จับตาตลาดรถยนต์ผ่านมุมมอง MG ผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจริงจังกลุ่มแรก ๆ ในไทยเมื่อ 5 ปีก่อน

ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV เหมือนจะเริ่มทรงตัว ผ่านทั้งสงครามราคาที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มกังวลในการซื้อ รวมถึงกลุ่ม Early Adopter หรือผู้ที่อยากลองใช้นวัตกรรมใหม่เริ่มเหลือน้อยลง จึงไม่แปลกที่ผู้ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์เริ่มปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ MG

เพราะ MG คือแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ผ่านการใช้รุ่น MG ZS EV บุกตลาดเมื่อปี 2019 หรือก่อนโรคโควิด-19 ระบาดไม่นาน ซึ่งการทำตลาดนั้นช่วยสร้างการรับรู้ของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้าล้วนจากจีนที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งในประเทศไทย

ทำให้ MG ต้องปรับกลยุทธ์ รวมถึงยกเครื่องบริการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 5% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในไทย หรือขึ้นเป็นอันดับ 6 ของตลาดให้ได้ในปีนี้ ส่วนรายละเอียดแผนจะเป็นอย่างไร Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดังนี้

MG

เปิดตัวต่อเนื่อง พร้อมยกเครื่องซ่อมบำรุง

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า การเดินหน้ากลยุทธ์ของ MG ในปี 2025 จะเริ่มด้วยการเปิดตัวรถยนต์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นที่ IM6 ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ SUV ราคา 1,399,900 ถึง 1,799,900 บาท รวมถึงรุ่น S5 รถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ SUV เช่นกัน ในราคา 719,900 ถึง 899,900 บาท ถือเป็นการเพิ่มกลุ่มสินค้า และระดับราคาให้กว้างยิ่งขึ้น ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความพรีเมียมมากขึ้นเช่นกัน

“เบื้องต้นในปี 2025 จะเปิดตัวทั้งหมด 2 รุ่นก่อน และในปี 2026 จะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่มากกว่า 2 รุ่นแน่นอน” พงษ์ศักดิ์ ย้ำ โดยเบื้องต้นรุ่น IM6 จะเข้ามาทำตลาดในลอตแรก 300 คัน เริ่มส่งมอบเดือน เม.ย. 2025 และคาดหวังให้จำหน่ายได้หมดภายในเดือน พ.ค. 2025 ก่อนจะนำมาทำตลาดเพิ่มเติมในภายหลัง ขณะเดียวกันการยกระดับเรื่องเครือข่ายบริการยังเป็นอีกสิ่งที่ MG จะให้ความสำคัญมากขึ้นในปี 2025 ไล่ตั้งแต่การร้องเรียน, การบริการ และการซ่อมบำรุง เช่น การติดตามการซ่อมรถยนต์ได้ผ่านแอปพลิเคชัน

ที่สำคัญ Part Fill Rate หรืออัตราการเติมอะไหล่เข้าไปในศูนย์บริการตอนนี้อยู่ในระดับ 99% แล้ว ทำให้เรื่องงานบริการเกี่ยวกับซ่อมบำรุงของ MG นั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Brand Inside พบว่า ก่อนหน้านี้การให้บริการหลังการขายของ MG ค่อนข้างถูกตำหนิ และพูดถึงในแง่ลบบนโลกออนไลน์จำนวนมาก ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ค่อนข้างมีปัญหา และกลายเป็นโจทย์ที่ยังแก้ไม่ตกสำหรับ MG ในประเทศไทยเสียที ซึ่งเหตุนี้เองทำให้ MG ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในฝั่งรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเพื่อปลุกตลาด และเกาะกระแสความนิยมจนไม่สามารถขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาดนี้อย่างที่ผู้บุกเบิกตลาดควรจะเป็น ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังอาจมีพบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ตลาดรถยนต์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

พงษ์ศักดิ์ เสริมว่า การเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 2 รุ่น เกิดขึ้นหลังจากที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นในปี 2024 ไปแล้ว ทำให้โอกาสที่รถยนต์ทั้งสองรุ่นจะเกิดการซื้อจึงมีสูง เพราะทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันในเรื่องราคาที่ก่อนหน้านี้อาจลดราคาเป็นหลักแสนบาท แต่หลังจากนี้น่าจะได้เห็นการลดราคาราว 20,000-30,000 บาท และจำกัดระยะเวลา เนื่องจากติดปัญหาเรื่องต้นทุน และเริ่มมีผลสะท้อนจากการแข่งขันรูปแบบนี้ออกมาแล้ว

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องสินเชื่อที่หลังจากนี้ทางสถาบันการเงินจะเริ่มปรับปรุงผ่านนโยบายต่าง ๆ ผ่านการที่บริษัทรถยนต์เข้าไปหารือเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหานี้มีมาประมาณ 2-3 ปี เกิดการยึดรถ และหนี้เสียจำนวนมาก จนสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และส่งผลไปถึงทุกผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งปัจจัยนี้น่าจะทำให้การจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยไปที่ 5.5-6 แสนคัน ในปี 2025 ได้ แต่ถึงอย่างไรนโยบายที่ออกมาต้องไม่ใช่สิ่งที่ขัดกลไกตลาด คล้ายกับกรณีนโยบายรถคันแรกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

“อุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโตได้ เศรษฐกิจในประเทศไทยต้องดีด้วย ดังนั้นถ้าจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต การส่งนโยบายที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้องคือการทำให้ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น เพื่อให้พวกเขามีกำลังในการจับจ่ายได้มากกว่าเดิม” พงษ์ศักดิ์ กล่าว โดยในปี 2025 MG ตั้งเป้ายอดขายในประเทศไทยราว 20,000 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 5% หรือเป็นอันดับที่ 6 ของตลาด ผ่านการจำหน่ายรถยนต์ที่นำเข้า และผลิตในไทย รวมถึงปรับกลยุทธ์การตลาดให้รุ่น MG3 Hybrid มียอดขายที่มากขึ้น

ส่องพอร์ต MG ที่ขายสันดาป และไฟฟ้าพอ ๆ กัน

ทั้งนี้ในปี 2024 MG จำหน่ายรถยนต์ได้ราว 17,000 คัน จบเป็นอันดับที่ 7 ของตลาด หรือมีส่วนแบ่ง 3% จากยอดขายทั้งตลาด 5.72 แสนคัน โดยยอดขายของ MG จะแบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 50% และที่เหลือเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ส่วนในปี 2025 สัดส่วนจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 60% และที่เหลือเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ส่วนการส่งออกจากโรงงาน MG ในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มาก และเน้นส่งออกไปที่ประเทศเวียดนาม กับอินโดนีเซีย รวมถึงมองประเทศมาเลเซียเป็นอนาคตหลังจากนี้

หากแบ่งเป็นจำนวนรุ่น MG4 เป็นรุ่นที่ขายได้ดีที่สุดของบริษัท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมด ผ่านจำนวน 6,200 คัน อันดับที่ 2 เป็น MG5 ที่ 3,100 คัน โดยรุ่นอันดับ 1 มีให้เลือกทั้งรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และรถยนต์ไฮบริด ส่วน MG5 เป็นรถยนต์เครื่องสันดาปภายในเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ MG4 ยังเป็นรถยนต์รุ่นที่ผลิตในประเทศไทยเต็มรูปแบบ หลังจากบริษัทประกาศลงทุนรวมกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และผลิตรถยนต์ในประเทศไทย

“ตอนนี้ตลาดไทยรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนยอดขายทั้งตลาดที่ 11-12% ในปี 2024 แต่ปี 2025 รถยนต์ไฟฟ้าจะยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่ รวมถึงจะคงสัดส่วนที่มากกว่า 10% ของยอดขายทั้งตลาดเช่นเดิม ส่วนเรื่องการแข่งขันเรื่องราคาคงไม่ดุเดือดขนาดนั้น ส่วนเรื่อง REEV ที่อาจเป็นทิศทางใหม่ของตลาดนั้นต้องลองจับตาดูกันอีกที เพราะในไทยปัจจัยบางอย่างยังไม่เอื้อ เช่น กฎหมายรถยนต์ไฟฟ้าที่สนับสนุนการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่ REEV นั้นใช้น้ำมันควบคู่ด้วย ก็ต้องดูว่าหน่วยงานกำกับจะมองเรื่องนี้อย่างไร”

สุดท้าย พงษ์ศักดิ์ ย้ำว่า MG ต้องการขึ้นเป็นแบรนด์รถยนต์ 5 อันดับแรกของตลาดภายในทศวรรษที่ 2 ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา