้ผลิตแบบค้าส่ง สำหรับแม่ค้าออนไลน์ จาก SCB 10X

อาชีพพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการลงทะเบียนกับภาครัฐกว่า 2 ล้านราย แต่เชื่อว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะมีถึง 5 ล้านราย แต่ประเด็นสำคัญกลับอยู่ที่ว่า ไม่รู้จะหาของขายจากไหน และขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน

SCB 10X ได้ทำการสำรวจ พบว่าพ่อค้าแม่ค้าหลายคนมีทักษะในการขายของออนไลน์ สามารถทำคอนเทนต์ดึงดูดใจ และปิดการขายได้ มีเคล็ดลับเช่น การขายผ่านกลุ่มลับ ทั้ง LINE และ Facebook มีคนติดตามประจำ แต่อุปสรรคในการหาสินค้ามาขาย เช่น สินค้าจากประเทศจีน ก็เจอเรื่องส่งช้า โดนโกง และล่าสุดร้านค้าจากจีนมาเปิดร้านบน Marketplace เช่น Shopee, Lazada เรียบร้อยแล้ว

ทำไมประเทศไทยไม่มีแพลตฟอร์มเหมือนจีนที่รวมผู้ผลิตและแบรนด์มาไว้ที่เดียว เพื่อให้คนขายสามารถไปหาของและสั่งของมาขายได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก

เหมา-เหมา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายส่งเพื่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

มาโนช พฤฒิสถาพร ผู้ก่อตั้ง “เหมา-เหมา” บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด บอกว่า เหมา-เหมา เกิดจากต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเช้าถึงทั้งผู้ผลิตสินค้าในไทย, แบรนด์สินค้าในไทย และคนขายของออนไลน์ให้ได้มาเจอกัน ได้ซื้อขายสินค้าในราคาขายส่งแบบง่ายๆ ในแพลตฟอร์มเดียว เกิดเป็น www.mhao-mhao.com

ความตั้งใจคือต้องการให้ เหมา-เหมา เป็นศูนย์รวมผู้ผลิตไทยให้คนขายออนไลน์ในไทยหลายล้านคนมาหาสินค้าไปขายในราคาขายส่ง สามารถทำได้ทั้งรูปแบบซื้อส่ง เป็นตัวแทนจำหน่าย ขายแบบไม่ต้องสต็อกสินค้า และขายลดราคาเพื่อโละสต็อก ไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้งานแพลตฟอร์มแต่อย่างใด ซึ่งตอบโจทย์การขายออนไลน์ในยุคนี้

แสดงว่าผู้ผลิตสินค้าในไทย (ที่เป็นผู้ผลิตจริง) และแบรนด์สินค้าต่างๆ มีช่องทางปล่อยสินค้าจำนวนมากได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องทำการตลาด ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดอ่อน ไม่ต้องแข่งยิงโฆษณา ต้นทุนสินค้าก็ลดลง ขณะที่ผู้ขายสินค้าออนไลน์ ก็ได้มีแหล่งรวมสินค้าจากต้นทาง เลือกซื้อแบบขายส่งให้ได้ราคาที่ต่ำกว่า

มีระบบชัดเจน ช่วยให้คนขายออนไลน์ง่ายขึ้น

วิธีการคือ ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ต้องลงทะเบียนกับ เหมา-เหมา มีเอกสารยืนยันชัดเจน ส่วนคนขาย ก็ต้องลงทะเบียนและให้ร้านค้าหรือผู้ผลิตทำการอนุมัติ จึงจะทำการซื้อสินค้าแบบราคาขายส่งได้ ฟีเจอร์ของเหมา-เหมา ยังสามารถตั้งออร์เดอร์ขั้นต่ำ ระบบส่วนลดตามจำนวนชิ้นที่ซื้อ ลดราคาตามประเภทของผู้ซื้อ และระบบแบนคนขายตัดราคา

หลังจากได้ทดลองเปิดใช้งานเป็นเวลา 1 เดือนในวงจำกัด พบว่าได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตและแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น ADVICE IT, AMADO, ANELLO, ANITECH, BODUM, BOSSINI, ESPRIT, ETAM, FN OUTLET, JOSEPH JOSEPH, MALEE, RADLEY, ZWILLING และดอยคำ เป็นต้น ตลอดจนร้านค้าส่งรายย่อยต่างๆ และมีคนขายลงทะเบียนแล้วหลายพันคน

หมวดสินค้าที่คนขายสนใจมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ ของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แฟชั่นผู้หญิง และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังพบว่าสินค้าที่จะได้รับความสนใจ คือ สินค้าแบรนด์ชื่อดังลดราคา สินค้าที่รูปสามารถขายได้ด้วยตนเอง สินค้าโละสต็อก รวมถึงสินค้าคุณภาพดียังไม่ดังมากแต่ให้ผลตอบแทนสูง

เหมา-เหมา เรื่อง หมู-หมู

มาโนช เล่าว่า เหมา-เหมา เลือกใช้คาร์แรกเตอร์ “น้องหมู” เป็นสัตว์นำโชคที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเสมือนการอวยพรให้พ่อค้าแม่ค้า และผู้ผลิต รวมถึงเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ขายดีมีกำไรง่ายๆ แบบ หมูๆ ปัจจุบันมีคนขายลงทะเบียนแล้วหลายพันคน ตั้งเป้ามีจำนวนคนขายออนไลน์กว่า 500,000 คน ที่มาหาสินค้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ภายในสิ้นปี 2563

หลายคนอาจสังเกตแล้วว่า สมรภูมิการขายของออนไลน์กลายเป็น Red Ocean ที่แข่งขันกันดุเดือดมาก ทั้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง เว็บไซต์ตัวเอง และการนำสินค้าไปขายบนมาร์เก็ตเพลสที่มีอยู่ ความท้าทายที่เจ้าของสินค้าต้องเจอ คือ ช่องทางออนไลน์ของตัวเอง traffic ไม่ค่อยดีคนเข้าชมมีจำนวนไม่มาก ค่าโฆษณาที่แพงขึ้นทุกปี และเมื่อลองยิงโฆษณาด้วยตนเองก็สู้มืออาชีพได้ยาก รวมถึงช่องทางบนมาร์เก็ตเพลสก็มีคู่แข่งจำนวนมาก เพราะถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ช่องทางนี้ รวมถึงคู่แข่งจากจีน แม้จะมีคนเริ่มหาช่องทางใหม่ อาทิ ระบบ Membership-based Commerce หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบขายตรงที่ต้องสมัครสมาชิกก่อนจึงจะใช้งานได้ แต่ทว่าสุดท้ายแล้วรูปแบบธุรกิจกลายเป็นเน้นสร้างรายได้จากการชวนคนเข้าร่วมแพลตฟอร์ม

เหมา-เหมา จึงเกิดขึ้น ด้วยการหยิบ Key Word คำว่า เหมา ที่มาจาก เหมาโหล มาใช้เพื่อให้จำง่าย ติดหูและสื่อความหมายตรงกับบริการของแพลตฟอร์ม

SCB 10X ยังไม่หยุด ยังมีบริการอื่นเตรียมเปิดตัวต่อ

SCB 10X เปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปี 2563 เร่ิมต้นด้วย SCB Shopdeal เว็บที่ขายดีลที่พัก ร้านอาหารเพื่อช่วยแก้ปัญหาช่วงโควิด ต่อด้วย ปาร์ตี้หาร (PartyHaan) แพลตฟอร์มหาคนหารเพื่อซื้อสินค้า หรือจะเรียกว่า Group Buy ให้ได้ราคาที่ต่ำกว่า และ เหมา-เหมา ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด ส่วน Robinhood แพลตฟอร์ม Food Delivery ที่มีการพูดถึงไปแล้ว คาดว่าจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด บอกว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน “ปาร์ตี้หาร” (PartyHaan) ผลผลิตแรกจากทีม Venture Builder ได้เริ่มเปิดตัวสู่ตลาด โดยเป็นแอปพลิเคชันอันดับหนึ่งในการ “หาคนหารโปรโมชัน” และเมื่อไม่นานมานี้ได้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ “ปาร์ตี้หาร Seller Center” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้พ่อค้าแม่ค้ารวมถึงแบรนด์ต่างๆ สามารถเอาของเข้ามาขายในรูปแบบของ “การซื้อเป็นกลุ่ม” (Group Buying) คนซื้อสามารถสร้างกลุ่มในการซื้อของโปรโมชันได้แบบง่ายๆ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปฯ “ปาร์ตี้หาร” กว่า 55,000 ราย และมีของขายกว่า 200 รายการ

ส่วน เหมา-เหมา จะเป็นประโยชน์สามารถตอบโจทย์และช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ไทยรวมถึงคนขายของออนไลน์ มีรายได้ มีกำไร และเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุค New Normal โดยเป้าหมายในระยะสั้นเรามองว่าจะมีจำนวนคนขายออนไลน์กว่า 500,000 คน ที่มาหาสินค้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม “เหมา-เหมา” ภายในสิ้นปี 2563 ส่วนเป้าหมายระยะยาว คือ การพัฒนาให้ “เหมา-เหมา” กลายเป็นศูนย์รวมแบรนด์และผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในไทย เติบโตไปพร้อมกับผู้ประกอบการ SMEs และคนขายออนไลน์ต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา